skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ชุมชนบ้านบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร “เส้นทางมหาสมุทรแห่งภูมิปัญญา”
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

ชุมชนบ้านบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร “เส้นทางมหาสมุทรแห่งภูมิปัญญา”

ชุมชนบ้านบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร “เส้นทางมหาสมุทรแห่งภูมิปัญญา”

ผมมีโอกาสได้เข้าอบรมคอร์ส ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Leadership for Change ของมูลนิธิสัมมาชีพ รุ่นนี้เป็นรุ่น 11 ซึ่งมีผู้เข้าอบรบเกือบหนึ่งร้อยคน นอกจากได้เรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ในหลักสูตรยังให้ลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชุนแล้วนำข้อมูลกลับมานำเสนอแก่ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการในอาทิตย์สุดท้ายก่อนจบการอบรม

การอบรมใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 เดือนกว่า การแบ่งกลุ่มลงพื้นที่ออกเป็น 5 พื้นที่  5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดชุมพร จังหวัดนครพนม และจังหวัดปราจีนบุรี ผมเข้ากลุ่มที่เดินทางไปจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นจังหวัดซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้ามว่าเป็นเพียงทางผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ

 

วันแรกหลังจากลงเครื่องบินไปจังหวัดชุมพร เราได้เดินทางไปกราบสักการะศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่แรก ต่อจากนั้นเดินทางยังที่พักโฮมสเตย์บ้านไม้ชายคลอง ได้รับการต้อนรับจากคุณสมโชค พันธุ์รัตน์ หรือที่เรียกว่า พี่น้องแต่ในทีมเราเรียก “พี่โชค” ซึ่งมีชื่อเดียวกับผม พี่โชคนี่เป็นประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองบางสน จังหวัดชุมพร เป็นคนที่มีอัธยาศัยเป็นกันเองมากๆ มีความมุ่งมั่นที่อยากอนุรักษ์ผืนป่าและสิ่งแวดล้อมของชุมชน พี่โชคเล่าว่าประชาชนที่นี่กว่า 80% ประกอบอาชีพประมง ชุมชนบางสนเริ่มการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 และเริ่มทำอย่างเอาจริงเอาจังในปี พ.ศ. 2554-2555 และในปี พ.ศ.2556 มูลนิธิสัมมาชีพได้เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

ปะทิว เป็นอำเภอเล็กๆในจังหวัดชุมพร มีประชากรราว 47,824 คน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของจังหวัดชุมพรทั้งหมด (ที่มีประชากรราว 511,304 คน) แต่ที่แห่งนี้กลับมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากและผมได้มองเห็นความมีศักยภาพสูงในการพัฒนาพื้นที่นี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพี่โชคเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนให้ชุมชนบางสนแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จัก

พี่โชคเล่าว่าได้วางแผนที่จะพัฒนาชุมชนโดยต้องการให้ชุมชนบางสนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมภายในชุมชน นอกจากนี้พี่โชคได้เชื่อมโยงกลุ่มเรือประมงชายฝั่งให้เข้ามามีส่วนร่วมและกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและของฝากของชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พี่โชคได้พาคณะเราไปชมสาธิตวิธีทำผ้ามัดย้อมจากพี่ทิพย์ ผู้หญิงบ้านๆวัย 40 ปี ที่มีครอบครัวตั้งรกรากอยู่ที่นั่น พี่ทิพย์เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย แสดงความเต็มอกเต็มใจต้อนรับคณะเรามากๆเหมือนคณะเราเป็นแขกคนพิเศษคนหนึ่งมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน ต้อนรับอย่างอบอุ่น พี่ทิพย์สาธิตขั้นตอนทำผ้ามัดย้อมโดยใช้สีจากธรรมชาติในการย้อม พร้อมกับให้คณะเราได้ลองหัดทำผ้ามัดย้อมด้วยตัวเอง พี่ทิพย์เคยเข้าร่วมฝึกอบรมทำผ้ามัดย้อมมาก่อนแต่ลวดลายยังมีไม่มากและแปลกตา คณะเรามองว่าผ้ามัดย้อมของพี่ทิพย์คงยังต้องพัฒนาฝีมือไปอีกพอสมควร

