ลุยตลาดโลกด้วย “อีคอมเมิร์ซ” ค้าออนไลน์อย่างไรให้ “ปัง”
ความสำเร็จในการทำตลาดออนไลน์ ยังต้องอาศัยหลากปัจจัย และนี่คือ สิ่งที่กูรูซึ่งมาบรรยายในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 13 ได้ถ่ายทอด “เคล็ดลับ” เหล่านั้น
ชมพูนุท โพธิ์ขาว Development and Specialist AJ e-commerce บริษัทตัวแทนในไทยเพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการนำสินค้าลงขายในเว็บไซด์อาลีบาบา (www.alibaba.com) บรรยายในหัวข้อ “ลุยตลาดโลกด้วยอีคอมเมิร์ซ” โดยกล่าวถึงศักยภาพของตลาดออนไลน์ว่า เป็นตลาดกว้างจากกำลังซื้อทั่วโลก มีการซื้อขายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ จึงกลายเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ในการทำตลาดผ่านช่องทางนี้
อาลีบาบาเป็นเว็บไซต์ทำตลาดขายส่ง (Business to Business –B2B) แม้จะมีสัญชาติจีน แต่ทำการค้าขายกับทุกชาติในโลก ปัจจุบันทำธุรกิจ B2B กับ 200 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าตลาด B2B ทั่วโลกจะมีอัตราเติบโตต่อปี (CAGR) สูงถึง 12.36% ระหว่างปี 2022-2027
โดยขนาดตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ปี 2522 อยู่ที่ 8,523.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสูงถึง 18,771.4 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027
“คนที่ซื้อขายผ่านช่องทางของอาลีบาบามีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มาหาซื้อวัตถุดิบต้นน้ำ เพื่อนำไปแปรรูป, ตัวแทนจำหน่าย รวมถึงผู้กระจายสินค้า มีธุรกิจทุกขนาด รายใหญ่ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน
หัวใจคือ การผลิตหรือจัดหาสินค้าให้ตรงตามความต้องการผู้ซื้อ โดยในส่วนของวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ดี จะจูงใจให้การขายประสบความสำเร็จ”
“อาหาร-เกษตร” มาแรงในอาลีบาบา
สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสสูงในแพลทฟอร์มอาลีบาบา ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร เกษตร เครื่องสำอาง อัญมณี เครื่องประดับ สินค้ามูเตลู สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนประเทศผู้ซื้อ 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ อินเดีย แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์
“ชมพูนุท” แนะนำว่า หากอยากขายสินค้าได้ ต้องมาเปิดร้านทุกวัน คิดเสมือนเป็นหน้าร้านปกติ พูดคุยกับลูกค้า อาจจะมีคลิปวิดีโอสั้น หรือประโยคต้อนรับไว้ในเว็บไซต์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ
“เวลาผู้ซื้อทักเข้ามา ไม่ต้องกังวล เว็บไซต์จะมีโปรแกรมแปลภาษา และมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการค้นหาผู้ซื้อ” ชุมพูนุท เผย
คาถา “เราทำได้” – “หากลุ่มเป้าหมายให้เจอ”
อุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด บรรยายหัวข้อ “Social and Live Commerce ขายออนไลน์ให้ปัง” ระบุว่า หัวใจของการขายออนไลน์ให้ปัง สิ่งแรกคือ ต้องเชื่อก่อนว่า “เราทำได้” ต้องมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ต้องล้ม ลุก และเรียนรู้
“ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต มีสองคำคือ ความเชื่อ กับความจริง ความจริงเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในความคิด และครั้งที่สองเกิดในชีวิตจริง”
ขณะที่การขายต้องไปหาลูกค้า ลูกค้าจะไม่มาหาเรา การขายออนไลน์ไม่ใช่มานั่งตกปลา ต้องรู้ว่า จะหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ที่แพลทฟอร์มออนไลน์ไหน
“ไลฟ์มีโอกาสเข้าถึงคนได้มากกว่าโพสต์ ขณะที่ไอจี เอ็นเก็จเมนต์จะสูงกว่าเฟซบุ๊ก ไอจีเป็นเรื่องของคนหน้าตาดีเพราะเน้นลงรูป รายได้ของคนเล่นไอจีจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของเฟซบุ๊กคือคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ยูทูปกลายเป็นทีวีเป็นห้องเรียนสำหรับเรียนรู้เรื่องต่างๆ ส่วน Reel ในเฟซบุ๊กการเข้าถึงจะค่อนข้างสูง
แพลทฟอร์มออนไลน์อันดับหนึ่งในไทยตอนนี้ คือ TikTok ครองตลาดคนเจนวายและเจนแซด เนื้อหาไม่ใช่เรื่องของการเต้นอีกต่อไป ทำให้โฆษณาในแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นลดลง ไหลมาที่ TikTok”
ออนไลน์ เท่ากับ โมบาย
