เมื่อพูดผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่แล้ว มีไม่น้อยที่ให้ความสำคัญในการนำธุรกิจมาแก้ปัญหาของสังคมโดยไม่ได้หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว “คมธัช วัฒนศิลป์” กรรมการบริหารบริษัท สมาร์ท ออร์แกนิค กรีนเฮ้าส์ จำกัด หรือ SOG ในฐานะประธานสมาชิกผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 หรือ LFC 9 คือ หนึ่งในผู้ประกอบการที่กล่าวถึง เขาได้เปิดเผยถึง ธุรกิจส่วนตัว แนวคิดทางสังคมและบทบาทในฐานะประธานLFC รุ่น 9 ผ่าน เว็บไซด์สัมมาชีพ”มีสาระน่าสนใจดังนี้
เขาเปิดประเด็นถึงธุรกิจส่วนตัวว่า บริษัท สมาร์ท ออร์แกนิค กรีนเฮ้าส์ จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมด้านสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ภายใต้แบรนด์ Smart Organic Greenhouse หรือ SOG เทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้อย่างง่าย ปราศจากสารเคมี ลดแรงงาน ด้วยเทคโนโลยีบริหารจัดการโรงเรือนอัจฉริยะเกษตรอินทรีย์ เชื่อมโยงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น โดยเกษตรกรสามารถทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใดที่เหมาะสมกับตนเอง
ปัจจุบันโรงเรือนที่จำหน่ายจะมีอยู่ 2 แบบ คือโรงเรือนปลูกพืชแบบไร้ดินอัตโนมัติ และโรงเรือนปลูกพืชแบบที่อยู่ในร่มโดยใช้แสงเทียม หรือ “กรีนเฮาส์” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี พร้อมการันตีผลผลิต ซึ่งพืชที่ปลูกก็มีทั้งผักสลัด, เมล่อน, มะเขือเทศ, พริกหวาน หรือผักที่มีสารอาหารสูง เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ โดยเกษตรกรสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อเป็นชุดเซตตามขนาดโรงเรือน หรือจะแยกซื้อเฉพาะส่วนก็ได้
ขณะเดียวกันบริษัทยังรับซื้อผลผลิตที่ปลูกได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถมาศึกษาดูงานได้ถึงแปลงเพาะปลูก ซึ่งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, อ่างทอง, นครปฐมและนนทบุรี
“คมธัช” เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองและธุรกิจของเขา หลังจากผ่านการอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง หรือ LFC” ว่า เดิมทีมีความตั้งใจจะให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว แต่พอเรียนจบหลักสูตร LFC ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจได้เชื่อมโยงกับชุมชนใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราได้ตั้งศูนย์การเรียนรู้โรงเรือนอัจฉริยะเกษตรอินทรีย์ ขึ้นที่จังหวัดอ่างทอง
โดยร่วมมือกับทางโรงเรียนผู้สูงอายุของตำบล กำหนดให้เป็นหนึ่งในรายวิชาที่ผู้สูงอายุ จะได้เรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ เสมือนได้เข้าไปทำงานจริงๆ ซึ่งทางบริษัทก็จ่ายเงินเดือนในส่วนของผลผลิตที่ทำได้ หรือใครที่สนใจจะทำเป็นงานประจำเลยก็ได้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้
ดังนั้นโครงการเพื่อสังคมในระยะแรก จะเน้นไปที่ผู้สูงอายุก่อน เพราะเป็นแรงงานที่อยู่ติดบ้านและติดท้องถิ่นตลอดเวลา ตรงนี้ถือเป็นก้าวแรกที่ได้เข้าไปรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มตัว
นอกจากนี้ที่ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หนึ่ง ที่เรากำลังพยายามวางโมเดลต้นแบบส่งเสริมให้เป็นเกษตรทางเลือก เพื่อให้มีรายได้เสริมเข้ามาทุกเดือน โดยแทนที่ในช่วงว่างระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรก็สามารถทำโรงเรือน “กรีนเฮาส์” ปลูกผักสลัด โดยบริษัทจะรับซื้อและหาตลาดรองรับผลผลิตให้ทั้งหมด
สำหรับบทบาทใหม่กับตำแหน่ง “ประธาน LFC รุ่น 9″ นั้นเขา บอกว่ามีนโยบายที่จะเป็นผู้นำในการเชื่อมโยงสมาชิก LFC ทุกรุ่น ให้ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทย โดยตอนนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลของสมาชิกว่า ใครมีความรู้ความสามารถในเรื่องอะไร และจะต่อยอดโครงงานที่แต่ละกลุ่มได้เคยนำเสนอไว้ในระหว่างที่อบรมได้อย่างไร
ขณะเดียวกันจะพยายามดึงหน่วยงานใหญ่ๆ ให้เข้ามาช่วยส่งเสริมโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งตอนนี้มีโครงการที่เดินหน้าไปแล้ว เช่น โครงการที่ “หนองเสือ” ของกลุ่มโกลเด้น เชนส์, โครงการที่ “คลองสามวา” นอกจากนี้ในกลุ่มย่อยโซนภาคอีสานและภาคเหนือ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดน่าน ทำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้ขับเคลื่อนโครงการอื่นตามมาอีกในอนาคต
ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” หรือ LFC ที่ได้สร้างผู้ประกอบการที่มีความตระหนักและใส่ใจสังคม ในทุกย่างก้าวของการดำเนินธุรกิจ ให้ออกไปรับใช้สังคม เพราะการมีผู้นำที่เข้มแข็งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