ช่วงสถานการณ์ 3 เดือนแรกของปี 2563 การท่องเที่ยวไทยเผชิญกับอุปสรรคใหญ่หลายประการต่อเนื่อง
แต่ที่ส่งผลกระทบหนัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID – 19 ทำให้การเดินทางในเอเชียและไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ไตรมาสแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยจะลดลงมากกว่าร้อยละ 20 และหดต่ออย่างต่อเรื่องต่อไปถึงไตรมาสหน้า
.
การท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ไตรมาสที่ 1 แม้จะมีการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์โลก และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา รวมถึงค่าฝุ่นละอองที่ปกคลุมหลายภูมิภาค รวมทั้งการระบาดของไวรัสที่เป็นโรคติดต่ออันตรายในประเทศจีนเมื่อช่วงต้นปี ทำให้การท่องเที่ยวอยู่ในภาวะซบเซา
.
แนวโน้มสถานการณ์ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563)
สำหรับตลาดต่างประเทศคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงร้อยละ 30 หรือมีจำนวนประมาณ 6.3 ล้านคน คาดว่าทุกภูมิภาคจะมีแนวโน้มลดลงเพิ่มขึ้น จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ผนวกกับมาตรการป้องกันการระบาดของแต่ละประเทศที่ยกระดับความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดเมือง/การหยุดงานของพนักงาน ซึ่งคาดว่าการหดตัวดังกล่าว จะยังคงต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3
.
ส่วนตลาดในประเทศแม้ว่าจะมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายช่วงและปิดภาคเรียนฤดูร้อน ที่กลุ่มตลาดหลักชาวไทยคือ กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน ส่วนใหญ่จะนัดหมายออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาค่าครองชีพส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยระมัดระวังการใช้จ่าย นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังแพร่กระจายในวงกว้าง และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดภาวะตื่นกลัว วิตกกังวลกลัวการติดเชื้อและหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ส่งผลให้ภาพรวมท่องเที่ยวในประเทศ มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยลดลงร้อยละ 4 หรือประมาณ 40.31 ล้านคน-ครั้ง และรายได้ลดลงร้อยละ 3 หรือประมาณ 2.51 แสนล้านบาท
.
โดยพื้นที่เมืองหลักมีแนวโน้มจำนวนผู้เยี่ยมเยือนท่องเที่ยวลดลง ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 เนื่องจากเป็นพื้นที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคนไทย เมื่อมีปัจจัยลบเกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบมากกว่าพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นขณะที่พื้นที่เมืองรองมีแนวโน้มจะฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวได้ดีกว่า โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 เนื่องจากมีขนาดตลาดที่เล็กกว่า
.
พื้นที่เมืองรองมีแนวโน้มจำนวนผู้มาเยือนชาวไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร จันทบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ แต่พื้นที่เมืองหลักอาจมีแนวโนมผู้มาเยี่ยมเยือนลดน้อยลง ซึ่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศไทยที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะดึงกลุ่มคนมาท่องเที่ยวในประเทศในพื้นที่เมืองรองได้
.
คงต้องรอดูกันว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายแล้ว ทุกภาคส่วนจะร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
.
ที่มา : https://www.tatreviewmagazine.com/ar…/คาดการณ์แนวโน้ม-2020/…