อุกฤษฎ์ ยังบอกด้วยว่า การค้าออนไลน์ต้องนึกไว้เสมอว่า “ออนไลน์เท่ากับโมบาย” เพราะโทรศัพท์มือถือคืออวัยวะที่ติดตัวไปแล้ว “มือถือคือทุกอย่างในชีวิต” ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลจากการค้นหาสินค้าในมือถือก่อนการตัดสินใจซื้อ
ส่วนความสำเร็จของการสร้างคอนเทนท์ในโลกออนไลน์อยู่ที่ “ความจริงใจ เชื่อใจ” เพราะยุคนี้คนไม่ดีอยู่ยาก จากนักสืบโซเซียลที่มีอยู่เต็มไปหมด โดยพร้อมจะสืบย้อนกลับจาก “ดิจิทัล ฟุตพริ้นท์”
“คอนเทนท์ที่ดีต้องทำวิดีโอสั้นแนวตั้ง ไม่เกิน 1 นาที เพราะสมาธิคนสั้น 3-5 วินาทีแรกจะเป็นตัวตัดสินว่า จะดูเราต่อหรือไม่”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท แนะนำว่า ถ้าเริ่มต้นขายสินค้าจากแพลตฟอร์มติ๊กต่อก มีโอกาสสำเร็จสูง แม้จะมีคนตามแค่ 1 คน แต่ก็มีโอกาสที่คนจะเห็นเราตั้งแต่ร้อยคนจนถึงหนึ่งล้านคน ขณะที่เฟซบุ๊กจะโฟกัสว่าเราเป็นเพื่อนกับใคร คนเห็นจึงน้อยกว่า ส่วนการเปิดเว็บไซต์ เป็นเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือ”
นอกจากนี้อีก 3 ข้อที่ผู้ขายออนไลน์ต้องตอบให้ได้ คือ ขายอะไร ขายใคร และขายอย่างไร เมื่อทำสำเร็จแล้ว จะเกิด 6 ช คือ ชอบ ช็อป ใช้ แชร์ และเชียร์ เคล็ดลับคือ ต้องมีตัวตน มีคนเห็น ค้นต้องเจอ ขายให้ได้ และผู้ขายต้องพยายามวัดผลลัพธ์ต่างๆ ด้วยข้อมูล
สร้างตัวตน : ต้องทำให้เชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ขณะที่ บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต พิธีกร และเจ้าของเพจ Chef book เชฟบุ๊ค บรรยายหัวข้อ “Story Telling สร้างตัวตนบนดิจิทัล คอนเทนท์” เผยเคล็ดลับการทำเพจให้ประสบความสำเร็จว่า ต้องทำเป็นงาน เช่น ทุกเช้าจะต้องทักทายลูกเพจ เพื่อ “เปิดการมองเห็น” เมื่อมีการโพสต์ขายสินค้าในเวลาต่อมา สามารถนำโพสต์เดิมมาโพสต์ซ้ำได้ เพราะในช่วงเวลาที่ต่างออกไป คนดูจะต่างกัน
นอกจากนี้จากประสบการณ์เห็นว่า ชื่อเพจดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โดยชื่อจะต้องจำง่าย เขียนง่าย ค้นหาง่าย และจะต้องโพสต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีคนดูหรือไม่ก็ตาม และการขายของออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตาม เพราะที่สำคัญกว่านั้น คือ “การทำให้เชื่อว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญ” ในด้านนั้นๆ จึงจะเกิดการซื้อ
“วิธีทำคอนเทนท์ให้มีมูลค่า ต้องทำให้เกิดการไลค์ คอมเมนท์ และการแชร์ โดยเฉพาะการคอมเมนท์ในเพจ เช่น คำถามในเพจของผมที่ว่า “ผัดกระเพราไม่ชอบให้ใส่อะไรมากที่สุด” จากคำถามนี้ เกิดคอมเมนท์มากมาย ซึ่งก็คือการเปิดการมองเห็น
หรือการไลฟ์สด เมื่อลูกค้าถาม หรือเราบอกให้ช่วยกันกด 1 ก็เกิดการปฏิสัมพันธ์
นอกจากนี้ระบบการขายต้องง่าย เพื่อให้คนตัดสินใจซื้อได้ทันที และต้องหาวิธีทำอย่างไรให้คนมาแอดไลน์ออฟฟิศเชียล เพื่อการันตีว่ามีลูกค้าอยู่ในมือ ขณะเดียวกันการยิงแอดนับว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จในการขาย”
ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งออกได้
นิตย์ชรี อุชชิน CEO และ Co Founder บริษัท ธัมบ์อินไทย จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผ่านออนไลน์และประสบความสำเร็จสูง แม้จะเผชิญกับโรคระบาดอย่างโควิด บรรยายในหัวข้อ “โตด้วยตลาดส่งออกออนไลน์” โดยระบุว่า บริษัททำธุรกิจส่งออกออนไลน์เสื้อยืดสกรีนแบบพรีออเดอร์ (ผลิตตามคำสั่งซื้อ) ผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งการทำธุรกิจในลักษณะพรีออเดอร์ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่ำ เพราะตกลงเงื่อนไขกับลูกค้าโดยให้โอนเงินมัดจำมาก่อน เมื่อผลิตแล้วก่อนส่งมอบ ก็โอนเงินที่เหลือมาอีกครั้ง เป็นต้น
เธอยังเห็นว่า “ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งออกได้” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตสินค้า แต่อาจทำตัวเองเป็นตัวแทนจำหน่าย (เทรดเดอร์) เป็นต้น
“ไปเห็นคนขายเครื่องดื่มให้พลังงานแบรนด์คนไทยในช่องทางออนไลน์ แต่เขาเป็นคนเวียดนาม แล้วแบบนี้ทำไมเราไม่กระโจนเข้าไปขายสินค้าไทยบ้าง
ขอเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน”
และนี่คือเคล็ดลับดีๆ ในการทำตลาดออนไลน์อย่างไรให้ปัง จากหลากกูรูในหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง”
นับจากนี้คือการ “ลงมือทำ” !