เปิด 3 แผนพัฒนาพื้นที่ชุมชน ผลงาน “LFC13” ‘ต้นแบบ’ ร่วมด้วยช่วยเศรษฐกิจฐานราก
หนึ่งในไฮไลท์การอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) ของมูลนิธิสัมมาชีพ คือ การลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ประกอบการชุมชน
เพื่อมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างคุณภาพชีวิต รายได้ ของคนในพื้นที่ให้อยู่ดีมีสุขตามปรัชญาสัมมาชีพ
สำหรับ LFC รุ่นที่ 13 หลังจากได้เติมเต็มความรู้ในด้านต่างๆ แล้ว ก็ได้ลงพื้นที่ใน ต.ถาวรวัฒนา อ. ทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร เพื่อวางแผนพัฒนาการประกอบการชุมชน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโคก หนอง นา โมเดล, กลุ่มแปรรูปอาหาร, และกลุ่มเครือข่ายหัตถกรรม และนอกจากการทำแผนงานดังกล่าวแล้ว ทางผู้เข้าอบรมยังจะจับมือกันทำงานต่อ โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น อบต.ถาวรวัฒนา บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ
หลังลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล หารือกับชุมชน ทีม LFC 13 แต่ละกลุ่มได้กลับมาพร้อมแผนพัฒนาเพื่อนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการอันประกอบด้วย คุณอัจฉราวรรณ เจียรธนพร กรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ รศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณวัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ CEO & Founder บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม คุณปริญญา สุวรรณโณ ผู้ช่วยผู้จัดการบริหารกิจกรรมโครงการ บมจ. ไทยเบฟ และคุณยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการช่องนิวส์วัน
จากข้อมูลการหารือเบื้องต้น ภาพรวมที่ชุมชนต้องการการสนับสนุนหลัก ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรพื้นฐานสู่สินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต อาทิ มาตรฐานอย., การเพิ่มช่องทางการตลาดและความรู้ในการทำตลาด โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัล, ความรู้ในการบริหารต้นทุน รายรับ รายจ่าย และต้องการแหล่งทุนสนับสนุน เป็นต้น
จึงนำมาสู่แผนการพัฒนาการประกอบการของชุมชนแต่ละกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มโคก หนอง นา โมเดล
พื้นที่ จ.กำแพงเพชร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรปลูก “พืชไร่” ในสัดส่วน 60% โดยเฉพาะนาและไร่อ้อย ลักษณะทางภูมิศาสตร์จึงเหมาะสมสำหรับโครงการ โคก หนอง นา โมเดล โดยใน ต.ถาวรวัฒนา มีพื้นที่โคก หนอง นา โมเดล อยู่ 20 แปลง
จากการประเมินรายจ่ายและรายได้ของคนในพื้นที่พบว่า มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ โดยจะติดลบเดือนละ 7,592 บาทต่อครัวเรือน ทางกลุ่มฯ จึงเริ่มต้นที่เป้าหมาย ช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้
สำหรับสิ่งที่ชุมชนต้องการการพัฒนามากที่สุดคือ “กลางน้ำ” หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรจากเกษตรพื้นฐานที่ราคาไม่สูง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
จึงนำสู่แผนการพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มโคก หนอง นา ด้วยการ “สร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิต การแปรรูป การตลาด สินค้าเกษตรปลอดภัย โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยี”
อันมี 4 กระบวนการพัฒนา ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ได้แก่
- การพัฒนาศักยภาพเกษตรปลอดภัย ลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี งดการใช้สารเคมีตลอดกระบวนการผลิต
- ส่งเสริมการใช้พลังงานและเน้นการนำกลับมาใช้ซ้ำ ให้เหลือวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด
- การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ให้ได้มาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- สร้างแบรนด์การตลาด ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรปลอดภัย การแปรรูปผลผลิตชุมชน ผ่านช่องทางหลากหลาย ออนไลน์ ออฟไลน์ ในและต่างประเทศ
รูปธรรมการดำเนินงานที่ทางกลุ่มผู้อบรม LFC 13 นำเสนอ ได้แก่ การสร้างโรงอบความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรมาตรฐานอย.
