skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ชีวิต-ความคิด-วิสัยทัศน์ “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ผู้สร้าง “ศุภาลัย” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาฯ บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2561

ชีวิต-ความคิด-วิสัยทัศน์ “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ผู้สร้าง “ศุภาลัย” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาฯ บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2561

          สืบเนื่องจากทุกๆ ปีมูลนิธิสัมมาชีพได้จัดงานมอบรางวัล “บุคคลต้นแบบสัมมาชีพแห่งปี” สำหรับปีนี้คณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ โดยมี นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานมีมติเอกฉันท์เลือก “ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ  กองบรรณาธิการเว็บไซต์สัมมาชีพ เห็นว่าเรื่องราวชีวิต วิธีคิดและวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจและทำงานเพื่อสังคมน่ายึดถือเป็นแบบอย่างจึงนำเสนอให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษาต่อไป

“ครอบครัวผมเคยจนมาก่อน……ต้องใส่กางเกงที่ปะเป็นรูปใบโพธิ์ที่ก้นไปโรงเรียน ใส่รองเท้านักเรียนจนพื้นทะลุ ทำให้ถุงเท้าขาด แม่เอากระดาษแข็งตัดเป็นรูปรองเท้าใส่ไว้ข้างใน แต่ใช้ได้เดี๋ยวเดียวก็ทะลุอีก ผมเคยถูกครูห้ามไม่ให้เข้าห้องสอบ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ตอนนั้นเรียนอยู่โรงเรียนราษฎร์..คุณแม่ต้องไปยืมเงินข้างบ้านมาซื้อกับข้าว ไปเด็ดผักบุ้งริมคลองกรุงเกษมมาทำกับข้าว”

ประโยคแรกที่ “ประทีป ตั้งมติธรรม” ประธานกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อันดับต้นๆของไทย ตอบคำถามทีมงาน “มูลนิธิสัมมาชีพ” ที่ตั้งคำถามถึงชีวิตส่วนตัวในวัยเด็ก

ชีวิตในวัยเรียน… วัยที่ไร้เสาหลัก

ถึงแม้ครอบครัวของประทีปจะมีกิจการค้าไม้และวัสดุก่อสร้างใหญ่โตหลายคูหา ซึ่งดูจากภายนอกคนทั่วไปยากนักที่จะทราบว่า ความเป็นอยู่ของคนในบ้านกำลังลำบาก เนื่องจากกิจการที่บ้านมีการขาย “เชื่อ” ให้ผู้รับเหมา และถูกผู้รับเหมาบางคนเบี้ยวหนี้ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินทุนร่อยหรอ จนต้องไปแลกเช็คกู้หนี้ ยืมเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยดอกเบี้ยแสนโหด เมื่อสภาพคล่องลด สินค้าในร้านเหลือน้อย ก็ยิ่งทำให้ขายของได้ยากขึ้น บางวันขายไม่ได้เลย ขณะที่รายได้จากการขายของลดลง แต่รายจ่ายยังคงมีทุกวัน

มิหนำซ้ำยังไม่ทันที่จะกอบกู้ฐานะมาได้คุณพ่อของประทีปก็มาด่วนจากไปเสียก่อนจากอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต ในขณะที่ประทีปวัยเพียง 13 ปีเท่านั้น  จากสภาพที่ง่อนแง่นอยู่แล้ว ก็ยิ่งหนักหนาสาหัสมากกว่าเก่าหลายเท่า เมื่อต้องขาดเสาหลักของครอบครัว

ภาระอันหนักอึ้งนี้ต้องตกมาอยู่ที่พี่ชายคนโต “ชวน” และพี่สาวคนที่ 2 “ดารณี” ที่ต้อง ตัดสินใจเดินหันหลังออกจากโรงเรียนเพื่อลดรายจ่ายและทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัวและ เพื่อให้น้องชายได้เรียนต่อ

ด้วยความเสียสละของพี่ชายและพี่สาวทำให้ ประทีป และ น้องชายคนเล็ก “ประศาสน์” โชคดีได้เรียนต่อ โดยเลือกสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนรัฐบาลคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และใช้เวลานอกรั้วโรงเรียนทั้งเวลาหลังเลิกเรียนและในวันเสาร์อาทิตย์ไปช่วยที่บ้านทำงาน ทั้งขายของและเป็นกรรมกรแบกไม้ ขนหิน ขนทราย ฯลฯ

ในระยะนั้น “ชวน” ผู้เป็นพี่ใหญ่และต้องรับบทบาทผู้นำครอบครัวแทนพ่อ ก็ได้ออกตระเวนเคลียร์กับเจ้าหนี้พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะชดใช้เงินคืนทุกบาททุกสตางค์ และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคนที่ช่วยกันทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ฐานะครอบครัวก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

ในช่วงที่ “ประทีป” เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ชอบไปอ่านหนังสือออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้าง ที่ห้องสมุด  บริติชเคาน์ซิล ใกล้โรงเรียนบ่อยๆ ประกอบกับเป็นคนชอบทั้งวิทย์ศิลป์ด้วย จึงเลือกสอบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ในสาขาสถาปัตยกรรมเพียงสาขาเดียว ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปี 2515 ด้วยปริญญาตรีเกียรตินิยม

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 2516 จึงเริ่มต้นทำงานเป็นสถาปนิก ที่ บริษัท อีอีซี จำกัด จากนั้นย้ายไปทำงานที่ บริษัท โอบายาชิ กูมิ จำกัด ต่อมาลาออกจากงานเมื่อตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Illinois @ Urbana Champaign สหรัฐอเมริกา

“ผมเลือก university of illinois ซึ่งปริญญาโท ปกติเรียนสองปี แต่เขาให้คนที่จบ สถาปัตย์จุฬา ที่เรียน 5 ปี เขานับปีที่ 5 ให้เป็นปีที่ 1 ของปริญญาโท ผมจึงเลือกที่นี่เพื่อที่จะจบให้เร็วที่สุด เพราะว่ามีเงินจำกัด แต่ต้องลุยไปก่อนแล้วไปหางานทำเอาและเลือกเรียน Housing เนื่องจากก่อนไปเรียน บริษัทที่ทำงานส่งแบบที่เขาออกแบบบ้านจัดสรรเข้าประกวด ปรากฏว่าได้ที่หนึ่งจึงเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับพบว่าเมืองไทยยังมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยอีกมาก ส่วนเหตุผลที่เลือกไปเรียนต่อที่อเมริกาเพราะเป็นประเทศที่มีสถาปัตยกรรมยุคใหม่มากที่สุด เพราะเป็นเจ้าเศรษฐกิจของโลก เจริญที่สุด ก้าวหน้าที่สุด รวมทั้งจะได้ศึกษาพัฒนาเรื่องภาษาด้วย”

ด้วยเงินติดกระเป๋าแค่ 40,000 บาท ที่หาได้เอง พี่ชายซื้อตั๋วเครื่องบินให้ ส่วนแม่และพี่สาวสมทบให้อีกคนละ 10,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท ถือเป็นครึ่งเดียวของเงินที่ต้องใช้ในการเรียน 1 ปีทั้งด้วยความจำเป็นเรื่องรายได้และส่วนตัวเองก็ชอบทำงานอยู่แล้ว ไปได้      ไม่นานประทีปก็เริ่มเสนอตัวทำงานในมหาวิทยาลัยด้วยการเขียนทัศนียภาพต่างๆ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยได้ให้ทุนเล่าเรียนจนจบการศึกษาปริญญาโท ประทีปเรียน 1 ปี จบหลักสูตร M.Arch (Honor)(Housing)

หลังจากเรียนจบก็ยังไม่กลับประเทศไทยทันทียังอยากจะหางานทำเพื่อหาประสบการณ์ ใช้เวลาเดินหางานอยู่ 7 วัน ก็ได้ทำงานที่บริษัท Edwards & Dankert, Architects & Planners รับงานออกแบบที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน อาคารสถานศึกษา

