กล่าวสำหรับแนวคิดเรื่อง “การทำธุรกิจเพื่อสังคม” และ “การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม” กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เพราะนอกเหนือจากยอดตัวเลขที่เป็น “เม็ดเงิน” แล้ว ผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังมีกำไรเป็น “คุณภาพชีวิตของคนในสังคม” อีกด้วย หากจะเรียกว่าได้สองเด้งได้ทั้งเงินได้ทั้งความสุขใจ ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงมากนัก
มีหลายคนอาจจะสงสัยว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมคืออะไร ก็ต้องบอกว่าคือ องค์กรธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร ตรงข้ามกับเอ็นจีโอแบบหน้ามือกับหลังมือ แต่กำไรนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานและมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคมในรูปแบบต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยกำไรที่วัดกันจาก คุณภาพชีวิต และสังคมที่ดีขึ้น ฯลฯ
เหนือสิ่งอื่นใด ยังเป็นกำไรที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นกำไรของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ผู้บริโภค บริษัท คนงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
หากจะบอกว่าใครคือผู้ประกอบการรายแรกๆ ของโลกก็น่าจะเป็น The Body Shop ที่ทำธุรกิจโดยการที่คัดสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติ และไม่ทดลองสินค้ากับสัตว์ มีการซื้อวัตถุดิบด้วยระบบซื้อด้วยราคาที่ยุติธรรม (Fair trade)
หรือกรณี มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ริเริ่มธนาคารคนจนในบังกลาเทศ ก็ถือเป็นผู้ประกอบการสังคมระดับปรมาจารย์อีกราย โดยยูนูสได้ปล่อยเงินกู้เพื่อให้คนที่ยากจนเกินกว่าจะกู้เงินจากธนาคารได้มีเงินทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ โครงการดังกล่าวของเขาได้ช่วยสร้างฐานะให้กับชาวบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก ถือว่าได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากระดับรากหญ้า
ในบ้านเรากระแสธุรกิจเพื่อสังคมกำลังมาแรง มีหลายกรณีที่น่าสนใจ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 ไปศึกษาดูงานที่ ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจเพื่อสังคมของปตท. หรือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่ไปร่วมกับอบต. ท่ามะนาว ทำโครงการก๊าซชีวะภาพจากขี้หมู ที่เดิมเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะฟาร์มหมูได้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน แต่เมื่อนำขี้หมูมาทำก๊าซชีวภาพมาใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม นอกจากแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นแล้วยังได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ในการผลิตก๊าซชีวะภาพจากฟาร์มหมู ของหมู่ 2 ตำบลท่ามะนาว สามารถลดการใช้ก๊าชหุงต้ม 530 ถังต่อปี ใน 130 ครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานและสร้างรายได้ กับคนท่ามะนาว 121,360 บาทต่อปี ลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ก๊าช 1,860 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดก๊าชเรือนกระจกได้ซึ่งตำบลท่ามะนาวมีความก้าวหน้าถึงขั้นขายคาร์บอนเครดิตให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยและกำลังเจรจาขายให้กับเยอรมันอีกด้วย ปัจจุบันตำบลท่ามะนาวมีฟาร์มหมูที่เข้าโครงการนี้ 20 ฟาร์ม
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในกรณีของกาแฟวาวี ที่ไปส่งเสริมเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมี ตั้งศูนย์แปรรูปทำฟาร์มออร์แกนิกซึ่งได้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำ 3 ปี ทำให้ได้คาแรกเตอร์ดั้งเดิมของกาแฟกลับคืนมาลูกค้าก็ชมว่ากาแฟรสชาติดีกว่าที่อื่น
ตอนเริ่มทำรวมกลุ่มทำเรื่องนี้ใหม่ๆ มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 50 คน แต่เมื่อทำจริงๆ ในที่สุดเหลือเกษตรกรแค่ 3 คนเท่านั้น เพราะทำแบบนี้เหนื่อย ในเมื่อเหลือแค่ 3 ราย เจ้าของบริษัทกาแฟวาวีก็เพิ่มค่าตอบแทนจากราคาจากกระสอบละ 100 บาท เป็น 150 บาท
นอกจากผลตอบแทนแล้วสิ่งที่ชาวบ้านได้ตามมาคือเจ็บป่วยเขาน้อยลง ไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมีสุดท้ายได้คาแรกเตอร์กาแฟแบบดั้งเดิมกลับมา ลูกค้าก็กลับมาหาเป็นการพลิกกลยุทธ์การตลาด ต่างชาติก็มาดูงาน อนาคตต้องขยายเครือข่าย นอกจากนี้ยังรับซื้อกาแฟออร์แกนิคจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าปกติ 20-30%
อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีเรือนไหมใบหม่อนที่ไปตั้งโรงงานในชุมชน ให้คนในชุมชนมีงานทำหรือให้ชาวบ้านรับงานไปทำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีอะไรทำ เมื่อเอางานไปสู่ชุมชนทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ไม่ต้องคอยลูกหลายยื่นเงินทองให้ ได้สังคมภายนอกพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน
เมื่อได้ทำงาน ทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น ไม่ป่วยออดๆ แอดๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา แต่ถ้ารวมศูนย์ในเมือง เกิดปัญหาความอบอุ่นในครอบครัว ลูกเลิกโรงเรียนมาไม่เจอพ่อแม่ขาดความอบอุ่น แต่เอางานไปสู่ชุมชน เด็กเลิกเรียนกลับมาเจอหน้าพ่อแม่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา อีกอย่างงานของเราเป็นเรื่องภูมิปัญญาเมื่อเด็กๆ เห็นพ่อแม่ทำงานทุกวันก็ได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาในอนาคต
จะเห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมถือว่า “วิน วิน” ทุกฝ่ายผู้ประกอบการก็ยังมีกำไรเหมือนเดิมแต่คนในชุมชนก็ได้ประโยชน์ตามมาด้วย
นี่แค่เพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งในบ้านเรามีหลายๆ องค์กรที่หันมาใส่ใจกับเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม และกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