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมาย/ตัวชี้วัดว่า จะต้องสร้างรายได้ต่อครัวเรือนสูงสุดอย่างน้อย 5,000 บาทต่อเดือน, ปลูกพืชมูลค่าสูงที่ตลาดต้องการอย่างน้อย 3 ชนิด, ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูก 100%, มีโรงงานบรรจุและแปรรูปที่มีมาตรฐานรองรับ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปพร้อมจำหน่ายอย่างน้อย 1 ชนิด, มีแบรนด์เป็นของตนเอง และมีความเข้าใจและบริหารโครงการได้ดี
การพัฒนาร่วมกับชุมชนยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับ BCG เนื่องจากการปลูก ต้นไม้ในโคก หนอง นา โมเดล จะมีหลายชนิด ถือเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-Economy) และยังนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป ลดการสูญเสีย (Circular Economy) นำพลังงานทดแทนมาใช้ในการสร้างตู้อบความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ด้านระบบนิเวศการพัฒนา จะเน้น “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ได้แก่ ภาครัฐ วิสาหกิจชุมชน สถาบันการเงิน มูลนิธิสัมมาชีพ และแพลทฟอร์มออนไลน์ในการกระจายสินค้า ผ่านโซเซียลมีเดีย ไลน์ออฟฟิเชียล เว็บไซต์โคก หนองวัฒนา ดอทคอม เพื่อผลักดันสู่เป้าหมายให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น และสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป
กลุ่มแปรรูปอาหาร
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแปรรูปอาหาร มีสินค้าเด่น คือ พริกแกง นอกจากนั้นยังมีแหนมหมู ปลาแดดเดียว พริกป่น ข้าวคั่ว โดยวัตถุดิบทางการเกษตรที่ชุมชนนำมาใช้ส่วนใหญ่มาจาก โคก หนอง นา โมเดล อาทิเช่น พริก ข่า ตะไคร้ แต่วัตถุดิบบางส่วน เช่น หอม กระเทียม ยังต้องซื้อจากภายนอกเพราะมีผลผลิตไม่เพียงพอ
จุดเด่นของพริกแกงชุมชนแห่งนี้ คือ “ผัดแล้วน้ำมันไม่กระเด็น” ถือเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ส่งผลดีต่อการทำการตลาด
ประเด็นปัญหาของกลุ่ม คือ “ผลผลิตทางการเกษตร” ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขาดมาตรฐานสินค้า และขาดความรู้ความสามารถทางการตลาด การเงิน การบัญชี ในการคำนวณต้นทุน รายรับ รายจ่าย
จากการประเมินจุดแข็งและปัญหาอุปสรรค ทาง LFC13 จึงมองหาโอกาสและแนวทางการแก้ปัญหา ผ่าน โครงการขอรับรองมาตรฐานอย. เพื่อยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน และจะเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน โดยวางแนวทางการพัฒนาร่วมกับชุมชน ผ่านกลยุทธ์จัดการความเสี่ยง 4 แนวทาง ประกอบด้วย
กลยุทธ์เชิงรุก : การจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน, พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านสื่อออนไลน์เข้ามาจัดการปัญหาการตลาด, สร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างจุดเด่น, ทำ Contract Farming กับโคก หนอง นา โมเดล ลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายเรื่องวัตถุดิบ
กลยุทธ์เชิงรับ : นำเอกลักษณ์สินค้ามาเผยแพร่สู่ตลาด เพื่อให้มีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่ง
กลยุทธ์เชิงแก้ไข: ขอการรับรองมาตรฐานอย., มีการควบคุมมาตรฐานสินค้า, ให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาเสริมความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินและการตลาด
กลยุทธ์เชิงป้องกัน : นำเทคโนโลยีมาทดแทนบุคลากรในช่วงการผลิต, สร้างจุดเด่นของสินค้า, การอบรมเกี่ยวกับการจัดสรรเงินทุนอย่างถูกต้อง ไม่ขาดทุน และมีการอบรมเกี่ยวกับการทำ Platform
โดยมีเป้าหมาย ได้รับการรับรองมาตรฐานอย.ในปี 2567 เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย ส่งมอบตรงเวลา เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจรากฐานมั่นคง ชุมชนพึ่งตัวเองได้ พัฒนาอาชีพให้เกิดสัมมาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
ผ่านตัวชี้วัดการดำเนินการ ได้แก่ ผลิตสินค้าอาหารและบริการได้มาตรฐาน 100%, จัดประชุมนำเสนอความก้าวหน้าแต่ละแผนงานย่อยอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง, ปี 2558 มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2567 เป็นต้น