กลับจากอเมริกาตั้งบริษัทสถาปนิก

ประทีปทำงาน ในอเมริกา 1 ปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์พอสมควรจึงกลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2519 ได้เปิดบริษัท อาคิเทคเจอรัล ดีไซน์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (A.D.D) ช่วงแรกๆ ที่เปิดบริษัท งานก็ยังมีไม่มาก พอดีกับพี่ชวนเริ่มทำบ้านจัดสรร ก็ไปช่วยงานบ้านจัดสรรครึ่งวันและรับเงินเดือนแบบพาร์ทไทม์ ได้เงินเดือน 4,000 บาท

“ผมคิดดูแล้วว่าจับปลาสองมืออาจทำไม่ได้ดีทั้งคู่ จึงบอกพี่ว่าแทนที่จะช่วยทำงานครึ่งวันเรามาหุ้นกันเลยดีกว่า เลยเอาเงินก้อนที่สะสมมาร่วมหุ้นกับพี่ชวน ผมก็ยุบบริษัทออกแบบไปเลยแล้วก็มาร่วม ก็คือคล้ายๆ ผมมีเงินอยู่แสนนึง มาเข้าหุ้นด้วย พี่ชายก็บอกแล้วจะตีทุนเท่าไร ผมก็บอกแล้วแต่พี่บอก เท่าไหร่ก็เท่านั้น พี่ชายก็บอก 2 ล้าน ผมก็มีหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์”

นี่คือ จุดเริ่มต้นของประทีปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อนจะขยายงานต่อเนื่องเรื่อยมา และจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มั่นคง สถาปัตย์ ซึ่งประทีปเริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่งรองผู้จัดการ ช่วงเริ่มต้นถือหุ้นเพียง 5% ซึ่งมีการเพิ่มทุนตลอด ประทีปจึงต้องตั้งวงแชร์มือละ 1 แสนบาท ระดมทุนได้ 1 ล้านบาท บวกกับเงิน กำไร โบนัสที่ได้ก็เอาไปเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนหุ้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนหลังสุดเป็น 12% เศษ ในบริษัทที่ตั้งใหม่ในชื่อ มั่นคง เคหะการ และได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

แต่ถ้าย้อนในช่วงที่เริ่มต้นกับพี่ชายครั้งแรกประทีป ได้รับตำแหน่งรองผู้จัดการนั้นได้ทำหน้าที่ดูแลทุกอย่าง ทำให้สั่งสมความรู้และประสบการณ์มากมาย ผลงานชิ้นสำคัญขณะที่ทำงานอยู่ที่ มั่นคงเคหะการ คือ โครงการปทุมวันเพลส คอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับรางวัลการตลาดดีเด่น

ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ถือว่าประสบความสำเร็จนั่นคือ การที่เป็นบริษัทแรกๆ ไปบุกเบิกพัฒนาที่ดินทำโครงการขนาดใหญ่ย่านปิ่นเกล้า-นครชัยศรี บนที่ดินเกือบ 600 ไร่ โดยพัฒนาเป็น 2 โครงการคือ ชวนชื่นพาร์ค วิลล์ และกรีน วิลล์

นี่คือ ผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะแยกตัวออกมาจากการทำธุรกิจร่วมกับพี่ชายเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ 

สร้างดาวคนละดวง

แม้ว่าธุรกิจจะไปได้สวยแต่สองพี่น้องจำเป็นต้องแยกทางกันเดิน เนื่องจากมุมมองในการทำธุรกิจไม่เหมือนกัน ขณะที่ผู้พี่เน้นช้าแต่ชัวร์ ผู้น้องกลับชื่นชอบนวัตกรรมที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่

ในปี 2532 ด้วยการเสนอแนะของพี่ชวน ประทีปตัดสินใจแยกตัวออกจากบริษัท มั่นคงเคหะการ โดยคงเหลือหุ้นส่วนน้อยไว้ที่มั่นคงเคหะการ และมาสร้างฝันของตัวเองในชื่อว่า “ศุภาลัย” และได้เติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นอาณาจักรห้าหมื่นล้าน

