skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“วางแผนการเงิน–รู้เรื่องดอกเบี้ย” ก่อนเป็นหนี้

“วางแผนการเงิน–รู้เรื่องดอกเบี้ย” ก่อนเป็นหนี้

“มงคล ลีลาธรรม” ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ และอดีตเอ็มดี SME D Bank เตือนลูกหนี้ “วางแผนการเงิน –มีวินัย- เรียนรู้เรื่องดอกเบี้ยให้ถ่องแท้” ก่อนกู้ และต้องมีความสามารถในการใช้หนี้ด้วย มิฉะนั้นจะเผชิญกับภาวะ “ดอกเบี้ยทบต้น” ซึ่งอันตรายสุด

“นายมงคล ลีลาธรรม” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ และอดีตกรรมการผู้จัดการ SME D Bank  ให้สัมภาษณ์ในรายการลับคมธุรกิจ คลื่น FM 90.5 ในประเด็น เรื่องต้องรู้..ดอกเบี้ยสำคัญไฉน? ทำอย่างไรให้เป็นธรรมกับลูกหนี้ โดยระบุว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อเป็นหนี้แล้ว จะต้องมีความสามารถชำระหนี้ตรงตามสัญญา โดยลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้จากการกู้ไปสร้างประโยชน์ให้เกิดรายได้ที่มากกว่าภาระดอกเบี้ย และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วต้องสามารถคืนเงินต้นได้ด้วย ซึ่งการจะกระทำสิ่งเหล่านี้ได้ ลูกหนี้ต้องมี “การวางแผนบริหารจัดการการเงินที่ดี” – “มีวินัย” ไปพร้อมกับ “การมีความรู้-ความเข้าใจ เรื่องดอกเบี้ยเป็นอย่างดี” เช่น วิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทบต้นคืออะไร การคิดอัตราดอกเบี้ยแต่ละประเภทธุรกรรม การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต การคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และแบบคงที่  เป็นต้น

“ถ้าลูกหนี้วางแผนการเงินดี มีความรู้ความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ย ก็จะสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้มากกว่า สามารถชำระหนี้ได้เร็วกว่า เทียบกับลูกหนี้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่า มีระยะเวลาชำระหนี้ยาวนานกว่า หรือถ้าจ่ายหนี้ไม่ตรงตามสัญญา ถูกทวงถามก็จะมีเบี้ยปรับ ดอกเบี้ยยังเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาจนวันหนึ่งทบต้น

ดอกเบี้ยทบต้น เป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด โดยอมตวาจาของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ระบุว่า ดอกเบี้ยทบต้นคือสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ถ้าคนที่เข้าใจจะหาเงินจากมันได้ ในทางกลับกันคนที่ไม่เข้าใจต้องเป็นคนจ่ายเงินให้กับมัน” นายมงคลกล่าว

อดีตกรรมการผู้จัดการ SME D Bank ยังยกตัวอย่างถึงอันตรายจาก “ดอกเบี้ยทบต้น” ว่า ตามกฎ 72 ซึ่งเป็นกฎในการคำนวณระยะเวลาที่ดอกเบี้ยจะสูงเท่ากับเงินต้น เช่น หากเงินกู้ก้อนนั้น คิดดอกเบี้ยที่ 10%  ให้นำ 10 ไปหารด้วย 72 จะเท่ากับ 7.2 หมายความว่า จะใช้เวลา 7.2 ปีดอกเบี้ยจะเท่ากับวงเงินต้นที่กู้  หากดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็น 15 % หรือ 20% ระยะเวลาที่จ่ายดอกเบี้ยเท่ากับเงินต้นจะสั้นลงอีก ซึ่งหมายถึงภาระของลูกหนี้ในการชำระหนี้จะสูงขึ้น โดยเฉพาะหากกู้เงินกับนาโนไฟแนนซ์ที่คิดดอกเบี้ยที่ 36 % จะใช้เวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นดอกเบี้ยจ่ายก็จะสูงเท่ากับเงินต้น

ขณะที่การคำนวณ “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต” หากผู้ใช้ไม่ชำระเต็มจำนวนที่รูดซื้อสินค้าและบริการ จะถูกคำนวณอัตราดอกเบี้ยเต็มจำนวน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ย ณ วันที่นำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าและบริการ และถ้านำบัตรเครดิตไปกดเงินสด ที่วงเงิน 10,000 บาท หากชำระขั้นต่ำ 10% ของวงเงินดังกล่าว ณ อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี จะต้องใช้เวลาถึง 17 เดือนกว่าจะชำระเงินคืนหมด โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมที่ 1,130 บาท และหากกดเงินสดในอัตราที่สูงขึ้น ด้วยการชำระเงินขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกันนี้ ก็จะใช้เวลานานขึ้นในการชำระเงินคืน

