สจล.ผลิตเชฟนักวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนอาหารไทยสู่ครัวโลก
สจล.ผลิตเชฟนักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนอาหารไทยสู่ครัวโลก
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นวิทยากรอีกคนหนึ่งของหลักสูตรอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนรุ่น 11 ในหัวข้อ “โอกาสอาหารไทยสู่ครัวโลกยุคโควิด-19”
โครงการหลักสูตรอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนรุ่น 11 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 29 พฤศจิกายน 2563 เป็นการอบรมเฉพาะ “วันเสาร์และอาทิตย์” ที่ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. รับสมัครผู้เข้าอบรมจำนวน 100 คน
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ เป็นนักวิชาการคนหนุ่ม ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาเมื่ออายุ 37 ปี เคยเป็น นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในปี 2559 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เลือกให้เป็น ประธาน ทปอ.
นอกจากนี้ ยังมีประวัติการทำงานโชกโชนจากหลายหน่วยงาน โดยเคยเป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ประธานมูลนิธิอาคารเขียว กรรมการบริหารอุโมงค์โลก ผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ (Globalization Economy) แห่งสถาบัน MIT Industrial Performance Center USA อีกทั้งเป็นนักเศรษฐศาสตร์โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ให้กับธนาคารโลก (The World Bank)
ส่วนการเป็นวิทยากรอบรมหัวข้อ “โอกาสอาหารไทยสู่ครัวโลกยุคโควิด-19” นั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ เป็นผู้ผลักดัน สจล.บุกเบิกโครงการ “ผู้ประกอบสตรีทฟู้ดไทย” โดยใช้นวัตกรรม-ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาคุณภาพสตรีทฟู้ดไทย
พร้อมชูโมเดล “สตรีทฟู้ดชุมพร” พลิกมาตรฐานอาหารริมถนนผัดไทยใน 4 มิติ คือ 1. ยกระดับอาหารปลอดภัย 2. รังสรรค์เมนูแปลกใหม่ 3. รีดีไซน์รถเข็นและแพคเกจจิ้ง และ 4. สร้างสตอรี่ให้ร้านค้า
รวมทั้ง ผลักดัน สจล. พัฒนา 4 นวัตกรรมต้นแบบ ได้แก่ “หุ่นยนต์ขายหมูปิ้ง พร้อมเตาย่างลดควัน” หุ่นยนต์แขนกลที่ช่วยเพิ่มเวลาผู้ค้า และการอาศัยหลักการถ่ายเทความร้อนด้วยน้ำ เพื่อลดรอยไหม้และควันที่เกิดจากการปิ้งย่าง และ “รถเข็นผลไม้-รถเข็นหมูปิ้ง” ที่มาพร้อมระบบกรองน้ำคุณภาพ-ความสะอาดเทียบเท่าน้ำดื่ม และระบบบำบัดควันที่มาพร้อมแผ่นกรองและแพคถ่านก้อนที่ช่วยดูดซับและกรองควันสะอาดก่อนปล่อยสู่อากาศ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งเสริมให้ สจล. เปิดหลักสูตรแรกในไทย คือ หลักสูตร”เปลี่ยนครัวเป็นแล็บ-เปลี่ยนเชฟเป็นนักวิทยาศาสตร์” โดยได้รับความร่วมมือจากสวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ผสานศาสตร์และศิลปะการปรุงอาหาร เพื่อปฏิวัติวงการอาหารไทยและนานาชาติ มาสานต่อยุทธศาสตร์ “ครัวไทย-ครัวโลก”
หลักสูตรดังกล่าวของ สจล. ตั้งเป้าผลิตเชฟนักวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการผสมผสานศาสตร์โภชนาการ ร่วมกับศิลปะการปรุงอาหารในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและหลากหลายพร้อมเทคนิคการบริการทางอาหาร มาต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารมืออาชีพ
สำหรับยุทธศาสตร์ “ครัวไทย-ครัวโลก” นั้น เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ภาคบริการ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านร้านอาหาร Thai SELECT โดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลเป็นหลัก ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ต่างประเทศหรือในประเทศไทยก็สามารถหาอาหารไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทานได้
ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยให้ใส่ใจด้านการบริการ รสชาติ และความมีคุณภาพ ซึ่งได้กำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มีจำนวนกว่า 798 ร้าน กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างการจดจำและเป็นสัญลักษณ์ที่การันตีถึงคุณภาพ
เมื่อ“ครัวไทย-ครัวโลก” ถูกต่อยอดโดยเชฟนักวิทยาศาสตร์ ซึ่ง สจล.และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ มุ่งมั่นเปิดหลักสูตรอบรมนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาปรุ่งแต่งอาหารไทยเพื่อยกระดับและเปิดโอกาสให้ไปสู่ครัวโลกจึงน่าสนใจ และไม่ควรพลาดการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 11 ในครั้งนี้ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทร. 02 530 9204-5 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://www.right-livelihoods.org/ และ https://www.facebook.com/sammachiv/