Café Amazon for Chance โอกาสและความเท่าเทียมการทำงานของผู้พิการ
คนพิการซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ถูกมองข้ามเรื่องโอกาสและความเท่าเทียมกันเมื่อเปรียบเทียบกับคนปรกติทั่วไป ประเด็นความถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและการขาดโอกาสในเรื่องการศึกษา เรื่องการทำงาน จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอยู่ในสังคมตลอดเวลา ดังนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ปตท. เล็งเห็นความสำคัญของคนพิการเหล่านี้โดยเฉพาะผู้พิการทางด้านการได้ยินซึ่งเป็นคนพิการกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้หยิบยื่นโอกาสในการจ้างงานให้กับผู้พิการผ่านโครงการ “Café Amazon for Chance” ซึ่งเป็นโครงการสร้างงานอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้พิการไทย
Café Amazon for Chance เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจ Café Amazon ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (จำกัด) กับ บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งดำเนินงานด้านวิสาหกิจเพื่อสังคมของกลุ่ม ปตท.
โครงการ Café Amazon for Chance ได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 (เป็นเวลา 4 ปี) โดยเริ่มจากการคัดเลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งกลุ่มแรกเป็นกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและในเมืองไทยมีผู้พิการกลุ่มนี้กว่า 3 แสนคน ตอนริเริ่มโครงการ ทาง บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้ทำการสัมภาษณ์และคัดเลือกผู้พิการจากโรงเรียนสอนคนพิการ เช่น วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี เพื่อเฟ้นหาผู้พิการที่มีศักยภาพและใจรักในการทำธุรกิจกาแฟ
Café Amazon for Chance ถือกำเนิดสาขาแรกตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีวิทยาลัยราชสุดาที่มีความสามารถด้านการพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โดยบริษัทฯ ได้ทำการคัดเลือกพนักงานทั้งที่เป็นคนปรกติทั่วไปและคนพิการมาทำงานร่วมกัน ในช่วงแรกของการทำงานของผู้พิการนั้น ผู้พิการทางการได้ยินจะประสบปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับลูกค้าและคนในทีมงาน เช่น ไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกับทีมงานและไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ ดังนั้นบริษัทจึงตัดสินใจว่าจ้างล่ามภาษามือมาช่วยในการสื่อสารเพื่อให้การทำงานช่วงแรกๆ ประสานงานกันได้อย่างคล่องตัวและลดปัญหาเรื่องการสื่อสารลงไป
ธุรกิจกาแฟสำหรับคนพิการ ยังมีประเด็นรายละเอียดที่บริษัทต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น คำศัพท์ที่ใช้ในธุรกิจกาแฟสำหรับคนพิการ การใช้ภาษามือสำหรับคนพิการ ซึ่งคำศัพท์บางคำจำเป็นต้องมีการออกแบบท่าทางของภาษามือกันใหม่ เช่น เครื่องบดกาแฟ หรือเมนูเครื่องดื่มต่างๆ เช่น Cappuccino ซึ่งไม่เคยมีการบัญญัติภาษามือมาก่อน หรือ ตำแหน่งการตั้งเคาน์เตอร์กาแฟซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของผู้พิการ ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางบริษัทคำนึงถึง ยิ่งไปกว่านั้นช่วงเวลาที่ให้ผู้พิการรับ order จากลูกค้า อาจต้องเลือกช่วงเวลาที่ลูกค้าไม่เยอะมาก (off peak) เนื่องจากพนักงานผู้พิการจำเป็นต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับลูกค้านานกว่าพนักงานปรกติ โดยจะสลับให้พนักงานที่เป็นผู้พิการไปชงกาแฟแทน เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในช่วงเวลาเร่งรีบแล้วจะได้สามารถให้บริการได้ทันเวลา
ร้าน Café Amazon for Chance ยังได้มีการฝึกอบรมให้พนักงานปรกติให้เรียนรู้ทักษะภาษามือเพื่อใช้ในสื่อสารกับพนักงานผู้พิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทฯได้สร้างระบบการสั่งซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าและผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้พิการ โดยได้จัดทำป้ายภาษามือตั้งไว้หน้าร้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการสั่งกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษามือโดยดูรูปตามป้ายประกอบ มีการใช้จอคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนซึ่งจะมีสองด้าน ด้านหนึ่งหันไปทางลูกค้าที่ใช้บริการและอีกด้านหนึ่งหันมาทางผู้ให้บริการ และการใช้บัตรเครื่องดื่ม (Frequency Card) ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษสำหรับเลือกเมนูเครื่องดื่มที่มีการสั่งบ่อยๆ เป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้าและผู้พิการเอง
ปัจจุบัน ร้าน Café Amazon for Chance มีคนพิการหลากหลายประเภทและครอบครัวและผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 28 คน ใน 10 สาขา ได้แก่
- สาขา 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขา 2 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขา 3 หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา
- สาขา 4 สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต (Skylane)
- สาขา 5 โรงพยาบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
- สาขา 6 ปตท. สำนักงานใหญ่
- สาขา 7 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
- สาขา 8 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สัตหีบ
- สาขา 9 สำนักงาน ก.ล.ต. ถนนวิภาวดีรังสิต
- สาขา 10 The Offices @ Central World
ในอนาคต ผมคาดหวังว่ามีร้าน Café Amazon for Chance ขยายไปอีกหลายสาขาครอบคลุมไปทั่วประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หน้ายินดีที่ ปัจจุบันหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 11 (LFC 11) คุณภูรี สิทธิเนตย์ ก็ยังเป็นหัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกิดสาขาใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายความหวังของผู้พิการในการได้รับโอกาสในการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนตามโครงการ Café Amazon for Chance แจ่มชัดขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการดีๆที่ช่วยผลักดันในการสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับผู้พิการและสร้างความเสมอภาคของผู้พิการ ผมจึงอยากบอกต่อโครงการดีๆอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้โครงการดำเนินการอย่างยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลต่อไป
เขียนโดย: โชค เรืองตระกูล
10/03/2564
ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