ทำ “โครงการเพื่อสังคม- BCG” อย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย
“กูรู” เผยเคล็ดลับการบริหารโครงการเพื่อสังคมให้บรรลุผล ผ่าน 6 กระบวนการเรียนรู้-มีส่วนร่วม ในการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 13
ในการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 13 ในโมดูลที่ 4 Participative Social Contribution BCG Project Management บริหารโครงการเพื่อสังคม – BCG อย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย ดร.นัชชา เทียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชา ผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ในการบริหารโครงการเพื่อสังคมให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น ต้องมีกระบวนการทำงานโครงการที่ต้องอาศัย “การมีส่วนร่วม” ของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน (stakeholders) ซึ่งประกอบด้วย 6 กระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วม ได้แก่
1.การบริหารโครงการคืออะไร หมายถึงขั้นตอน “การวางแผน” และ “การปฏิบัติตามแผนงาน” โครงการเพื่อสังคมขององค์กรนั้นๆ โดยย้ำว่าต้องทำเป็นกระบวนการในหลายมิติ และต้องอาศัยการมีส่วนร่วม 2.วงจรการบริหารงานเพื่อสังคม จะต้องรู้ว่า ชุมชนต้องการอะไร และออกแบบโครงการตามความเหมาะสมของความต้องการนั้น มีแผนปฏิบัติการที่ต้องติดตามต่อเนื่อง มีการประเมินผล และสุดท้ายต้องทำให้เกิดการเรียนรู้และการเติบโต ซึ่งเป็นได้ทั้งการเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาด
3.วิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการชุมชน แบ่งออกเป็น การวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน และการวิเคราะห์ความตองการของชุมชน โดยอาศัย 3 เครื่องมือ (tools) ประกอบด้วย เครื่องมือที่หนึ่ง Community Mapping หรือการระบุสภาพแวดล้อมเชิงภูมิศาสตร์ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ การนำข้อมูลหลากหลายมาบรรจุเป็นชุดเดียวกัน และอภิปรายกลุ่มถึงชุดข้อมูลที่บรรจุมานั้นมีนัยสำคัญต่อการทำโครงการอย่างไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจทำโครงการ และได้เรียนรู้อะไรจากชุดข้อมูลดังกล่าว
เครื่องมือที่สอง Interview การสัมภาษณ์ทำให้พบว่า “ปัญหาอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ปัญหา” โดยต้องสัมภาษณ์เชิงรุก และตั้งคำถามให้ทรงพลัง โดยอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า นั่นคือ ความต้องการชุมชนจริงๆ ต้องพยายามค้นหาปัญหาที่แท้จริง มากกว่า ประเมินสถานการณ์
เครื่องมือที่สาม 2i matrix คือการนำข้อมูลมาใส่ใน 2 แกน คือ แกนของผลกระทบ (Impact) และแกนของการปฏิบัติการ (Implement) เพื่อจัดอันดับความต้องการ และโอกาสความสำเร็จ จากนั้นจึงมาอภิปรายเลือกประเด็นที่ชุมชนต้องการ และมีโอกาสสำเร็จสูง (high Impact and high Implement)
4.จัดทำโครงร่างโครงการ ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาที่ได้จากเครื่องมือต่างๆ อาทิ สภาพปัญหา สิ่งที่สะท้อนสภาพปัญหา นำหลักการ BCG มาใช้อย่างไร เป็นต้น 5. การจัดทำระบบนิเวศทางธุรกิจ และกลไกสนับสนุน โดยอาศัยแผนภูมิ 6 เหลี่ยม ได้แก่ แหล่งทุน พันธมิตรเครือข่าย เครือข่ายเพื่อสังคม ทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรวิชาชีพการวิจัยและพัฒนา และรัฐองค์กรท้องถิ่น และ 6.การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และการประเมินผลโครงการ โดยอาศัยตารางแนวคิดเชิงตรรกะ ผ่านการระดมความคิดเห็น ได้แก่ เราต้องการไปถึงจุดแห่งความสำเร็จตรงไหน (เป้าหมายและวัตถุประสงค์) , เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร (แผนงาน/กิจกรรม) ,เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไปถึงจุดนั้น (ตัวชี้วัดความสำเร็จ) , เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว เราเห็นผลสำเร็จอะไรบ้าง (ผลลัพธ์) และมีอุปสรรคอะไรบ้างที่เราอาจเผชิญระหว่างทาง (ความเสี่ยง)