เช่น หากกดเงินสดจากบัตรเครดิต 20,000 บาท ต้องใช้เวลาถึง 24 เดือนกว่าจะชำระเงินคืนหมด และต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของการกดเงินสดที่ 10,000 บาท และหากกดเงินสดที่ 50,000 บาท ต้องใช้เวลาชำระคืนเงิน 39 เดือน ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 เท่าเมื่อเทียบกับการกดเงินสดที่ 10,000 บาท  และหากกดเงินสดที่ 100,000 บาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนเงิน 17 เดือน ซึ่งแม้จะต่างจากการกดเงินสดที่ 10,000 บาท เพียง 10 เท่า แต่พบว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 12.7 เท่าเมื่อเทียบกับการกดเงินสดที่ 10,000 บาท

“นี่คือความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ย หลายคนมักคิดว่าจ่ายขั้นต่ำ 10% ภายใน 10 เดือนเราน่าจะจ่ายหมด จริงๆ ไม่ใช่ ยิ่งใช้เงินจากบัตรเครดิตยิ่งมาก ยิ่งต้องใช้เวลาชำระนานขึ้น และดอกเบี้ยที่เสียก็จะมากขึ้นเป็นทวีคูณ หรือกรณีที่เห็นในโฆษณาว่า กู้เงิน 15,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี ชำระขั้นต่ำ 3% แต่ไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อเดือน งวดแรกจ่าย 450 บาท (3% ของ 15,000 บาท) เดือนถัดไปจ่ายเดือนละ 100 บาท รู้หรือไม่ว่ากว่าจะคืนหนี้หมด ต้องใช้เวลาถึง 18 ปี 5 เดือน (221 เดือน)

ถ้าลูกเกิดช่วงที่เริ่มกู้ ลูกก็โตเป็นหนุ่มเข้ามหาวิทยาลัยแล้วกว่าจะชำระหนี้หมด และต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 28,000 บาท มากกว่าเงินต้นที่กู้มา 15,000 บาท แต่ในวงเงินเดียวกันนี้ หากลูกหนี้มีการวางแผนบริหารจัดการหนี้ที่ดี ผ่อนจ่าย 36 งวด งวดละ 600 บาท จะจ่ายเงินกู้ได้หมด โดยเสียดอกเบี้ย 6,500 บาท ประหยัดดอกเบี้ยลงได้ถึง 21,500 บาท” นายมงคลกล่าวและว่าในประเด็นของ “อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก” กับ “อัตราดอกเบี้ยคงที่” ก็มีความหมายแตกต่างกัน

ทั้งนี้ นัยยะของอัตราดอกเบี้ยคงที่ จะเป็นอัตราดอกเบี้ยคูณ 2 ของอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เช่น การจำนำทะเบียนรถยนต์ เสียดอกเบี้ยคงที่ ที่ 1% ต่อเดือน เท่ากับปีละ 12% จะเท่ากับการเสียดอกเบี้ยที่ปีละ 24% ของดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจ และสอบถามเจ้าหนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจกู้

เขายังกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความเข้าใจที่ตรงกัน และความรู้ที่เท่ากัน ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ควรคำนวณดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย แทนการคำนวณแบบเหมารวม ลูกหนี้คนใดมีประวัติการชำระเงินตรงเวลา สม่ำเสมอ ควรคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าคนที่จ่ายไม่ตรงเวลา ไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ลักษณะเดียวกับการจ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ หากผู้เอาประกันมีประวัติการขับขี่ที่ดี เบี้ยประกันปีถัดไปก็จะลดลง นอกจากนี้เจ้าหนี้ต้องคำนวณดอกเบี้ยให้ลูกหนี้รับรู้อย่างชัดเจนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

“สำหรับคนที่ไปกู้เงิน ดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ ผู้กู้ต้องละเอียดในเรื่องนี้ มีความรู้ มีวินัย มีความรับผิดชอบ วางแผนธุรกิจของตนเอง วางแผนสภาพคล่อง ย้ำว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นหนี้ต้องมีวันจบ ไม่ใช่อยู่กับหนี้ไปตลอดชีวิต”  นายมงคล กล่าว


Back To Top