เกาะเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว “BCG” ลุยตลาดส่งออกด้วย “ดิจิทัล”
เข้าสู่โมดูลที่ 3 : Go Digital-Go Global Market สำหรับหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change –LFC) รุ่นที่ 13 (25ส.ค.66) เนื้อหาเข้มข้นที่ว่าด้วยเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำธุรกิจการค้า โดยเฉพาะในตลาดโลก ที่มีขนาดตลาดและขนาดของโอกาสใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างมาก เป็นน่านน้ำปลาชุม ทว่ามีคู่แข่งสูง ผู้ประกอบการจึงต้องหา “ตัวช่วย” เสริมศักยภาพทางการตลาดที่ใช่ในยุคนี้ นั่นก็คือ “ดิจิทัล”ไปพร้อมกับการสร้างมาตรฐานสู่การส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ที่สำคัญต้องออกจากคอมฟอร์ทโซน มองตลาดส่งออกเป็นโอกาส
“พรวิช ศิลาอ่อน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บรรยายหัวข้อ “สร้างมาตรฐานสู่การส่งออก” ระบุว่า กระแสรักษ์โลกหรือโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ถือเป็นเทรนด์ระดับโลกที่นานาประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หลังเผชิญปัญหาโลกร้อน มลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะล้นโลก ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
พฤติกรรมการบริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนไปดังกล่าว เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวใช้กลยุทธ์ BCG เพื่อเชื่อมโยงสินค้า BCG สู่ตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทย ที่มองว่ามีศักยภาพในการผลิตสินค้า BCG ให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
“BCG เป็นเทรนด์มาแรงในโลกการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องยึดหลักตลาดนำการผลิต ไม่มองเป็นอุปสรรค แต่ต้องมองให้เป็นโอกาสการค้า ผู้ประกอบการไทยไม่แพ้ใครในโลก ด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเอื้ออารี และภูมิปัญญาไทย มีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของผู้ประกอบไทย ถ้าเรามีกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เราจะไปสู่ดวงดาวได้ทุกคน” พรวิช กล่าว
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK บรรยายหัวข้อ “ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ วิสาหกิจชุมชนของ Exim Bank” กล่าวว่า เอสเอ็มอีไทยต้องออกจากคอมฟอร์ทโซน โดยเริ่มที่จะทำตลาดส่งออกมากขึ้น จากที่ผ่านมาที่เน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก และเผชิญปัญหามากเนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มอิ่มตัว ตลาดเล็กมีประชากรเพียง 70 ล้านคน ขณะที่อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) โตต่ำ โดยประเมินว่าในระยะ 5 ปีจากนี้ (2567-2571) จะเติบโตเพียง 3.2% ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
“แลนด์สเคปของเอสเอ็มอีไทย ทำตลาดส่งออกเพียง 1% อีก 99 % ยังขายในประเทศ จึงอยากชวนเอสเอ็มอีออกจากคอมฟอร์ทโซน ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก เพื่อต่อยอดสู่ตลาดโลก โดยสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเป็น BCG ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ รวมไปถึงการทำตลาดส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะตลาดในจีน ที่ผู้หญิงจีนช้อปออนไลน์เท่ากับจีดีพีของอินเดีย แต่ต้องผลิตสินค้าและแพคเก็จจิ้งให้เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเน้นไปที่ตลาดเวชสำอางค์ เป็นต้น” ดร.รักษ์ กล่าว