‘6 เคล็ดลับ’ ความสำเร็จ บริหาร ‘โครงการเพื่อสังคม’
จะบริหารโครงการเพื่อสังคมและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 13 ได้สกัดออกมาเป็น “6 เคล็ดลับ” อาวุธเด็ดที่ทุกฝ่ายสามารถนำไปปรับใช้ รวมถึง “มายด์เซ็ต” ในการทำงานชุมชน
ดร.นัชชา เทียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ข้อมูลในประเด็น Participative Social Contribution BCG Project Management : การบริหารโครงการเพื่อสังคม–โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ว่า การบริหารโครงการเพื่อสังคมให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องมีกระบวนการทำงานให้ชัดเจน ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการลงพื้นที่ และนำข้อมูลมาประมวลผล
รวมทั้งการทำงานแต่ละขั้นตอน ต้องอาศัย “การมีส่วนร่วม” ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้สกัดเคล็ดลับการทำงานในแนวทางดังกล่าวไว้ “6 กระบวนการ” ได้แก่
กระบวนการแรก : จุดเริ่มต้นการบริหารโครงการ หมายถึงขั้นตอนการวางแผน และการปฏิบัติตามแผนงานโครงการเพื่อสังคม โดยอาศัยการมีส่วนร่วม
กระบวนการที่สอง : วงจรการบริหารงานเพื่อสังคม จะต้องรู้ว่า ชุมชนต้องการอะไร และออกแบบโครงการตามความเหมาะสมของความต้องการนั้น มีแผนปฏิบัติการที่ต้องติดตามต่อเนื่อง มีการประเมินผล และสุดท้ายต้องทำให้เกิดการเรียนรู้และการเติบโต ซึ่งเป็นได้ทั้งการเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาด
กระบวนการที่สาม : การวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการชุมชน แบ่งออกเป็น การวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน และการวิเคราะห์ความต้องการของชุมชน โดยอาศัย 3 เครื่องมือ (tools) ได้แก่
1. Community Mapping หรือการระบุสภาพแวดล้อมเชิงภูมิศาสตร์ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ การนำข้อมูลหลากหลายมาบรรจุเป็นชุดเดียวกัน และอภิปรายถึงชุดข้อมูลนั้นๆ ว่ามีนัยยะสำคัญต่อการทำโครงการอย่างไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจทำโครงการ และได้เรียนรู้อะไรจากชุดข้อมูลดังกล่าว
2.Interview การสัมภาษณ์ทำให้พบว่า “ปัญหาอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ปัญหา” โดยต้องสัมภาษณ์เชิงรุก และตั้งคำถามให้ทรงพลัง อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า นั่นคือความต้องการของชุมชนจริงๆ ต้องพยายามค้นหาปัญหาที่แท้จริง มากกว่าการประเมินสถานการณ์
เครื่องมือที่ 3. 2i matrix คือการนำข้อมูลมาใส่ใน 2 แกน คือ แกนของผลกระทบ (Impact) และแกนของการปฏิบัติการ (Implement) เพื่อจัดอันดับความต้องการ และโอกาสความสำเร็จ จากนั้นจึงเลือกประเด็นที่ชุมชนต้องการ และมีโอกาสสำเร็จสูง (High Impact and High Implement)
กระบวนการที่สี่ : การจัดทำโครงร่างโครงการ (Project Proposal) ประกอบด้วยการจัดทำเนื้อหาเพื่อตอบคำถามสิ่งเหล่านี้ What happen : การระบุสภาพปัญหา หลักการเหตุผล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการคัดเลือกให้เฉพาะเจาะจงตามประเด็นที่สนใจ, Indicator : การวัดผลเป็นตัวเลข สะท้อนปัญหานั้น ณ ปัจจุบัน เป็นตัวเลขทางสถิติ เทียบกับมาตรฐาน หรือสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น รายได้ต่อครัวเรือน กำไรจากการขาย จำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น
Topic : การตัดสินใจว่าจะทำโครงการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเรื่องใด, What for / Why : สรุปให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร แล้วจะเกิดความสำเร็จ ที่จับต้องได้คืออะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้ จะต้องสัมพันธ์กับข้อ 2 และ BCG : การนำหลักการ BCG มาใช้อย่างไรบ้าง
กระบวนการที่ห้า : การจัดทำระบบนิเวศทางธุรกิจ และกลไกสนับสนุน โดยอาศัยแผนภูมิ 6 เหลี่ยม เพื่อให้มองได้รอบด้านครบถ้วน ประกอบด้วย แหล่งทุน พันธมิตรเครือข่าย เครือข่ายเพื่อสังคม ทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรวิชาชีพการวิจัยและพัฒนา และรัฐองค์กรท้องถิ่น
กระบวนการที่หก : การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และการประเมินผลโครงการ โดยอาศัยตารางแนวคิดเชิงตรรกะ ผ่านการระดมความคิดเห็น ได้แก่ เราต้องการไปถึงจุดแห่งความสำเร็จตรงไหน (เป้าหมายและวัตถุประสงค์), เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร (แผนงาน/กิจกรรม), เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไปถึงจุดนั้น (ตัวชี้วัดความสำเร็จ), เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว เราเห็นผลสำเร็จอะไรบ้าง (ผลลัพธ์) และมีอุปสรรคอะไรบ้างที่เราอาจเผชิญระหว่างทาง (ความเสี่ยง)
ด้าน “ปรารถนา หาญเมธี” ผู้บริหารกลุ่ม RLG (Rakluke Learning Group) รักลูก กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การทำงานกับชุมชนจะสำเร็จได้นั้น ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ต้องมีมายด์เซ็ต ที่เป็น Growth mindset หรือเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
เป็นคนกล้าทำ “แพ้ชนะไม่สำคัญ” ไม่ชนะก็สนุก ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้สามารถดึงศักยภาพของตนเองมาใช้ได้มากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่
ขณะที่ “มายด์เซ็ตในการทำงานชุมชน” หลักคิดหนึ่งคือ การมองผลลัพธ์ด้าน “ความยั่งยืน” ทำแล้วต้องดีขึ้นกว่าเดิม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเหลือส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป “ใส่ใจโลก –ใส่ใจสังคม – ใส่ใจผู้มีส่วนร่วม” ทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น ส่วน “มายด์เซ็ตเพื่อการพัฒนา” ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะพัฒนาไปทางไหน, ต้องมีส่วนร่วม ทำเรื่องที่สำคัญและทำอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายคือการเรียนรู้ ลงมือทำ และถอดบทเรียนกับคนที่เก่งกว่า
ทั้งหมดนี้คือ แนวทางในการบริหารโครงการเพื่อสังคม และการปรับทัศนคติ ความเชื่อ (มายด์เซ็ต) ของผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจำเป็นต้อง “มีหลักการทำงานและวิธีคิด” ที่ถูกต้อง
จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน