skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เทคนิคปั้น SE สู่ความสำเร็จ ประสาน“สิ่งที่มี”กับ“สิ่งที่เจอ” สร้าง“สิ่งที่ทำ”เพื่อสังคม

เทคนิคปั้น SE สู่ความสำเร็จ ประสาน“สิ่งที่มี”กับ“สิ่งที่เจอ” สร้าง“สิ่งที่ทำ”เพื่อสังคม

เทคนิคปั้น SE สู่ความสำเร็จ ประสาน“สิ่งที่มี”กับ“สิ่งที่เจอ” สร้าง“สิ่งที่ทำ”เพื่อสังคม

 

โครงการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจังหวัดชัยภูมิ เมื่อ 18 ก.พ.-20 ก.พ. 2564 ที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ เป็นวิทยากรในด้าน “SE วิสาหกิจเพื่อสังคม”

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงภาพรวมในโลกเศรษฐกิจว่า มี 2 ขั้วใหญ่ คือ เน้นธุรกิจที่แสวงหากำไรสูงสุด กับธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม ไม่เน้นกำไร เช่น มูลนิธิ ดังนั้น บทบาทของการประกอบการ 2 กลุ่มนี้จึงแตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกิดธุรกิจแบบกลางระหว่างสองขั้วดังกล่าวขึ้น คือ กิจการที่หารายได้บ้างจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อจุนเจือให้องค์กรอยู่ได้ ขณะเดียวกันธุรกิจยังมีความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากบทเรียนได้สะท้อนถึง ถ้าธุรกิจหวังแต่กำไรมักไม่ยั่งยืน

 

จุดเกิด SE เพื่อสังคม

   ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) นั้น เป็นการผสมผสานระหว่างธุรกิจที่ทำกำไรกับองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยแตกต่างจากมูลนิธิ ตรงจุดตั้งขึ้นเพื่อหารายได้จากการขายสินค้าและบริการเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อรับบริจาคในการจัดกิจกรรมเป็นหลัก

 

ดังนั้น SE จึงเป็นธุรกิจและมีสินค้าเป็นของตัวเอง แสวงหากำไร แต่นำกำไรส่วนน้อยให้องค์กรไม่เกิน 30% แล้วนำส่วนใหญ่ประมาณ 70% ไปทำประโยชน์เพื่อสังคมเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายกำหนดไว้

 

“ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบุคคลที่มาจากภาคสังคม ถ้าจะทำธุรกิจแล้ว ธุรกิจแบบ SE จึงเหมาะสมและสอดคล้องกัน ส่วนบุคคลที่มาจากภาคธุรกิจมีบางส่วนดำเนินธุรกิจแบบ SE เพราะเบื่อหน่ายการแข่งขัน แสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง จึงหันมาทำธุรกิจที่เกิดประโยชน์กับสังคมด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มอาชีพ หรือสหกรณ์ ก็สามารถยกระดับกิจการมาเป็นธุรกิจแบบ SE เพราะไม่จำเป็นตั้งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลรูปบริษัทเสมอไป แต่อยู่ในรูปแบบสวัสดิการสังคมก็ได้

 

ประโยชน์ธุรกิจ SE

ในด้านสิทธิประโยชน์ของ SE นั้น มีอยู่ 3 ส่วนหลักคือ 1. หากไม่จ่ายเงินปันผลจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกทั้งผู้ลงทุนในหุ้น SE และผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ SE สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนและเงินบริจาคได้ 1 เท่า ดังนั้น รูปแบบนี้จึงมีบริษัทใหญ่ๆในเครือตั้ง SE ขึ้นมา

 

กรณี SE จ่ายเงินปันผลไม่เกิน 30% จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ลงทุนในหุ้น SE และผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ SE สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนและเงินบริจาคได้ 1 เท่า และ 3. ถ้า SE จ่ายเงินปันผลเกิน 30% แล้ว นิติบุคคลผู้ลงทุนและผู้บริจาคไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใดๆทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ SE ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) สามารถออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลต่อ ก.ล.ต. เพราะเป็นกิจการที่เอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้น จึงทำให้เกิดความคล่องตัวในทำธุรกิจ SE

 

สำหรับการจดทะเบียน SE นั้น โดยสิ่งสำคัญมีขั้นตอนในรูปแบบทั่วไปง่ายๆ มักจดทะเบียนในรูปนิติบุคคลเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นจำกัด และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขหรือพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และมีการดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

เทคนิค SE: ประสานสิ่งที่มีกับสิ่งที่เจอ

การผลักดันให้ธุรกิจ SE ประสบความสำเร็จ ควรบริหารและจัดการยึดหลัก 3 M ประกอบด้วย Man Machine และ Money (คน เครืองจักร และเงินทุน) ซึ่งเป็นหลักการทำธุรกิจทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตัวแปรหลักในความสำเร็จของ SE คือ “สิ่งที่มีในชุมชน” เช่น สิ่งที่เป็นทรัพย์สิน ภูมิปัญญา นำมาเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า เป็นต้น

