โหมปล่อยเกาะ“โรคประจำถิ่น” แก้พิษโควิดฉุดเศรษฐกิจย่อยยับ
โหมปล่อยเกาะ“โรคประจำถิ่น”
แก้พิษโควิดฉุดเศรษฐกิจย่อยยับ
รัฐบาลโหมปลุก “ติดเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง” ขึ้นเป็นกระแสหลักในการต่อสู้การระบาดโควิด การชูแนวทางนี้คงมีธงเปิดพื้นที่ฟื้นเศรษฐกิจปักอยู่เบื้องหน้า เพราะโรคประจำถิ่นจะหนุนช่วยให้เศรษฐกิจติดเครื่องเร่งสร้างรายได้มาจุนเจืองบประมาณของประเทศที่อยู่ในภาวะร่อยหรอ ดังนั้นเมื่องบประมาณขัดสน ประกอบกับอิทธิฤทธิ์เชื้อโควิดไม่รุนแรง จึงโยงสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
ภาวะโอมิครอนจะเป็น“โรคประจำถิ่น”ได้นั้น การแพร่เชื้อต้องบ่งบอกระดับทรงตัวหรือมีจำนวนลดลงมาสู่จุดเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำของรัฐมนตรีว่า เป็นโรคกระจอกที่สามารถกำกับควบคุมได้อยู่หมัด แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขการตรวจทั้งแบบ RT-PCR บวก ATK ช่วง 7-14 มี.ค. กลับพุ่งขึ้นแรงกว่า 40,000 คนต่อวัน โดยเฉพาะเมื่อ 10 มี.ค.ทะยานสูงถึง 72,478 คนพร้อมมีผู้เสียชีวิต 74 ศพ แล้วผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ที่ 46,418 คนและเสียชีวิต 63 ศพเมื่อ 11 มี.ค.
เข้าวันที่ 12 มี.ค.ผู้ติดเชื้อยังทรงตัวที่ตัวเลข 44,977 คน ส่วนเสียชีวิตขยับขึ้นเป็น 68 ศพ พอถึง 13 มี.ค. เริ่มลงเล็กน้อยเป็น 44,096 คน เสียชีวิต 66 คน และ 14 มี.ค. ผู้ติดเชื้อขยับลดฮวบเป็น 37,780 คน เสียชีวิต 69 ศพ ซึ่งปรากฎการณ์เชิงตัวเลขแกว่งไปมานี้ คงไม่ใช่การระบาดรุนแรงจนถึงจุดพีคแล้วค่อยๆนิ่งจนสามารถบ่งชี้ถึงการควบคุมเจ้าโรคกระจอกของใครบางคนได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ตัวเลขการระบาดของโอมิครอนระดับหลายหมื่นต่อวัน คงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำใจมองผ่านความน่ากลัว แล้วย้ำยืนยันให้เป็นเรื่อง “ติดง่ายแต่ไม่รุนแรง” อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่องไม่ส่อแววหยุดนิ่งทรงตัว ขณะที่รัฐบาลผ่อนการรักษาลง เหมือนท้อถอย คิดอะไรไม่ออก ได้แต่ตั้งคลีนิค“เจอ-แจก-จบ” ตามแนวทางแจกยาแล้วให้ผู้ติดเชื้อสีเขียวไปรักษาตัวที่บ้าน การออกมาตรการนี้เชื่อกันว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีเงินรักษาในโรงพยาบาล จึงสวมรอยโหมกระแสสังคมอ้างโควิดเป็นโรคไม่ร้ายแรงเหมือนเดิมและตามเคย
เมื่อโอมิครอนระบาดแบบแกว่งขึ้นลง โดยมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยระดับหลายหมื่นรายต่อวัน สะท้อนถึงความไม่ปกติ ย่อมส่อถึงโอกาสจะผ่อนคลายมาตรการเปิดทางให้เศรษฐกิจเดินเครื่องครั้งใหม่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ สิ่งสำคัญรัฐบาลไร้งบประมาณช่วยเหลือประชาชน ด้วยเหตุนี้การลากโอมิครอนไม่รุนแรงจึงเท่ากับชงให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อสนองต่อเป้าหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยับเยินด้วยพิษโควิดมากว่า 2 ปีนั่นเอง
โควิดฉุด ศก.ซ้ำเติมปากท้อง