“ตอนนั้นทำงานด้วยกัน พี่ชวนเขาอายุมากกว่าผม 12 ปี  เขาก็คอนเซอร์เวทีฟ อนุรักษ์นิยม เขาบอกว่าเขาไม่อยากบุกมาก เพราะถ้าไปสะดุดอะไรแล้วเดี๋ยวล้ม เพราะอายุเขามากแล้ว  เขาต้องการไปช้าๆแต่มั่นคง พี่ก็บอกว่าประทีปไปตั้งบริษัทใหม่ แล้วก็มีถือหุ้นนิดนึง แล้วจะทำยังไงก็ได้ เรื่องของผม แต่ผมก็เป็นหลัก บริษัทเขา เขาก็เป็นหลัก ทำแบบวิธีของเขา”

นี่คือเหตุผลที่ประทีปแยกตัวออกมาสร้าง อาณาจักรของตัวเองที่ชื่อ “ศุภาลัย” “ศุภาลัย” แปลว่า “บ้านที่ดี”

“เราต้องทำให้สมชื่อ ทำคุณภาพของสินค้า บริการ เป็นบริษัทที่ดี การันตีด้วยรางวัลต่างๆ รางวัลออกแบบดีเด่น โครงการดีเด่น รางวัลบริษัทที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยม…มาตลอด10 ปี ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพการบริหารงาน ฯลฯ”

“นอกจากนี้ศุภาลัยยังได้รับรางวัลผู้เสียภาษีดีเด่นของประเทศ คือ รางวัลรัษฎากรพิพัฒน์เราจึงภูมิใจที่เป็นบริษัทที่เสียภาษีดีเด่นเพราะไม่โกงภาษี เสียภาษีอย่างถูกต้อง จึงมีความภูมิใจ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัมมาชีพนะ ทำสินค้าให้ดี บริการให้ดี ก็มีรางวัลต่างๆ ที่เป็นตัวพิสูจน์ เราได้รางวัลอีกเยอะแยะ จรรยาบรรณดีเด่น ชั้นล่างของอาคารศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ มี Hall of fame จัดแสดงประวัติและรางวัลต่างๆ”

ขณะที่ ความหมายของ “ศุภาลัย” กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งคือ

S = Superiority เน้นความเป็นเลิศในด้านคุณภาพสินค้า บริการและการจัดการ

P = Profitability กำไรของทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง อาทิ ลูกค้าได้กำไรเป็นเงิน หรือ กำไรชีวิต พนักงานมีรายได้ + สวัสดิการที่ดีมีความสุขกับงาน ซับพลายเออร์ ผู้รับเหมา-
คู่ค้าร่วมทำ ธุรกิจด้วยความพอใจและเป็นธรรม สังคมได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงการของบริษัท ส่วน ผู้ถือหุ้นได้รับปันผลและมูลค่าเพิ่มจากการถือหุ้น

L = Longevity   ประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความมั่นคง ยั่งยืนและเข้าร่วมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

“อิทธิบาท 4” หลักยึดในการบริหาร

แม้ว่าจะเป็นคนที่ชอบศึกษาหาความรู้จากการอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาตนเองอย่างมากมายแต่สำหรับปรัชญาในการบริหารนั้น ประทีปใช้หลักอิทธิบาท 4 เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตและในการทำงาน ประกอบด้วย

ฉันทะ    รักในสิ่งที่ทำ

            วิริยะ     พากเพียรใส่ใจ

            จิตตะ    ฝักใฝ่ไตร่ตรอง

            วิมังสา   คิดหาเหตุผล

“การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้น จะทำเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของ “อิทธิบาท 4” นั้นไม่พอ คนที่ทำเพียงบางส่วนของ “อิทธิบาท 4” แล้วร้องบอกว่าสำเร็จแล้ว แท้ที่จริงเขาสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น  การปฏิบัติให้ครบถ้วน เขาควรประสบความสำเร็จยิ่งกว่านั้นอีกมาก”

อย่างไรก็ตาม การทำเรื่องง่ายไปหายาก เหมือนการเรียนที่ต้องผ่านจากชั้นประถมจึงขึ้นเรียนชั้นมัธยม จากชั้นมัธยมไปเรียนระดับอุดมศึกษา ได้เป็นต้น แต่ละคนต้องรู้จักตัวเอง และกำหนดเป้าหมายของตัวเองเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก เมื่อบรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง จึงกำหนดเป้าหมายขั้นต่อไป คล้ายกับเดินขึ้นบันไดเป็นขั้นๆบางคนอาจจะรวบรัดขึ้นก้าวละ 2-3 ขั้น ได้ แต่ถ้ามากกว่านั้น อาจจะหกล้มบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

“ถ้าดูตัวอย่างจากบุคคลสำคัญของโลกที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆจะพบว่าคนเหล่านั้นล้วนรู้จักทำสิ่งที่ใจรัก มีความเพียรพยายามอย่างมาก แม้จะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่ท้อแท้ แต่กลับเอาใจใส่สิ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอ คิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง หาเหตุผลในสิ่งที่ทำ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด”

ดังนั้น คนปฏิบัติตามแนวทาง “อิทธิบาท 4” ได้ครบมากกว่า ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นั่นเอง

ลุยปักธงตลาดต่างจังหวัด

ปัจจุบัน บมจ.ศุภาลัย เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ทำโครงการในต่างจังหวัดมากที่สุดซึ่งรายได้เกือบร้อยละ 26 ของบริษัทมาจากพื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัด ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค

“การออกไปลงทุนในต่างจังหวัดเป็นการเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยนโยบายการลงทุนในภูมิภาคของบริษัทจะต้องเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาโครงการได้ 3 โครงการขึ้นไป โดยเฉลี่ยจังหวัดที่บริษัทเข้าไปลงทุนจะมีโครงการที่พัฒนาได้ต่อเนื่อง 3-6 โครงการ มี 4 จังหวัดที่พัฒนา 9-10 โครงการแล้ว คือ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และสงขลา”

ศุภาลัย มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใน ก็กระจายออกไป 17 จังหวัดทั่วประเทศ 140 กว่าโครงการ เรียกว่าเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในหัวเมืองภูมิภาคมากที่สุด มีโครงการพัฒนาในหัวเมืองภูมิภาคมากที่สุด หัวเมืองหลักๆ ในประเทศไทย

ศุภาลัยปักธงไว้หมดแล้ว ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา หาดใหญ่ รองลงไป ได้แก่ ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี  เชียงราย เป็นต้น และจะยังไม่หยุดแค่นี้ อย่างแน่นอน

สยายปีกลงทุนต่างประเทศ 

ในปี 2555 ศุภาลัยเริ่มกำหนดทิศทางและแผนงานขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและรองรับการขยายตัวของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ประเทศแรกที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน คือ ฟิลิปปินส์หลังจากบริษัทได้เข้าไปศึกษาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุง Manila ช่วงปลายปี 2555 บริษัทได้ลงทุน 1.17 พันล้านเปโซหรือราว 850 ล้านบาทในกลางปี 2556 ซื้อ Petron Megaplaza อาคารสำนักงานระดับเกรดเอ ที่ย่าน  Mekati ซึ่งเป็นทำเลใจกลางเมืองโดยลงทุนผ่าน Supalai Philippines Inc. ซึ่งเป็นบริษัทลูก

ถัดจากฟิลิปปินส์เพียงหนึ่งปี ศุภาลัยได้เข้าไปศึกษาตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน Melbourne เมื่อปี 2556 เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรมากมาย มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดี

ในปลายปี 2557 ศุภาลัยจึงเริ่มลงทุนใน 2 โครงการในปีแรกโครงการแรกชื่อ Balmoral Quay ที่เมือง Geelong รัฐ Victoria ซึ่งร่วมทุนกับ BMA Property Advisory Pty. Ltd. โครงการที่สอง คือ Officer ใน Melbourne โดยร่วมทุนกับ Satterley Property Group Pty. Ltd. บริษัทอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด จนถึงวันนี้ ศุภาลัยเข้าไปลงทุนในออสเตรเลียแล้วถึง 7 โครงการ

“เราไปร่วมเป็นการพัฒนาเชิงที่อยู่อาศัย และกำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังจะมีโครงการที่ 8 และ 9 ตามมา สาเหตุที่ไปลงทุนต่างประเทศ ก็ใช้หลักเหมือนกันกับการลงทุนในต่างจังหวัดคือ กระจายความเสี่ยง และเพิ่มศักยภาพการเติบโต

การลงทุนในต่างประเทศ มิได้จำกัดอยู่แค่ 2 ประเทศเท่านั้น ศุภาลัยจะไปทุกที่ ที่เห็นว่าคุ้มค่ากับการลงทุน บนพื้นฐานที่เป็นการเพิ่มศักยภาพ กระจายความเสี่ยงและสร้างผลกำไรที่ดีให้กับบริษัท ตามแนวทาง “LOW RISK HIGH RETURN”

ความรับผิดชอบต่อสังคม

ตลอดระยะเวลา 29 ปี ที่ผ่านมา บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่น ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กับการตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย “ศุภาลัย ใส่ใจสร้างสรรค์สังคมไทย” ในปี 2554 ได้ก่อตั้งโครงการ “แสงประทีป”อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการ “คืนกำไรสู่สังคม” โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ เพื่อต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างประโยชน์ทั้งตนเอง ครอบครัว ไปจนถึงสังคมส่วนรวม

จากแนวคิดข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการ “แสงประทีป” คือโครงการสร้างแสงสว่างทางสติปัญญาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน อาทิ กิจกรรมการอบรมสัมมนาให้ความรู้ฟรี  การผลิตสื่อให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นต้น

ในโครงการของศุภาลัยเองก็สร้างสรรค์สังคมคุณภาพให้น่าอยู่ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อม ในเชิงกายภาพ ที่จะเอื้อให้ ครอบครัวทุกครอบครัวได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่ให้มาเจอกัน ทำกิจกรรมกัน สิ่งแวดล้อมในแง่ที่ดี มีการบำบัดน้ำเสีย พยายามออกแบบให้ประหยัดพลังงานจึงได้รางวัลมามากมาย

“สิ่งที่เราทำมายกตัวอย่างเช่น เราไปพัฒนาศุภาลัยบุรี ที่รังสิตและยกที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต มีโรงเรียนเด็กในหมู่บ้านก็ไปเข้าเรียนได้ เดี๋ยวนี้ก็เป็นโรงเรียนที่ใหญ่และดีที่สุดในปทุมธานี เราไปทำโครงการต่างจังหวัดบางแห่ง ก็ทำโครงการ   เดินไฟสามเฟสสี่สาย ทำให้ไฟเสถียรขึ้น ปรับปรุงถนนสาธารณะที่เป็นถนนลูกรังหรือถนนลาดยางให้เป็นถนนคอนกรีต คุณภาพชีวิตชาวบ้านก็ดีขึ้น”

เหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้เกิดการจ้างงาน ปัจจุบันในแต่ละปี ศุภาลัยสร้างสรรค์พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราวๆ หมื่นกว่าหลัง ยอดขาย 30,000 กว่าล้าน เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลก็หลายพันล้านบาท ทำให้คนมีงานทำเป็นแสนคน เฉพาะพนักงานบริษัทรวมบริษัทในเครือก็ประมาณ 1,400 -1,500 คน รวมผู้รับเหมา ซับพลายเออร์ แม่บ้าน คนสวน รปภ.

          ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาได้ด้วยความมุ่งมั่น รักในสิ่งที่ทำ เพียรพยายามทำ เอาใจฝักไฝ่ และ  ไตร่ตรอง หาเหตุผล ของชายวัย 70 ปีที่ชื่อ “ประทีป ตั้งมติธรรม”สร้างอาณาจักรศุภาลัยจน เติบใหญ่แผ่ขยายทั้งในและต่างประเทศ จากเด็กยากจนค่อยๆ สร้างตัว เพียงแค่ 29 ปี “ศุภาลัย” ที่เขาก่อตั้งมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านล้านบาทในวันนี้

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top