 

“แต่ในกรณีของ SE ไม่ได้เน้นสิ่งที่มีอย่างเดียว แต่ควรคิดถึงสิ่งที่เจอในชีวิตที่ต้องการแก้ไขพัฒนาด้วย เช่น อากาศ น้ำ สิ่งแวดล้อม ความยากจน ป่าไม้ ดังนั้น SE จึงมีภาระกิจ (Mission) ของเราและขององค์กรว่า คืออะไร”

 

ดังนั้น สิ่งที่เจอจึงเป็นโจทก์ของธุรกิจ SE เช่น ในจังหวัดชัยภูมิ อยากแก้ไขเรื่องน้ำ ด้านเศรษฐกิจปากท้อง อีกทั้งสิ่งที่มีต้องสามารถตอบโจทก์ในสิ่งที่เจอด้วย กล่าวคือ นำสิ่งที่เจอมาบรรจบกับสิ่งที่มี เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ทำ (Model) ได้ หรือสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งอาจไม่ได้มาจากปัจเจกคนเดียว แต่เป็นการผสมผสานระหว่างคนที่มีกับคนที่เจอมาร่วมมือทำงานกัน ทั้งที่ในกระบวนธุรกิจโดยทั่วไป มักเน้นแต่สิ่งที่มีเป็นสำคัญเพื่อลงมือทำงาน

หากนำสิ่งที่มีมาบรรจบกับสิ่งที่เจอ ไม่ว่าเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม จึงก่อเกิดธุรกิจ SE ขึ้นมา มีกรณีศึกษา SE ต้องการแก้ปัญหาปากท้องและความยากจน ในสหรัฐมีธุรกิจหนึ่งทำบราวนี่เพื่อจ้างคน โดยหลักสำคัญของธุรกิจนี้คือ ต้องการให้คนมีงานทำ นำคนยากไร้ หรือคนตกงานมาฝึกทักษะการทำบราวนี่ขาย แล้วไปประทับใจต่อบริษัทใหญ่จึงมาร่วมสนับสนุนส่งขายทั่วสหรัฐทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จทันที

 

“ตัวอย่างธุรกิจบราวนี่ สะท้อนถึงนำสิ่งที่ท่านมีและสิ่งที่เพื่อนบ้านมีแล้วนำมาบรรจบกันเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่เจอ จึงเกิดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพราะภาระกิจของ SE สิ่งสำคัญต้องการแก้ปัญหาสังคม โดยนำสิ่งที่เจอมาผสมผสานกับสิ่งที่มี แล้วเกิดเป็นธุรกิจมีภาระกิจเพื่อสังคม”

 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใหญ่ทำรถพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากประสบปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม อีกทั้งในไทยยังมีบริษัทผลิตพรมที่ต้องการเกื้อกูลโลก ลดภาวะเรือนกระจก จึงคิดค้นให้พรมที่ผลิตขึ้นสามารถเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจ SE ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

การบริหารจัดการ SE

การบริหารจัดการ 3 M นั้น สิ่งแรกควรบริหารให้คน (Man) ทำงานมีเป้าหมายร่วมกันในธุรกิจ เพราะคนในองค์กรมีทักษะแตกต่างกันจึงบริหารจัดการแบ่งหน้าที่ให้ทำในสิ่งถนัด แต่มีเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจด้วย เช่น การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

 

ส่วนเครื่องจักร (Machine) หรือคอมพิวเตอร์ เมื่อผลิตสินค้าโอทอปเรียกได้ว่า เป็นสินค้าดีทุกอย่างแล้ว แต่การตลาดไม่มีคนรู้จัก จึงขายไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือการออกไปหาลูกค้าเพื่อให้รู้จักสินค้า โดยปัจจุบันอาศัยรูปแบบออนไลน์เป็นสื่อแนะนำสินค้าให้กว้างขวางขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีคนเชี่ยวชาญในการทำสื่อออนไลน์เผยแพร่ธุรกิจ ซึ่งเป็นวิธีการพาโปรดักส์ออกไปหาผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคได้โดยตรง

 

รวมทั้งเรื่องของเงินทุน (Money) โดยปกติแล้วการผลิตสินค้าต้องมีต้นทุน และราคาขายต้องให้มีกำไรด้วย โดยเฉพาะ SE ต้องขายสินค้าให้มีกำไร เพื่อนำกำไรไปทำประโยชน์เพื่อสังคม หากขายแล้วขาดทุน สังคมก็ไม่ได้รับประโยชน์ อีกทั้งต้องลดการสูญเสียลง ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยการรวมตัวกันซื้อวัตถุดิบ จะทำให้มีราคาถูกลงได้

 

“การจัดการ มักเป็นเรื่องที่ธุรกิจตกม้าตายได้ง่ายๆ แต่มีหลักสำคัญอยู่ที่ตัวของผู้ประกอบการต้องมีทักษะในการจัดการให้ได้ ก็สามารถนำพาธุรกิจให้เกิดได้”

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top