ในช่วงกว่า 2 ปีที่เชื้อระบาดมาต่อเนื่อง ดูเหมือนรัฐบาลออกอาการอ่อนล้าสิ้นเรี่ยวแรง หมดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ คงเน้นแต่ “คนละครึ่ง” จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เศรษฐกิจไทยยิ่งนับวันยิ่งสิ้นหวัง ทำให้ประชาชนต้องเอาตัวรอดไปตามมีตามเกิดกับเสียงปลุกปลอบใจจากรัฐบาล
ล่าสุด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุยโวแบบเหลือเชื่อถึงขั้นขีดเส้นให้ “คนจนต้องหมดไป” ภายใน 30 ก.ย. 2565 โดยสั่งการเด็ดขาดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้ง“ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน” และอำเภอทุกแห่งต้องมี“ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชนของ อปท.” เพื่อผนึกกำลังแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน
การแถลงภาวะเศรษฐกิจสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ระบุถึงความยากจนสะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนในไทยว่า มีคนตกงานและเสมือนตกงานถึง 3 ล้านคน ขณะที่คนไทยมีหนี้ครัวเรือนทะลุไป 14 ล้านล้านบาทแล้ว มีหนี้เสียและหนี้ที่กำลังจะเสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการตกงาน รายได้ลดลง แค่จ่ายประทังชีวิตก็แย่แล้ว
ส่วนภาคธุรกิจไทยก็ลำบากไม่แตกต่างกัน ผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องผลกระทบจากโควิดต่อภาคธุรกิจไทย และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกไทย พบว่าอาการยังน่าเป็นห่วง ขายของไม่ได้ เพราะกำลังซื้อไม่มี และต้นทุนสินค้ายังเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม การเปิดประเทศไม่ได้ทำให้ดีขึ้น โรงแรมส่วนใหญ่เหลือเงินอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน และยังมีการแข่งกันลดราคาจนรายได้ไม่คุ้นต้นทุน
จะเห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจลามไปทุกหย่อมหญ้า คนจนและผู้มีรายได้น้อยต้องแบกรับวิกฤตปากท้องอันหนักหน่วง รายได้ครัวเรือนขัดสนยากเข็ญขึ้นไปทุกวัน ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด เพราะเข้าถึงมาตรการของรัฐบาลได้สุดแสนยากลำบากและการโฆษณาตีฆ้องร้องป่าวนั้น ความจริงแล้วมีการช่วยเหลือมีน้อยเกินกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่เมื่อขาดทุนกำไร สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยมีสูง และรัฐบาลไม่คิดแก้ปัญหานี้จริงจัง แม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้ายังแก้ไม่ได้ แก้ไม่ตก แต่การจะหวังให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่นายทุนใหญ่มีส่วนได้เสีย จึงเป็นเรื่องที่คนรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำคงหวังได้ยากเหลือเกิน
ในปี 2565 โควิดโอมิครอนระบาดเข้าแทนที่เดลตา รัฐบาลโหมอาการของโรคติดง่ายไม่รุนแรงเพื่อยับยั้งความกังวลของประชาชน ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนมาซ้ำเติมอีก ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แก๊สกับไฟฟ้าจ่อขยับปรับราคาเป็นทิวแถว พร้อมกับสินค้าปากท้องเข้าโหมดแพงแต่ค่าแรงงานยังถูกเท่าเดิม ด้วยอาการย่ำแย่เช่นนี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของรัฐบาล จึงไม่มีอะไรให้หวัง ลำพังรัฐบาลยังชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่พอแต่หาเพิ่มไม่ได้ คิดออกทางเดียวต้องกู้เงินแต่ก็ไม่กล้ากู้ เพราะหวั่นกลัวเสถียรภาพรัฐบาลฉุดดึงเข้ามุมถูกล้มกระดานอำนาจไม่เป็นท่า
ดังนั้น ที่ผ่านมาช่วงโควิดระบาดรัฐบาลเอาแต่แก้ปัญหาแบบลอยตัว เมื่อน้ำมันแพงก็ลอยแพประชาชน จนเกิดสภาพตัวใครตัวมัน ต่างตนต่างช่วยตัวเองกันไปก่อนเพราะรัฐบาลสิ้นไร้ไม้ตอกมาตรการสางปัญหารุมล้อม แต่เหนืออื่นใดรัฐบาลกลับสร้างภาพสวยจะขจัดความยากจนให้หมดใน 30 ก.ย. 2565 แล้วใครจะคล้อยตามอย่างสนิทใจก็ว่ากันไปเถิด
รักษาตามสิทธิ์ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.นี้ การรักษาโควิดโดยรัฐรับผิดชอบจะถูกปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ ยกเลิกโควิดในสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉิน (UCEP) เพื่อให้ผู้ป่วยรักษาได้ตามสิทธิ์บัตรสุขภาพที่มีอยู่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คนมีสิทธิบัตรทองป่วยอยู่เกณฑ์เขียว เข้ารับบริการได้ตามปกติไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีกลุ่มป่วยสีเหลืองหรือแดงยังเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ ทั้งรัฐและเอกชนไม่เสียค่าใช้จ่าย เว้นรายการอื่นๆที่เพิ่มเติม เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ย้ำว่า กลุ่มสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ เน้นการดูแลแบบ OPD ผู้ป่วยที่มาตรวจ AKT ที่โรงพยาบาลให้รับยาที่จุดตรวจก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยที่ตรวจด้วยตนเองสามารถมารับยาที่โรงพยาบาลหรือการแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งยาไปที่บ้าน และเยี่ยมติดตามอาการหลังครบ 48 ชั่วโมง
ฟังจากการแถลงดังกล่าว ดูเหมือนรัฐห่วงใยประชาชนจนน้ำตาเล็ด การออกจาก UCEP COVID ไม่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยโควิด แต่ลึกๆแล้วย่อมเป็นก้าวแรกดันผู้ป่วยสีเขียวไปอยู่ร่วมกับสังคม ซึ่งแต่ก่อนผู้ป่วยทุกกลุ่มสีถูกกักตัวแยกเชื้อโควิดออกจากชุมชน แต่เมื่อมีมาตรการ “เจอ-แจก-จบ” มาประสานกับการรักษาตามสิทธิ์บัตรสุขภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวคือหน่วยนำร่องให้ไทยเดินเข้าสู่ดินแดนโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
การขยับ UCEP และเจอ-แจก-จบ จึงส่อความหมายให้ประชาชนเป็นที่พึ่งแห่งตน สถานการณ์พึ่งซ่อนความนัย ทำให้เข้าใจว่า ถ้าไม่อยากติดโควิดต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวเองให้รอบคอบ ด้วยเหตุนี้การพึ่งราวกับเป็นการปล่อยเกาะผู้ป่วยโควิดสีเขียวให้ไปทดลองอยู่กับประชาชน ในขณะที่การระบาดยังทยานพุ่งต่อวัน 2-3 หมื่นราย ดังนั้นในยามนี้ ประชาชนจึงต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยรัฐขาดแคลนงบประมาณรักษาได้แต่ส่งเสียงเชียร์ “โรคประจำถิ่นๆๆ”ให้ดังกระหึ่มจนเส้นเอ็นเสียงปูดโปน
โรคประจำถิ่นทะลวงทางตันแก้ ศก.
