เกาะติดเทรนด์โลก ด้วย ‘BCG’ กรณีศึกษา ‘ไทยเบฟ’
กรณีศึกษาจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ บริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในอาเซียน กับการผลักดันเศรษฐกิจ BCG ตลอดซัพพลายเชน เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ผู้คนทั่วโลก ต้องหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบโลกร้อน เพราะเราทุกคนล้วนมีส่วนเป็นต้นเหตุให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น
ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ในการจัดอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 13 ภายใต้ธีม BCG Model in Action จึงมีผู้บริหารจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติทั้งเพื่อลดโลกร้อน และการนำหลักคิดด้าน BCG มาปรับใช้
หนึ่งในนั้น คือ “ต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการ และกรรมการบริหาร บริษัท ซี.เอ.ไอ. จำกัด หรือ C asean ที่ได้ให้ข้อมูลในประเด็น “ไทยเบฟ ร่วมสร้างทุกห่วงโซ่ BCG สู่อาเซียน”
“ต้องใจ” เล่าถึงการดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อนของไทยเบฟอย่างต่อเนื่องว่า ในทุกห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของการผลิตอาหารและเครื่องดื่มในไทยและอาเซียน รวมถึงฐานการผลิตในจีนและสก็อตแลนด์ ไทยเบฟจะใช้หลัก “การมีส่วนร่วม” โดยเฉพาะการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG อันประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มา “ทำให้โลกร้อนช้าลง”
“BCG จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ร่วมกันทำทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไทยเบฟทำเรื่องนี้ในระดับอาเซียน ร่วมกับซัพพลายเชน พันธมิตร สาธารณชน อยากไปได้ไกล ไปได้ยั่งยืน ต้องทำงานร่วมกัน
และทุกครั้งที่พูดถึงความยั่งยืน คือ การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ สร้างภูมิคุ้มกัน ความมีเหตุมีผล ควบคู่ด้วยความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นหัวใจความยั่งยืนของไทยเบฟ”
ผนึก 3 ภาคส่วนเคลื่อน BCG
“ต้องใจ” ขยายความถึงดำเนินการเรื่องนี้ผ่าน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ตัวบริษัท การร่วมงานกับพันธมิตร และสาธารณชน ว่า ในส่วนของบริษัทจะดำเนินการตั้งแต่กระบวนการซื้อวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง และได้ร่วมกับพันธมิตร ซัพพลายเออร์ ผู้ค้า เครือข่ายภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) ทำงานด้านชุมชน สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาล มานานกว่า 10 ปี เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับสาธารณชนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยเบฟได้ประกาศเป้าหมายว่า จะให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG –Environmental Social Governance ) โดยในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ไทยเบฟมีเป้าหมาย จะต้องเป็น Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ภายในปี 2040 และต้องดำเนินการในเรื่องพลังงานสะอาด การจำกัดของเสียในโรงงาน การเปลี่ยนรถขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงสันดาป สู่พลังงานไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
เช่นเดียวกับเรื่อง “น้ำ” ต้องสร้างกระบวนการคืนน้ำที่ปล่อยสู่แม่น้ำลำคลอง ให้ครบ 100% ภายในปี 2040 เช่นกัน
ด้านสังคม (Social) คือ การใส่ใจพนักงาน เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ การทำงานร่วมกับชุมชนใน 6 ด้าน คือ การศึกษา กีฬา การพัฒนาชุมชน สุขภาพ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมชุมชน
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) สิ่งแรกที่ต้องทำคือการมีมาตรฐานการบริหารงานที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่เป็นฐานการผลิต รวมถึงบริษัทในเครือ ที่มีซัพพลายเออร์กว่า 2,000 บริษัท เพื่อช่วยผลักดันซัพพลายเออร์ให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน
ไทยเบฟ กับ BCG
แนวทาง ESG ถือว่า สอดคล้องกับเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยเบฟดำเนินการ เช่น ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ไทยเบฟได้นำวัตถุดิบทางการเกษตร อาทิ กากน้ำตาล ข้าวมอลต์ มาใส่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้า ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตสินค้า ก็ต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“โรงงานที่เราไปตั้ง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กระทบต่อสัตว์หรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และมีแผนจัดการในเรื่องนี้”
ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ไทยเบฟทำเรื่องการนำบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้ซ้ำ (recycle) โดยปัจจุบันมีจุดรับซื้อขวดแก้วกว่า 40 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บขวดแก้วที่ร้านค้า กล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์ก็นำกลับมาใช้อีก, นำน้ำมันที่ใช้แล้วมาทำเป็นไบโอดีเซล, กากที่เหลือใช้ (waste) จากการผลิตเบียร์นำไปเป็นอาหารปลา นำไปเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือนำไปทำปุ๋ยให้กับเกษตรกร เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจสีเขียว ไทยเบฟส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และพยายามผลิตไฟฟ้าใช้เอง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เป็นหลังคาโรงงาน แผงโซลาร์ลอยน้ำ การนำขี้เถ้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังร่วมกับพันธมิตร อาทิเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเพื่อฟื้นฟูป่าชุมชน โดยปีที่ผ่านมาสามารถฟื้นฟูป่าได้กว่า 32,000 ไร่ ทำงานร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เพื่อคำนวณน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตคืนกลับสู่ชุมชนเท่ากับจำนวนที่นำมาใช้ ซึ่งขณะนี้สามารถคืนน้ำได้ 50% ของที่ใช้ไป และมีเป้าหมายจะไปให้ถึงสัดส่วน 100% ในอนาคต ร่วมกับพันธมิตรทางสังคม โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง และร่วมกับเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำเรื่องการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
ด้านสาธารณชน ไทยเบฟได้จัดทำรายการทีวีเพื่อให้เข้าถึงคนหมู่มาก นำมาซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม เข้าใจกลไกการพัฒนาที่ยั่งยืนและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัทสตาร์ทอัพให้สร้างธุรกิจใหม่บนฐานของนวัตกรรม ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเฟ้นหานักธุรกิจที่ต้องการแบ่งปันกับสังคม
นอกจากนี้ยังเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างกลไกนวัตกรรมอาหารนานาชาติ อาหารแห่งอนาคต ร่วมกับสาธารณชนจัดนิทรรศการด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (SX Sustainability Expo) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นในปลายเดือนกันยายนนี้
เป็นความพยายามของไทยเบฟ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของโลกและของธุรกิจ