‘ไทยแลนด์แบมบู’ นวัตกรรมไม้ไผ่ เชื่อมชุมชน
“ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ นอกจากไม่อยากทำ”
คำพูดฉะฉานที่สะท้อนความเป็นหญิงแกร่งผู้มุ่งมั่นของ “เสาวลักษณ์ ทิพย์เจริญ” ผู้ก่อตั้ง Thailandbamboo ภายใต้บริษัทพิมธา จำกัด กับกิจการ “แปรรูปไม้ไผ่เพื่อการตกแต่งและก่อสร้าง” โดยใช้ระบบป้องกันมอดในไม้ไผ่ด้วยการอัดน้ำยาแบบสุญญากาศ หรือ Vacuum เป็นรายแรกและรายเดียวในไทย
นวัตกรรมดังกล่าว นอกจากจะช่วย “ปลดล็อค” ปัญหาด้านการผลิตและการตลาด ทำให้มีความต้องการไม้ไผ่สูงขึ้นแล้ว ยังช่วย “ปลดล็อค” ให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนปลูกไผ่ หรือคนงานที่โรงงานในจ.ปราจีนบุรี ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งยังเป็นระบบที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค เพราะใช้น้ำยาในเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไร้กลิ่น และมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยใช้ระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมงสามารถอัดไม้ได้หลายร้อยลำ น้ำยาเข้าเนื้อได้ลึกทั่วถึง รวมทั้งมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ทำให้ได้ไม้ไผ่ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในไทย
ด้วยนวัตกรรมธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวธุรกิจ ชุมชน และผู้บริโภค Thaialndbamboo จึงเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีอีกราย ที่เหมาะสมกับรางวัล “เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ” ซึ่งมอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ในปี 2566 ภายใต้เกณฑ์ดำเนินธุรกิจตามหลักสัมมาชีพ มีธรรมาภิบาล มีความสามารถทางธุรกิจ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
เสาวลักษณ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ในการเริ่มต้นธุรกิจนี้ว่า เกิดจาก “โซฟา” เพียงตัวเดียว
“ถามว่าเริ่มต้นธุรกิจยังไง ต้องตอบว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จากที่เราไม่มีรู้เรื่องไม้ไผ่เลย แต่บังเอิญไปเห็นโซฟาที่ทำจากไม้ไผ่ตัวหนึ่งสวยงามมาก ทำให้คิดต่อไปว่า สามารถนำไม้ไผ่ไปทำอะไรได้อีกมาก จึงเริ่มพัฒนาต่อยอดจากความคิดนี้ จากการซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้านไปขายต่อ จนนำไปสู่การตั้งโรงงานดำเนินธุรกิจจนทุกวันนี้”
ระหว่างที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไปอยู่นั้น “เสาวลักษณ์” พบปัญหาของผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ว่า สิ่งที่ยังขาดคือ “คุณภาพของผลิตภัณฑ์” เพราะไม้ไผ่มีมอด ซึ่งเป็น pain point ที่ต้องหาหนทางแก้ไข
เรียกว่า “มอดตัวเดียว กินเรียบหมด” เธอเปรียบเปรย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม “ระบบป้องกันมอดในไม้ไผ่ด้วยการอัดน้ำยาแบบสุญญากาศ” ดังกล่าว
“จุดเด่นของเราคือ การพัฒนาต่อยอดและเป็นเจ้าแรกเจ้าเดียว ที่นำระบบแท็งค์อัดน้ำยามาใช้ อัดน้ำยาป้องกันมอดกับไม้ไผ่ โดยมีหลักการทำงานคือ ใส่ไม้ไผ่เข้าไปในถังขนาดใหญ่ จากนั้นดูดอากาศออกจากเนื้อไม้ แล้วจึงอัดน้ำยาด้วยปั๊มแรงดันสูง (High pressure pump) เข้าไปแทนที่
ด้วยวิธีนี้ จะทำให้มอดหรือแมลงใดๆ ก็ตามที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ตายหมดในทันที ที่สำคัญได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากไม่มีมอด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การต่อยอดนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างมากมาย เป็นที่ต้องการของตลาด”
ปัจจุบันไม้ไผ่ที่ผ่านนวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และใช้เป็นวัสดุก่อสร้างในโครงการอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน โรงแรม คาเฟ่) เช่น พื้นปาร์เกต์ไม้ไผ่ ผนังลามิเนตไม้ไผ่ พื้นภายใน-นอกอาคาร ได้เป็นอย่างดีจากคุณสมบัติของไม้ไผ่ที่มีความแข็งแรงแต่ยืดหยุ่น สามารถดัดโค้งดัดงอได้ดี และแปรรูปได้หลากหลาย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีมงานที่ชำนาญงานไม้ไผ่ รวมทั้งมีประสบการณ์งานก่อสร้างในเส้นทางไม้ไผ่กว่า 20 ปี จึงถือเป็นโอกาสและศักยภาพของบริษัท
ในแง่ของการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม ผู้ก่อตั้ง Thailandbamboo ขยายความว่า ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการซื้อไม้ไผ่จากในชุมชน ขยับไปสู่การซื้อไม้ไผ่จากแหล่งปลูกทั่วประเทศ
“ตอนนี้เราซื้อไม้ไผ่จากทั่วประเทศและเรายังไปสอนชุมชนที่สนใจแปรรูปไม้ไผ่แต่ยังขาดความรู้ เช่น เทคนิคการทำแก้วน้ำจากไม้ไผ่ป้องกันการแตกร้าว หรือการกลึงไม้ไผ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น และเชื่อมโยงกับหลายชุมชนเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่”
เสาวลักษณ์ ยังบอกว่า หลังจากได้รับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ เธอแน่วแน่ที่จะร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพทำโครงการพัฒนาชุมชนให้ความองค์ความรู้ด้านไม้ไผ่อย่างต่อเนื่อง
“รางวัลที่ได้สร้างมูลค่ามหาศาล ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเดียวในพื้นที่จ.ปราจีนบุรีเท่านั้น แต่หมายถึงทั่วประเทศ” เธออุบโปรเจคลับ
และนี่คือ ความในใจของสาวแกร่งแห่ง Thailandbamboo ธุรกิจที่เกิดจากการฉุกคิด จนสามารถต่อยอดธุรกิจได้มหาศาล ด้วยนวัตกรรม
ทั้งยังช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้กับชุมชนรอบข้าง สู่ระดับประเทศ ได้อย่างน่าทึ่ง