ไม่ว่ากลุ่มผู้ป่วยโควิดสีใดก็ตาม ทั้งเขียว เหลือง แดง เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปไทยจะมีผู้ป่วยเพียงสี “ประจำถิ่น” สีเดียวเท่านั้น ซึ่งบอกถึงโควิดไม่ได้เป็นวิกฤตโรคฉุนเฉิกที่น่ากลัวอีกต่อไป แต่เป็นแค่โรคทั่วไปที่รักษาหาย มีอันตรายถึงเสียชีวิตน้อย ราวกับเข้าใจว่า เป็นโรคกระจอก ตามนิยามของรัฐมนตรี สธ. นั่นเอง
แต่ก่อนจะไปถึงโรคประจำถิ่นนั้น รัฐได้เตรียมการโดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในแนวทาง 3 บวก 1 เท่ากับ 4 ระยะให้ไปบรรลุเป้าหมาย “โรคประจำถิ่น” ภายใน 4 เดือนนี้
การแถลงแนวทาง 3 บวก 1 นายอนุทิน เชื่อว่า สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษาพร้อม การเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว การให้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ครอบจักรวาล แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม พร้อมรัฐเร่งเสริมด้วยวัคซีนบูสเตอร์โดส ซึ่งจะลดความรุนแรงได้ ส่วนการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ จะมีแผนรายละเอียดออกมารองรับ
แผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงมาตรการ 4 ระยะว่า ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เป็นช่วงออกแรงกดตัวเลขผู้ป่วยไม่ให้สูง หรือเป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง ในระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เน้นคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ และระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) มุ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1-2 พันราย ส่วนระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า ช่วงตีเกราะเคาะประกาศออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น โรคกระจอก
สิ่งชี้วัดเข้าเป็นโรคประจำถิ่นจึงอยู่ที่จำนวนผู้ป่วยต้องเหลือน้อยพร้อมกับมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และยอดผู้เสียชีวิตถูกกดต่ำ เพื่อให้สมเหตุสมผลกับการโหมสร้างความน่าเชื่อถือมาก่อนหน้าว่า โควิดโรคกระจอก ไม่รุนแรง แม้ติดง่ายแต่มียารักษาพอเพียง แต่ความจริงในวันนี้ เด็ก 5-11 ปี ยังฉีดวัคซีนได้น้อย ผู้ปกครองร้องถามและสืบค้นไปแย่งชิงวัคฉีดจ้าละหวั่น นี่คือการปฏิบัติที่เป็นจริงอันสวนทางกับคำพูดโอ้อวดความพร้อม
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า สธ.อธิบายผู้เสียชีวิตมักเน้นไปที่โรคประจำตัวมากกว่าเป็นผลมาจากป่วยด้วยโรคโควิด แต่ในอนาคตเมื่อเดินไปสู่โรคประจำถิ่นแล้ว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า การเสียชีวิตต้องควบคุมไม่ให้เกิน 1 ในพันราย
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน 3 บวก 1 แล้ว รัฐเชื่อมั่นว่า ไทยแก้ปัญหาโควิดด้วยแนวทางโรคประจำถิ่นตาม สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐ และจีน ที่เป็นประเทศตัวอย่าง นำหน้าไปก่อนเพื่อเป้าหมายดันโควิดเป็นศูนย์ โดยประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดมาตลอดกว่า 2 ปีได้อย่างไม่หวาดกลัวต่อการเสียชีวิต
เหนืออื่นใดแล้ว คาดว่ามาตรการด้านอื่นๆหลังจาก 1 ก.ค.นี้ รัฐคงเร่งออกมาสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะเป็นเครื่องดูดเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวต่างชาติมาสร้างรายได้ให้ไทย ได้ขยายไปสู่ระบบเศรษฐกิจการผลิตด้านอื่นๆตามไป
แม้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ในทางปฏิบัติของระบบสาธารณสุขยังสะท้อนมาตรการรักษาที่เหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพราะคนจนในชุมชนเมืองคงถูกทอดทิ้งในการเข้าถึงการรักษา ยังมีเสียงร้องคร่ำครวญดังอย่างเจ็บปวดใจในครัวเรือนที่ติดโควิดตามเดิม เมื่อรัฐต้องเลือกเอาฟื้นเศรษฐกิจมากกว่ารักษาชีวิตผู้คน และเสียงย้ำๆ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นแค่คำพูดให้ดูดีซ้ำซาก
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv