skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ล็อกดาวน์รอหวังได้วัคซีนหยุดเชื้อ

ล็อกดาวน์รอหวังได้วัคซีนหยุดเชื้อ

ล็อกดาวน์รอหวังได้วัคซีนหยุดเชื้อ

 

 

รัฐบาลเอาแต่โหมปลุกใจประชาชนให้สู้กับการระบาดโควิดขั้นวิกฤต เสียงกระตุ้นเร้าเท่ๆแบบเดิมๆว่า “ประเทศไทยชนะ” พร้อมร้องขอคนไทยเว้นระยะห่าง กักตัวอยู่บ้านช่วยรัฐ ตรงกันข้ามรัฐกลับอืดอาดไม่ทำอะไรให้ประชาชนคลายกังวลกับโควิดแพร่เชื้อ พฤติกรรมรัฐเช่นนี้จึงทำให้หมดความเชื่อถือ ไม่เหลือความเชื่อมั่นแม้แต่น้อย

มาตรการรัฐบาลนำมาใช้ทุกครั้งวนลูปซ้ำรอยราวสิ้นหนทาง เอาแต่วนเวียนแก้ปัญหาเป็นวันๆ โดยสั่งล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสกัดการแพร่เชื้อ พร้อมตอกย้ำรีบจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดสให้เพียงพอฉีด 2 โดสต่อคนครบประชากร 70 ล้านคน แล้วตามด้วยเร่งตรวจหาเชื้อ แยกผู้ป่วยไปเฝ้าดูอาการ หรือส่งรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งไม่มีพอกับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นแทบทุกวัน

อีกทั้ง ภาพผู้ติดเชื้อนอนกักตัวรักษาที่บ้านตามยถากรรม ร้องโอดครวญผ่านสื่อวิงวอนขอความช่วยเหลือ บางส่วนนั่ง ยืน นอนริมฟุตบาทจองคิวตรวจเชื้อ เท่ากับประจานรัฐล้มเหลว บ่งบอกถึงความอนาถเวทนากับรัฐจนปัญญาของระบบสาธารณสุขไทย

 

            

 

ล็อกดาวน์-ล็อกวิกฤตติดเชื้อ!!

มาตรการควบคุมการระบาดโควิดใช้ล็อกดาวน์เป็นเครื่องมือสำคัญ เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ประกาศล็อกดาวน์ 14 วันในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 6 จังหวัด กับอีก 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา แต่ไม่ได้ผล เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับหลักหมื่นรายและเสียชีวิตพุ่งเกินร้อยศพ จนทำผู้คนตกใจแตกตื่น

ในช่วง 7 วันนับแต่ล็อกดาวน์เมื่อ 12 ก.ค.-18 ก.ค.นั้น ข้อมูลจาก ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตเพิ่มพรวดจนน่าใจหายเพราะยอดติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศรวม 67,015 คน เฉลี่ยวันละ 9,576 คนและมีผู้เสียชีวิตจำนวน 630 คน เฉลี่ยวันละ 90 คน เผาศพจนเมรุไฟไหม้

อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ล็อกดาวน์นั้น เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ติดเชื้อใหม่ในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 6 จังหวัดทั้ง กทม.-ปริมณฑล มีมากเกือบครึ่ง คือ 32,399 คน แบ่งเป็น กทม. 16,249 คน และ ปริมณฑล 5 จังหวัด 16,150 คน ตัวเลขเช่นนี้คงเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า โควิดระบาดเข้าขั้นวิกฤตและการประกาศล็อกดาวน์-สั่งเคอร์ฟิว ยังชะลอเชื้อไว้ไม่ไหว

 

 

 

ล่าสุดเมื่อ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลงัดมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวมาใช้เป็นดาบสองซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง โดย ศบค. ตั้งเป้าจะคุมเชื้อโควิดให้อยู่หมัดและชะลอผู้ติดเชื้อเหลือวันละ 1,000-2,000 คน  แต่ที่น่าสนใจคือ ประกาศการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวครั้งนี้ มีสาระถึง 11 ข้อ เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 20 ก.ค. ถึง 2 ส.ค. 2564 รวมเวลา 14 วัน (ตามเดิม) แต่เนื้อหาแทบไม่แตกต่างจากการล็อกดาวน์เมื่อ 12 ก.ค. เพราะโดยทั่วไปเท่ากับเป็นการตอกย้ำการเปิด-ปิดร้านอาหาร (ห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน) ร้านสะดวกซื้อ-ตลาดสดปิดขายตั้งแต่เวลา 20.00 น.-04.00 น. ห้ามรวมกลุ่ม โรงแรมงดจัดเลี้ยง ประชุม ขอความร่วมมือประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่จำเป็นอย่าเดินทาง อีกทั้งสั่งเคอร์ฟิวเวลา 21.00 น.-04.00 น.

สิ่งที่เพิ่มมาใหม่ในประกาศล็อกดาวน์ล่าสุดได้เพิ่ม 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และอยุธยา เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดและคุมเข้มงวด ดังนั้นเมื่อรวมกับการล็อกดาวน์เมื่อ 12 ก.ค. จึงมีพื้นที่บังคับใช้จาก 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด นอกจากนี้ ยังจำกัดระบบขนส่งสาธารณะให้มีผู้โดยสารได้แค่ 50%

อีกทั้ง การล็อกดาวน์ครั้งใหม่ เพียงโหมข่มขู่บังคับประชาชน ไร้มาตรการลงโทษตามกฎหมาย ยกเว้นเฉพาะข้อ 4 การฝ่าฝืนเคอร์ฟิวจึงรับโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกนั้นเพียงร้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่บ้านในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันเดินทางเท่าที่จำเป็น พร้อมๆกับขอให้ทำงานอยู่บ้าน (WFH) รวมถึงห้ามเครื่องบินขึ้นลงในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 13 จังหวัด

 

 

ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์ใหม่ เป็นแค่การตอกย้ำคำสั่งเข้มข้น แต่ยิ่งเพิ่มให้ “ประชาชนเจ็บแต่ไม่จบ”ซ้ำซากไปอีก เนื่องจากคำสั่งล็อกดาวน์ไม่ได้พุ่งเป้าปิดโรงงาน ซึ่งผุดขึ้นเป็นแหล่งคลัสเตอร์แพร่เชื้อใหม่เพิ่มทุกวันทั่วประเทศ และข้อมูลเมื่อ 18 ก.ค. พบอีก 8 แห่ง มีผู้ติดเชื้อรวม 276 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นโรงงาน บริษัท และแคมป์คนงานก่อสร้าง

ด้วยเหตุนี้ความมุ่งหวังควบคุม ชะลอ และหยุดหยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด อาจไม่บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐต้องการ ผู้ติดเชื้อใหม่ยังไม่คลี่คลายลง กระทั่งข้อมูลล่าสุดเมื่อ 19 ก.ค. มีติดเชื้อ 11,784 ราย และเสียชีวิต 81 ศพ ดังนั้นยอดติดเชื้อใหม่ระดับหลักหมื่นส่อแนวโน้มตามหลอนคนไทยได้อีกนาน จนกว่าจะมีวัคซีนเพียงพอมาฉีดสกัดการระบาด

 

วัคซีน: สะเปะสะปะเฝ้าแต่รอ

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า วัคซีนเป็นหนทางเลือกที่จำเป็นต่อการสกัดเชื้อโควิด แต่การจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนหลักและทางเลือกยังสะท้อนอาการสะเปะสะปะของรัฐบาล พร้อมกับความยุ่งเหยิงที่ผู้รู้ระดับ “หมอ” อวดแนวคิดข่มกันเป็นรายวัน ส่วนประชาชนได้แต่รอคิวฉีดวัคซีน ซึ่งถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะรัฐมีบริการให้ไม่พอกับความต้องการ

กล่าวเฉพาะวัคซีนหลัก รัฐบาลโหมโฆษณาว่า เตรียมจัดหาไว้ถึง 150 ล้านโดสจากหลากหลายยี่ห้อที่มีอยู่ในตลาดโลก แม้รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนในยามวิตกทุกข์กังวลไปทั่วหัวระแหงก็ตาม แต่ภาพความจริงคือ ขณะนี้ไทยมีวัคซีนหลักเพียง “แอสตร้าเซก้าและซิโนแวค” เท่านั้น ส่วนยี่ห้อการผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA ได้แต่รอด้วยลมหายใจค่อยแผ่วเบาลง

ตามข้อมูลจากรัฐได้โหมปลุกปลอบว่า ไทยสั่งจองและจ่ายเงินกว่า 6 พันล้านบาทซื้อแอสตร้าฯจำนวน 61 ล้านโดสมาตั้งแต่ปลายปี 2563 พร้อมประกาศแผนการจัดการให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ในปี 2564 จะเริ่มส่งมอบ มิ.ย.ส่ง 6 ล้านโดส และ ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส แล้วอีก 5 ล้านโดสใน ธ.ค.

เอาเข้าจริง ใน มิ.ย.ที่ผ่านมา แอสตร้าฯ ทำให้ระบบการบริหารฉีดวัคซีนกับประชาชนรวนเรอย่างยิ่ง โดยส่งมอบให้เพียง 5 ล้านโดสเศษเท่านั้น ส่วน ก.ค.ที่มียอดส่งมอบ 10 ล้านโดส ข้อมูลถึงวันที่ 17 ก.ค. ยังไม่มีแอสตร้าฯ ที่สั่งซื้อไว้ถึงไทยสักหยด มีเพียงแอสตร้าฯ บริจาคจำนวน 1,053,090 โดสจากรัฐบาลญี่ปุ่นส่งมาให้ไทยเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุแอสตร้าฯ ทยอยมาว่า วันที่ 3 ก.ค.เข้ามา 590,000 โดส และ 9 ก.ค. มาอีก 555,400 โดส แล้ว 16 ก.ค. ได้เพิ่มอีก 505,700 โดส พร้อมย้ำยอดรวม มีถึงกว่า 8,193,500 โดส (นับรวมยอดการบริจาคด้วย) สำหรับซิโนแวค ส่งมาไทยแล้ว 12.5 ล้านโดส โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะจัดหาเพิ่มเป็น 47.5 ล้านโดส

ตัวเลขการบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทยได้ซ่อนความกังวลวิตกอย่างยิ่ง เนื่องจากไทยตั้งโรงงานผลิตแอสตร้าฯ เอง แต่กลับรับบริจาค ดังนั้น คำถามง่ายๆ คือ ไทยจะมีวัคซีนพอกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่? แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พูดปลอบซ้ำอีกครั้งด้วยความหวังตามกระแสเรียกร้อง ว่า ไทยจะซื้อ “ไฟเซอร์” วัคซีน mRNA ถึง 50 ล้านโดสมาฉีดกระตุ้นให้ประชาชน พร้อมกับจะออกคำสั่งห้ามส่งออกแอสตร้าฯ จากไทยไปต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่า มาตรการเช่นนี้ ไทยจะมีวัคซีนเพียงพอแน่ อย่าได้เป็นห่วงสิ่งใด แค่คำปลอบปลุกหวังเช่นนี้ส่อก่อเกิดปัญหาตามมาอีกเช่นเคย

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐยังมีมาตรการสูตร “ฉีดวัคซีนผสมระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าฯ”หรือเรียกให้เท่ว่า “วัคซีนไฮบริด” อาจเป็นทางรอดเพื่อแก้ปัญหาแอสตร้าฯมาช้า และส่อยื้อเวลาให้มาถึงในจำนวน 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่จะเป็นวันไหนก็ต้องรอเท่านั้น

ส่วนวัคซีนหลักยื่ห้อไฟเซอร์ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดซื้อเพิ่มจาก 20 ล้านโดสเป็น 50 ล้านโดส รวมทั้ง “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” อีก 5 ล้านโดสนั้น ขณะนี้ยังมาไม่ถึงไทย รัฐบาลบอกให้รอ เพราะคาดว่า จะมีการส่งมอบในไตรมาส 4 คือ ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ประชาชนคงต้องรอคอยกันตามเดิม

ขณะที่วัคซีนทางเลือก คือ ซิโนฟาร์ม ที่สถาบันจุฬาภรณ์ฯ สั่งมา 2 ล้านโดสส่งมอบถึงไทยแล้ว ข้อมูลเมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมาใช้ฉีดเข็มแรกไปแล้วกว่า 3 แสนโดส ยังเหลืออีกประมาณ 1.6 ล้านโดส อีกทั้งโมเดอร์นา ที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม 5 ล้านโดส ยังต้องรออีก คาดมาถึงไทยในไตรมาส 4 ของปี 2564 เช่นกัน

รวมความแล้ว ข้อมูลถึงวันที่ 17 ก.ค. 2564 ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 14,130,489 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 10,697,578 คน หรือเท่ากับ 16.2% ของประชากร และ เข็มสอง 3,432,911 คน หรือเท่ากับ 5.2% ของประชากร โดยสัปดาห์ล่าสุด (11 กค.-17 ก.ค.) มีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 250,706 โดส

หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่เป็นจังหวัดเสี่ยงโควิด ฉีดเข็มแรกได้กว่า 5 ล้านโดสคิดเป็น 34.6% และเข็มสองเกือบ 1.4 ล้านโดสคิดเป็น 9.4% ของประชากรรวมประมาณ 14.8 ล้านคน ซึ่งนับว่าน้อยเอามากๆ เท่ากับสะท้อนถึงผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีพุ่งต่อเนื่อง

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะสั่งมาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นซ้ำรอยอีกก็ตาม แต่ประเมินได้ว่า นั่นเป็นเพียงล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาดเชื้อโควิด และยื้อเวลารอวัคซีนให้มีมากถึงขั้นเต็มโรงพยาบาล ได้ฉีดเต็มแขนประชาชน ถึงเมื่อนั้น คงไม่มีประกาศเลื่อนคิวฉีดกันจนจำเจอีก

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top