เกษตรกรแปลงใหญ่ ส่อเกษตรพันธสัญญาสวมรอย
โครงการเกษตรแปลงใหญ่เป็นยุทธศาสตร์บริหารจัดการการผลิตภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งวางไว้ 5 ปีในช่วงปี 2560-2564 กำหนดเป้าหมายได้เกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศถึง 30 ล้านไร่ โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตเพื่อลดต้นทุน ยกระดับผลผลิตสู่มาตรฐาน GAP เชื่อมโยงมความต้องการตลาด
ในช่วงยุทธศาสตร์เกษตรแปลงใหญ่นำร่องนั้น ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ในปี 2560 มีจำนวนแปลงใหญ่ 1.7 พันแปลง เกษตรกรเข้าร่วม 1.2 แสนราย รวมพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ ในปี 2561 แปลงใหญ่ 1.6 พันแปลง เกษตรกรเข้าร่วม 9.1 หมื่นราย และมีพื้นที่ 1.2 ล้านไร่
ถัดมาในปี 2562 จำนวนแปลงใหญ่ลดลงเหลือแค่ 1.5 พันแปลง เกษตรกร 7.8 หมื่นราย และพื้นที่รวม 1.05 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังลดลงอีกในปี 2563 เหลือแปลงใหญ่ 1.3 พันแปลง เกษตรกรเข้าร่วม 6.4 หมื่นราย และพื้นที่ 7.5 แสนไร่
กระทั่งถึงปี 2564 กระทรวงเกษตรฯตั้งเป้าการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ไว้ที่ 5,250 แปลง เกษตรกรจำนวน 2.6 แสนราย และพื้นที่ 5 ล้านไร่ โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณจากวงเงินกู้โควิด-19 จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ส่อแนวโน้มว่า ไม่อาจส่งเสริมได้ตามเป้าหมายกำหนดไว้เสียแล้ว
เกษตรกรเว้นระยะห่าง
ในปี 2564 เมื่อรัฐมีงบประมาณสนับสนุน 1.3 หมื่นล้าน เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 5,250 แปลง แต่เอาเข้าจริงทำได้เพียง 1.2 พันแปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 5.4 หมื่นราย และมีพื้นที่ 5.9 แสนไร่ มี 11 ประเภทสินค้าเข้าร่วม เช่น ประมง ข้าว ผัก/สมุนไพร หม่อนไหม ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้น นาเกลือ ปศุสัตว์ พืชไร่ แมลงเศรษฐกิจ และไม้ผล
ดังนั้น เกษตรแปลงใหญ่ในปี 2564 จึงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมด อีกทั้งถ้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ยังต่ำกว่าเป้าหมายการส่งเสริมโดยรวม เพราะปริมาณพื้นที่เข้าร่วมโครงการนี้เพียง 6.5 ล้านไร่จาก 30 ล้านไร่ที่ตั้งเป้าหมายไว้
หากพิจารณาเฉพาะปี 2564 แล้ว ส่วนใหญ่เกษตรกรภาคอีสานเข้าร่วมโครงการมากกว่าภาคอื่น คือ ขอนแก่น 66 แปลง นครราชสีมา 62 แปลง ชัยภูมิ 88 แปลง ศรีสะเกษ 22 แปลง บุรีรัมย์ 13 แปลง อุบลราชธานี 64 แปลง สุรินทร์ 11 แปลง มหาสารคาม 32 แปลง ร้อยเอ็ด 26 แปลง อำนาจเจริญ 82 แปลง รวมพื้นที่กว่า 1.8 แสนไร่ โดยเป็นการปลูกข้าวมากที่สุด
เป็นที่ชัดเจนว่า แนวโน้มเกษตรแปลงใหญ่ยากจะเดินไปตามเป้าหมายเงินกู้สนับสนุนได้สำเร็จ กระทั่งปัจจุบันโครงการนี้เป็นไปอย่างล่าช้า และล่าสุดยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินสักแดงเดียวมาสนับสนุนด้วย
แต่สิ่งสำคัญคือ เกษตรแปลงใหญ่ยังเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายจากเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ความสับสนในการดำเนินการของหน่วยราชการ จนอาจมีผลทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายในที่สุด
เปลี่ยนเงื่อนไขเปลี่ยนใจเกษตรกร
เดิมทีนั้น การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร-กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ก็เข้าร่วมโครงการและเสนองบประมาณขอความช่วยเหลือจากรัฐได้แล้ว
แต่เอาเข้าจริงเมื่อเงื่อนไขถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยรัฐกำหนดให้เกษตรกรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูป “บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด” เนื่องจากต้องทำนิติกรรมสัญญากับบริษัทเอกชนเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์การเกษตร และต้องทำให้เสร็จภายใน 31 มีนาคม 2564 จึงจะเสนอของบประมาณมาช่วยเหลือได้
ดังนั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อบริษัทเอกชนทางการเกษตร ที่ประสงค์จะเป็นคู่สัญญากับแปลงใหญ่ไม่สามารถขายวัสดุ-อุปกรณ์ทางการเกษตรได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ กระทั่งในหลายพื้นที่ของประเทศมีการส่งคนของบริษัทเข้าไปหาเกษตรกรในลักษณะแนะนำให้เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนถึงการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนด้วย
ข้อมูลจาก”ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจกลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนกับการเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ระบุว่า ในภาคใต้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 451 กลุ่ม แต่เอาเข้าจริงจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้แค่ 95 แปลงเท่านั้น โดยจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดต้น ๆ ที่จดทะเบียนนิติบุคคลมากที่สุด
ในภาคอีสาน นายมนัสชัย คำทองทิพย์ ประธานกลุ่มสมุนไพรแปลงใหญ่ บ้านหมี่ ม.8 ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เงื่อนไขที่ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น ทางกลุ่มกังวลเรื่องรายจ่ายในการบริหารจัดการต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุล “เหมือนกองทุนเงินล้านไม่ทำไม่ได้” ทางกลุ่มจึงหารือกันว่ายังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องจดทะเบียน เพราะเงินที่อุดหนุนมา 3 ล้านนั้นก็ต้องมีภาระในการใช้คืน ประเมินศักยภาพของกลุ่มแล้วเห็นว่า จะเป็นภาระหนักให้สมาชิก
ส่วนจังหวัดจันทบุรี มีกลุ่มแปลงใหญ่ที่ได้ยื่นขอไว้เมื่อปี 2563 กว่า 60 กลุ่ม ขณะนี้มีกลุ่มที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 31 กลุ่ม ที่จังหวัดตราดมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ประมาณ 20-30 แปลง ไปยื่นของบประมาณไว้ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 8 แปลง แปลงละ 150,000-500,000 บาท รวมวงเงิน 1.7 ล้านบาท แต่ไม่เข้าใจโครงการที่จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงถอนตัวออกทั้งหมด
แต่แตกต่างจากจังหวัดพิษณุโลกเกษตรกรโครงการเกษตรแปลงใหญ่ได้ไปจดทะเบียนนิติบุคคลเกือบครบ 100%
เกษตรพันธสัญญาส่อสวมรอย
อาการหวาดหวั่นของเกษตรกรส่วนสำคัญมาจากความกังวลกับภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นราคาผลผลิตที่เปราะบางในอนาคต โดยความชัดเจนส่วนหนึ่งรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ไม่แตกต่างจากการนำ “ที่ดินและแรงงาน” ของเกษตรกรไปร่วมทำนิติกรรมการผลิตกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของเอกชนในช่องทางการตลาด และนั่นเท่ากับแปรเปลี่ยนเกษตรกรแรงงานอิสระเป็นแรงงานรับจ้างกันตามพันธสัญญากับบริษัทใหญ่
อีกอย่าง การรวมกลุ่มกันนั้น แม้รัฐจะได้สนับสนุนเงินงบประมาณก็ตาม แต่การรวมตัวส่วนใหญ่ของเกษตรกรมักเป็นแบบหลวมๆ เมื่อยกระดับเป็นห้างหุ้นส่วนเพื่อทำนิติกรรมสัญญากันแล้ว ดูเหมือนอนาคตจะยุ่งยาก เกษตรกรจึงส่ออาการถอยห่าง
กล่าวได้ว่า เส้นทางเกษตรแปลงใหญ่มีทางเดินไม่แตกต่างจากเกษตรพันธสัญญากับรัฐ เพราะเกษตรแปลงใหญ่เป็นการส่งเสริม ลงทุนงบประมาณช่วยเหลือ แต่ด้านการตลาดนั้นกลับให้เอกชนมารับซื้อในราคาล่วงหน้าตามเกณฑ์มาตรฐานของบริษัท
ส่วนพันธสัญญาโดยเอกชนอาจเห็นช่องว่างเข้ามาสวมรอยแทนการสนับสนุนของรัฐ โดยการเสนอผลประโยชน์การผลิตและแหล่งเงินทุน มีการช่วยเหลือด้านการผลิต โดยเฉพาะการลดทอนความเปราะบาง ผันผวนของราคาสินค้า สิ่งสำคัญคือ เกษตกรไม่เสี่ยงกับการเป็นหนี้ในการผลิตพืชพาณิชย์ตามความต้องการของตลาดและบริษัทเอกชน
แต่สิ่งที่อาจขาดหายไปจากเกษตรแปลงใหญ่หรือรูปแบบพันธสัญญาโดยรัฐนั้น คือ ในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากแนวโน้มเกษตรแปลงใหญ่โดยรัฐส่งเสริมจะทำหใหสิ่งแวดล้อมที่เสียกลับคืนมา ด้วยการลดสารเคมีเร่งดิน แล้วมาใช้เกษตรที่ดีปลอดภัย หรือใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกในการบำรุงดิน
ในด้านสังคม เกษตรแปลงใหญ่ สมาชิกมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน และสัมพันธ์กับรัฐด้วย เกิดสามัคคีทำให้ชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาเกิดความยั่งยืน รวมทั้งในด้านสุขภาพแล้ว เมื่อการผลิตและการบริโภคปลอดภัยแล้ว ย่อมส่งผลต่อร่างการแข็งแรงด้วย
นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ เมื่อเกษตรกรรวมตัวการผลิตเกิดการเข้ามาซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น การสุ่มเสี่ยงกับราคารลดน้อยลงตามมา
ดังนั้น สิ่งดีๆที่แฝงมากับโครงการเกษตรแปลงใหญ่อาจต้องสูญหาย หรือลดน้อยลงไป เมื่องบประมาณ 1.3 หมื่นล้านที่รัฐสนับสนุนในปี 2564 หากกระทรวงเกษตรฯไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายประมาณ 5,000 แปลงรวมพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่แล้ว คงต้องส่งกลับคืนรัฐไป
เมื่อเกษตรแปลงใหญ่ไม่มีงบประมาณมาอุดหนุน หรืออาจมีน้อยลง ดังนั้นการลอยล่องไร้เป้าหมายของเกษตรส่อเดินย้ำทางสายเก่าไปเผชิญหน้ากับราคาผลผลิตพืชพาณิชย์ที่เปราะบาง สุ่มเสี่ยงกับการเป็นหนี้ แน่ละหากต้องการลดหนี้ลงการบ่ายหน้าไปหาการเกษตรแบบพันธสัญญากับบริษัทย่อมเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