 

ตกเย็นพี่โชคพาคณะเราเดินทางต่อไปยังเขาดินสอซึ่งได้ขึ้นชื่อว่ามีนกเหยี่ยวมาอาศัยอยู่มาก นกเหยี่ยวพวกนี้มักจะอพยพเข้ามาในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พวกมันหนีหนาวมาจากประเทศรัสเซียและจีน คณะเราขึ้นไปชมแค่จุดชมวิวและเช็คอินถ่ายรูปวิวสวยๆ

วันถัดมาพี่โชคเล่าถึงที่มาของโครงการมหาสมุทรแห่งภูมิปัญญา โดยเริ่มต้นจากการที่คนในชุมชนมีความต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เป็นแหล่งรายได้หลักของคนในชุมชน โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก ปัจจุบันดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจรตั้งแต่ บริการการเดินทาง บริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้กิจกรรมวิถีชุมชน บริการที่พักอาศัย(โฮมสเตย์) ผลิตและจำหน่ายอาหาร สินค้าแปรรูปและของฝากของชุมชน ตลอดจนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับนักท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่

สัมผัสแรกที่ผมได้รับรู้ ผมรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์อยู่มาก มีอาหารทะเลที่ใหม่และสดอยู่เป็นจำนวนมาก คณะเราได้รับประทานทะเลสดๆเกือบทุกมื้อ มีทั้งปูม้านึ่งใหม่ๆสดๆจากทะเลมาเสิร์ฟเป็นอาหารเย็น ส่วนอาหารเช้าจะเป็นข้าวต้มปลาสดๆจากทะเลเหมือนเพิ่งตกมาจากทะเลแล้วนำมาทำเป็นอาหารให้กับพวกเราเลย

โฮมสเตย์บ้านบางสนมีธนาคารปูม้าซึ่งทำการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์ปูม้าไว้ก่อนที่จะปล่อยมันกลับสู่ทะเลเมื่อมันโตพอควรแล้ว ซึ่งทำให้ชุมชนแห่งนี้มีปูม้ากินได้ตลอดทั้งปี จุดไฮไลท์อีกอย่างคือการนั่งเรือพายไปชมหอยพู่กันซึ่งมีมากในแถบนี้ ดื่มด่ำกับบรรยากาศพร้อมกับสัมผัสธรรมชาติไปด้วยกัน

 

เมื่อมายังชุมชนบางสน มีกิจกรรมต่างๆให้นักท่องเที่ยวได้เลือกทำมากมายไม่น่าเบื่อ เช่น การเรียนรู้ชุมชน การทำอาหารแปรรูป ชมวิธีปลูกข้าวเหลืองปะทิวซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอนุรักษ์ของที่นี่ ชมวิธีทำผ้ามัดย้อม ชมวิธีทำกะปิ กะปิที่นี่ขึ้นชื่อมากๆ ไดัรับประกันคุณภาพโดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP สี่ดาว กิจกรรมการปลูกป่าชายเลน การเรียนรู้เขียนผ้าลายน้ำทอง เป็นต้น

จากการพูดคุยกับพี่โชค ผมได้เรียนรู้จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังสมบูรณ์ จะเห็นได้จากมีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่หลายชนิดเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นการเดินทางมาเที่ยวก็สะดวกเพราะอยู่ใกล้สนามบิน จากสนามบินถึงที่พักประมาณ 6 กิโลเมตร หรือเราสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯไปชุมชนบางสนแห่งนี้ได้โดยรถไฟก็ได้เช่นกัน

 

ตามโปรแกรมก่อนเดินทางกลับ คณะเราจะต้องพูดคุยกับคณะกรรมการและผู้นำชุมชนเพื่อสะท้อนมุมมองและนำเสนอประเด็นปัญหาของชุมชนเพื่อให้ชุมชนนำกลับไปปรับปรุงและแก้ปัญหา กลุ่มเราโดยตกลงกันว่าจะแบ่งหัวข้อออกเป็น 9 ประเด็นหลัก โดยได้แบ่งคนรับผิดชอบกันในทีมตามหัวข้อดังนี้

