หลักสูตร LFC ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่ตลาดโลก
“มูลนิธิสัมมาชีพ” ขอนำอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ “สุรนุช บุญจันทร์” ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน (PGS) อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเข้าอบรมหลักสูตร LFC รุ่นที่ 13 และนำความรู้จากการอบรมมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
จากผลไม้และผักเกษตรอินทรีย์ ทางกลุ่มได้ริเริ่มผลิตภัณฑ์แปรรูป ภายใต้แบรนด์ “ฮักคุณ” ใน 2 ผลิตภัณฑ์แรก ได้แก่ น้ำดอกมะพร้าวบริสุทธิ์และข้าวแต๋นน้ำแตงโม
ขณะนี้ทางกลุ่มอยู่ระหว่างเจรจากับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเพื่อทำตลาดในหมวดสินค้ารักษ์สุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์โลก และยังมองไกลถึงตลาดส่งออกในตะวันออกกลาง
ความรู้และมุมมองเหล่านี้ สุรนุชเล่าว่า ล้วนได้รับจากการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC)
“ต้องบอกว่าการเข้าไปอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ได้อะไรเยอะมาก คุ้มค่ามาก นำมาใช้กับชุมชนได้หมด รู้สึกประทับใจ ไม่อยากเสียเวลาแม้แต่ชั่วโมงเดียวที่จะไม่มาอบรม มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไม่ได้มา รู้สึกเสียดายมาก เพราะมันคือความรู้ที่เราขาดหายไป”
นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการอบรม สุรนุชยังได้เครือข่ายสายสัมพันธ์และข้อแนะนำที่ดีจากเหล่าวิทยากรและผู้บริหารมูลนิธิสัมมาชีพในหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิธีการเก็บข้อมูล การประเมินความพร้อม การประเมินการตลาดของกลุ่มฯ ทำให้แผนธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำดอกมะพร้าว ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารออมสิน เป็นเงิน 1 ล้านบาท และนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำดอกมะพร้าวล็อตแรก จำนวน 3,000 ขวด
สุรนุชเล่าว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์น้ำดอกมะพร้าว และข้าวแต๋นน้ำแตงโมของกลุ่ม เป็นสูตรไม่เติมน้ำตาล เป็นความหวานตามธรรมชาติจากดอกมะพร้าวและน้ำแตงโม นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์น้ำดอกมะพร้าวยังมีงานวิจัยรองรับว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ทั้งยังใช้มะพร้าวจากอ.บ้านแพ้ว ซึ่งมีชื่อเสียงระดับประเทศ
ขณะนี้ ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรองมาตรฐานอย.แล้ว อยู่ระหว่างขอการรับรองเครื่องหมายฮาลาลเพื่อทำตลาดส่งออก
“คอนเซปต์สินค้าของเรา เป็นสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสานกับการเป็นสินค้ารักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสโลก และยังเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูระบบนิเวศของท้องถิ่น ไปพร้อมกันด้วย” สุรนุช กล่าว
ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน (PGS) ยังเล่าว่า นอกจาก 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว เธอมีแผนที่จะนำความรู้จากการอบรมฯ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ของจ.สมุทรสาคร พร้อมกับ “เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่างๆ” เพื่อร่วมกัน “ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน” ให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับชุมชนที่เกี่ยวข้อง
อาทิเช่น ร่วมมือกับชุมชนใน จ.เพชรบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์ทองม้วน ขนมขึ้นชื่อของเพชรบุรี ให้ได้มาตรฐานการผลิตและการตลาด การพัฒนาลวดลายและรูปแบบเสื้อยืดอีโคพริ้นท์ที่ผลิตจากสารธรรมชาติ ของ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น
“สินค้าชุมชนมีเยอะ แต่สุดท้ายไปไม่ถึงไหนเพราะอะไร พอมาอบรม LFC ก็ได้รับคำตอบ นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งทางกลุ่มได้เรียนรู้เรื่องนี้มา และพร้อมจะเชื่อมต่อพี่น้อง เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนโดยเขาไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง และจะขยายไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกต่อไป” สุรนุช เผย
นี่คือ ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง นำความรู้จากหลักสูตรไปสู่ปฏิบัติการจริง (In Action) และยังพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือ (Collaboration) กับเครือข่ายชุมชนอื่นๆ
เป็นแนวทางสร้าง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก อย่างแท้จริง