ความร่วมมือ (Ecosystem and Supporting) จากแหล่งเงินทุน พันธมิตรเครือข่ายธุรกิจ คู่ค้า เครือข่ายทางสังคม ทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรวิชาชีพวิชาการ รัฐและองค์กรท้องถิ่น
การพัฒนาร่วมกับชุมชนยังตอบโจทย์ BCG ในด้านสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต และความหลากหลายทางชีวภาพ มีการใช้ทรัพยากรคุ้มค่า หมุนเวียนสร้างเศรษฐกิจแบ่งปัน (Share Value) มีการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่มหัตถกรรม
สำหรับกลุ่มหัตถกรรมประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้าไหม และกลุ่มทอเสื่อกก ซึ่งปัญหาหลักๆ ของกลุ่มนี้ คือ การไม่มีผู้สืบทอดงานฝีมือ/แรงงานไม่เพียงพอ, ไม่สามารถผลิตวัตถุดิบได้เองในพื้นที่, การซื้อวัตถุดิบจะเป็นลักษณะต่างคนต่างซื้อ, ไม่มีการจัดทำบัญชี,ไม่มีการจัดเก็บข้อมูล, ช่องทางการตลาดไม่หลากหลาย, การรวมกลุ่มยังไม่เข้มแข็ง, เครื่องจักรอุปกรณ์ไม่พร้อมต่อการทำงาน, องค์ความรู้ด้านต่างๆ ยังไม่เพียงพอ เช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ต้นทุนการผลิต การสร้างอัตลักษณ์, รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินการยังน้อย และขาดเงินทุน
นอกจากนี้ชุมชนยังมองการทำหัตถกรรมเป็น “อาชีพเสริม” เท่านั้น เพราะมีอาชีพหลักคือ การทำนาอยู่แล้ว
ในส่วนของความต้องการของชุมชน สิ่งที่อยากจะให้สนับสนุน คือ “เงินทุน”
จากโจทย์ดังกล่าว การทำแผนพัฒนาของ LFC 13 จึงเป็นไปในแง่ การสร้างเครือข่ายกลุ่มหัตถกรรมให้เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้เครือข่ายหัตถกรรมได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง “พัฒนาคน พัฒนากลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้”
ขณะที่แผนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย การร่วมมือกับเครือข่าย พันธมิตร เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด, การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน, พัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และลายผ้า ลายเสื่อกก เพื่อเพิ่มอัตลักษณ์, การประสานความร่วมมือพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร, การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการองค์กร, การจัดทำบัญชี, จัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์, จัดหาแหล่งทุน และพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสืบทอดงานฝีมือ และเพิ่มกำลังการผลิต ผ่านโรงเรียนในพื้นที่
โดยมีตัวชี้วัด ได้แก่ การอบรมเพิ่มศักยภาพของประชาชนในชุมชนอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง, การอบรมเพิ่มศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง และกลุ่มผลิตสินค้าหัตถกรรม มีรายได้เพิ่มขึ้น 15%ต่อปี
การพัฒนากลุ่มหัตถกรรม ต.ถาวรวัฒนา ยังมีแนวคิดนำด้าน BCG Model มาปรับใช้ ได้แก่ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น, เปลี่ยนการใช้สารเคมีมาเป็นสีธรรมชาติในการย้อมผ้า ย้อมกก, เศษผ้าที่เหลือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ, ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ในการปลูกต้นกก, ประยุกต์ใช้เสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น จานรองแก้ว ที่รองจาน รองเท้า, การจัดการน้ำเสียจากสารเคมีที่ใช้ในการย้อม และใช้เตาชีวมวลในการย้อมเสื่อกก (ใช้แกลบ ฟาง ชานอ้อย เป็นเชื้อเพลิง)
นอกจากนี้จะเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมพัฒนา ได้แก่ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
นี่คือ 3 แผนการพัฒนาพื้นที่ จากความมุ่งมั่นของผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำความเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ที่นำความรู้จากหลักสูตรลงสู่พื้นที่จริง เพื่อให้เกิดเป็น “ต้นแบบการพัฒนา” ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน (รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม) กระจายเป็น “สัมมาชีพเต็มพื้นที่” ต่อไป