  • การแนะนำชุมชนต่อแขกและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียน
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้การแปรรูปอาหารทะเล
  • การฝึกปฏิบัติการย้อมผ้าธรรมชาติ
  • เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
  • วิถีชาวนาข้าวเหลืองปะทิว การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชุมชน
  • เยี่ยมชมโฮมสเตย์
  • ล่องเรือชมวิถีริมคลองหิ่งห้อย
  • การเขียนผ้าลายน้ำทอง
  • วิถีการประมงพื้นบ้าน

สุดท้าย ในกลุ่มได้ตกลงกันว่าจะเลือกนำเสนอต่อผู้นำชุมชนเพียง 5 เรื่องที่คิดว่าทางผู้นำชุมชนน่าจะสนใจและสามารถนำไปต่อยอดต่อในการพัฒนาชุมชนของตนเองได้ มีดังนี้

1) กิจกรรมในชุมชน ทางทีมได้นำเสนอว่าควรมีการร้อยเรียงเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลบางสน ให้น่าสนใจ และขยายเครือข่ายออกไปยิ่งขึ้น

2) การแปรรูปอาหารทะเล ทางทีมได้นำเสนอเรื่องการทำสินค้าให้มีอัตลักษณ์ของชุมชนเอง และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

3) ผ้ามัดย้อม ทีมคิดว่าควรสร้างเอกลักษณ์ของชุมชน ทั้งสินค้าและบริการ ให้มีลวดลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และที่สำคัญการประชาสัมพันธ์ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

4) ข้าวเหลืองปะทิว จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านชุมชนบางสน เราจึงเรียนรู้ว่าข้าวเหลืองปะทิว ขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิเป็นอย่างมาก และชาวบ้านไม่นิยมรับประทานเนื่องจากเมื่อข้าวหุงแล้วแข็ง ไม่น่ารับประทาน ดังนั้นเราเสนอแนะให้ควรแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆมากยิ่งขึ้น เช่น ขนมจีนเส้นสด ทองม้วน และดึงคุณสมบัติของข้าวให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

5) โฮมสเตย์และที่เที่ยวในชุมชน ต้องเน้นเรื่องของมาตรฐานห้องพัก ต้องมีความสะอาด ทั้งห้องครัว ห้องน้ำ เป็นต้น

วันถัดไป คณะเราได้พูดคุยและเสนอแนะแนวทางกับผู้ใหญ่ในชุมชนได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ของในชุมชนแห่งนี้ เช่น สินค้าแปรรูปยังมีอุปสรรคในเรื่องของการที่สินค้าเข้าไม่ถึงตลาด ปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัด ในส่วนของผ้ามัดย้อม ยังไม่มีการออกแบบลายเสื้อใหม่ๆ ในส่วนที่พักควรเพิ่มโฮมสเตย์ภายในชุมชนมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนสิ่งที่ชุมชนต้องการจากเราคือการกระตุ้นความมีส่วนร่วมของชุมชน อยากให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อกลับไปด้วยความประทับใจ

 

สุดท้ายสิ่งที่สร้างประทับใจให้ผมต่อชุมชนแห่งนี้ คือการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมซึ่งยังมีอยู่เต็มเปี่ยม  ยังขาดแต่เพียงเติมเต็มรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบคล้ายกับหญิงสาวที่ยังขาดการแต่งหน้าทาปากให้สวยงามอีกหน่อย ถ้าถามผมว่าจะกลับมาท่องเที่ยวที่นี่อีกไหม ผมตอบได้เต็มปากและทันทีโดยไม่ลังเลเลยว่าหลงรักที่แห่งนี้เสียแล้ว คงจะต้องกลับมาที่นี่อีกแน่ๆ ก่อนจากลา พี่โชคได้ทิ้งท้ายว่าอย่าลืมชุมชนบางสนซึ่งมีเสน่ห์มากมาย ผมคงหาโอกาสมาเที่ยวชุมชนแห่งนี้อีกแน่นอน

 

ชุมชนบางสน ปะทิว จังหวัดชุมพร

20-22 พ.ย 2563

เขียนโดย : โชค เรืองตระกูล

 

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top