“ชุมชนมีดี” ขยับขยายสินค้าชุมชน เพิ่มรายได้สู้ภัยโควิด
“ชุมชนมีดี”
ขยับขยายสินค้าชุมชน
เพิ่มรายได้สู้ภัยโควิด
อันที่จริง…เมื่อโควิด-19 ระบาดแพร่เชื้อโรคไวรัสมาตั้งแต่รอบ 1-2 ช่วงปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ได้ก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างมากโข ดังนั้น ปากท้องหาอยู่หากินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ คงหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนได้ยาก
แน่ละ ถ้าปากท้องชุมชนกินอิ่ม มีสุขภาพแข็งแรง คงปราศจากความกังวลกับโรคภัยโควิด-19 ระบาดแพร่เชื้อมาใส่ แล้วคุณค่าชีวิตพออยู่ได้ไปวันๆ ซึ่งคงไม่เครียด และมีสติมั่นรอความหวังวันเชื้อโรคโควิด-19 สร่างซาฤทธิ์เดชทำลายปอด วันนั้นคงเป็นประหนึ่งวันใหม่ได้เริ่มชีวิตพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ พร้อมกับเม็ดเงินมีโอกาสกระจายไปถึงชุมชน
เมื่อคนทุกคนมีหวังเช่นนั้น เป็นความหวังมองอนาคตผูกไว้กับอาการแผ่วปลายการระบาดโควิด-19 แล้ววันนั้นคือวันอนาคตจะได้เริ่มต้นเป็นวันไหน ไม่มีใครรู้ รัฐบาลป่าวประกาศได้เพียงการประเมิน พร้อมคาดว่า อาจจะมาถึงในปีหน้า หรือไม่ก็ปีต่อๆ ไป…แล้วเศรษฐกิจชุมชน ปากท้องชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไรดี สินค้าที่ผลิตจะนำไปขายที่ไหน เอารายได้จากแหล่งใดมาแบ่งปันเลี้ยงชีวิตชุมชน
“สัมมาชีพ”เปิดช่องทางตลาดออนไลน์
มูลนิธิสัมมาชีพ ได้บุกเบิกโครงการชุมชนมีดี เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้น โดยปรับตัวสร้างตลาดจำหน่ายสินค้าทางโซเชียล ด้วยการเปิดแฟนเพจเฟสบุ๊ค “ชุมชนมีดี” (https://www.facebook.com/chumchonmeedee)
สิ่งสำคัญคือ เฟสบุ๊คชุมชนมีดี เน้นประชาสัมพันธ์สินค้าให้ชุมชนและร่วมกับชุมชนยกระดับพัฒนาการเรียนรู้ระบบการตลาดออนไลน์ อีกทั้งมุ่งหวังให้เป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มผู้ซื้อ (Demand) และกลุ่มผู้ขายหรือผู้ผลิต (Supply) ได้ประสานงานการซื้อขาย การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ร่วมกัน
อีกอย่าง มูลนิธิฯ มีความหวังลึกๆว่า ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการชุมชนมีดี นอกจากได้ช่วย ประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดการซื้อขายร่วมกันโดยตรงระหว่าง กลุ่ม/วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับลูกค้า
รวมทั้งยังเกิดการกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกรและเกิดการจ้างงานในพื้นที่ ผ่านรูปแบบการจัดการของวิสาหกิจชุมชน ที่ทำให้เกิดการกระจายสินค้าระหว่างสมาชิกในเครือข่ายกว่า 1,000 คน ดังนั้น จากสมาชิกโดยรวมของกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ย่อมเกิดการจ้างงานในชุมชนพื้นที่ จากการประกอบกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพร้อมทั้ง มูลนิธิฯ เชื่อว่า ชุมชนยังได้รับข้อเสนอแนะไปปรับปรุงพัฒนาสินค้า ผ่านการแสดงความเห็นของลูกค้าโดยตรง และนำไปพัฒนาการจัดการการซื้อ-ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้เติบโตยิ่งขึ้น
บุกเบิก-ลดทอนผลกระทบของชุมชน
“กมลทิพย์ ศรีอรรคพรหม” แอดมิน (Admin) เพจชุมชนมีดี กล่าวว่า เพจนี้ก่อตั้งเมื่อ เมษายน 2563 เนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาดในรอบแรก และเห็นว่าชุมชนประเภทท่องเที่ยวเดือดร้อนได้รับผลกระทบมากไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการทั่วไป ส่วนใหญ่ที่ยังดำเนินอยู่ได้เป็นชุมชนแปรรูปประเภทอาหาร ดังนั้น เพจจึงมุ่งช่วยเหลือชุมชนในส่วนนี้ให้รอดพ้นจากผลกระทบพร้อมได้ก้าวไปด้วยกันได้
การดำเนินการยึดรูปแบบบริการ โดยนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่แล้ว มาส่งเสริมการขาย มีแอดมินเพจเป็นสื่อกลางในการรับออร์เดอร์ลูกค้าผู้สั่งซื้อ แล้วส่งต่อไปยังผู้ขาย-ผู้ผลิตในชุมชน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาสินค้าของชุมชนผ่านการสะท้อนความเห็น ข้อเสนอแนะของลูกค้าไปให้ชุมชนปรับปรุงสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านการจัดส่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์บรรรจุ (แพ็คเก็จจิ้ง- Packaging) หรือการทำให้ตัวสินค้ามีมาตรฐานและเป็นที่สนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น
ปัจจุบันสินค้าในสื่อกลางของเพจชุมชนมีดี มีมากกว่า 60 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ แปรรูปอาหาร ของใช้เครื่องสำอาง สินค้าหัตถกรรม และผลผลิตผลไม้ทางการเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 23 กลุ่ม และเอสเอ็มอี (SME) อีก 9 ราย
“เราพยายามจะขยับฐานของสินค้าออกไปเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าในปีนี้ (2564) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 200 ชุมชน เพื่อนำสินค้ามาขายในเพจชุมชนมีดี ช่วงแรกในการขายเมื่อปี 2563 มียอดกว่า 2.5 แสนบาท โดยมาจากลูกค้ารายย่อยที่เข้ามาซื้อที่เพจชุมชนมีดีเอง และกลุ่มองค์กรภาครัฐที่มีนโยบาย CSR สนับสนุนชุมชน”
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขายได้ดีที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทแปรรูปอาหาร เช่น ผลไม้อบแห้ง อาหารทะเลแปรรูป ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ชุมชนมีดีมีแผนดำเนินการ จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้แก่องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปเป็นของที่ระลึก/ของขวัญปีใหม่ โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินงานสู่การกระจายรายได้โดยรวมให้ชุมชนกว่า 1,000,000 บาท
รวมทั้ง เชื่อมโยงตลาดสินค้าใหม่ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) วางจำหน่ายสินค้าชุมชนในร้านมินิ อ.ต.ก นอกจากนั้นดำเนินการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมองค์ความรู้ทางการตลาดในช่องทางใหม่ ๆ พัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้าสู่การค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยชุมชนสามารถเป็นผู้บริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และเชื่อมโยงคู่ค้าระหว่างชุมชนให้เกิดการซื้อขาย แลกเปลี่ยนทางการค้าร่วมกัน
ขยับขยายเติมพลังการผลิตชุมชน
“กมลทิพย์” กล่าวถึงก้าวขยับของเพจชุมชนมีดีในปี 2564 ว่า นอกจากการผลักดันให้สินค้าชุมชนเป็นของฝาก ของที่ระลึกสำหรับองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายของมูลนิธิที่มีจุดแข็งและพร้อมสนับสนุนชุมชนอยู่แล้ว
เธอย้ำว่า ในอนาคต จะมีการพัฒนาสู่การขายผ่านเว็บไซต์ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ รวมถึงการขายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆที่สามารถตอบสนองระบบการซื้อขายสินค้าชุมชนให้สะดวกคล่องตัว เท่ากับเป็นการขยายฐานการการตลาดใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าและชุมชนผู้ผลิตสินค้า ได้เชื่อมโยงเข้าหากันยิ่งขึ้น
“เราหวังจะเชื่อมโยงทั้ง 3 ภาคส่วนเข้าหากัน ทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภาคีของของมูลนิธิฯ ร่วมกันขยับขยายพัฒนาแฟนเพจชุมชนมีดีมากยิ่งขึ้นในเรื่องการเติมเต็มช่องทางตลาดให้ชุมชน ไม่ว่านำสินค้าชุมชนเข้าระบบอี-คอมเมิร์ซ การพัฒนาแพ็คเก็จจิ้งหรือการพัฒนาในการสร้างมาตรฐานสินค้าในชุมชน โดยเฉพาะเครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่านักธุรกิจจิตอาสาสามารถเติมเต็มในส่วนนี้ได้”
โดยเฉพาะมีเป้าหมายดึงภาครัฐและเอกชนที่มีนโยบายสนับสนุนสินค้าชุมชนให้เป็นโครงการ CSR เข้ามาเป็นภาคีร่วมขับเคลื่อนการผลิต การขายสินค้าชุมชน ซึ่งนอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพหรือสร้างอาชีพให้ชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้ “กมลทิพย์” ยังกล่าวถึงแผนส่งเสริมในการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับชุมชนได้สร้างอาชีพต่างๆขึ้นมากมาย โดยจะเป็นการก้าวขยัยไปสู่การพัฒนาทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมบ้าน การสอนอาชีพทำขนม ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันได้จริง
ดังนั้น ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงในระลอกสามนี้ สิ่งที่ “กมลทิพย์” อยากเห็นและต้องการให้เกิดขึ้นคือ การเข้ามาร่วมสนับสนุนสินค้าชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยลูกค้า ผู้ต้องการซื้อ ต้องการชมสินค้าชุมชนตามคุณภาพ ก็เข้าไปในเพจเฟซบุ๊กชุมชนมีดี ซึ่งจะมีสินค้าให้เลือกซื้อได้มากมาย
“การขายสินค้าในชุมชนมีดีนั้น เราไม่ใช่พ่อค้าคนกลางที่บวกเพิ่มการบริการจากลูกค้าหรือชุมชน เราเป็นสื่อกลางเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าให้ชุมชน นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถสะท้อนความคิดเห็นเพื่อเราจะนำกลับไปสู่ชุมชนในการผลิตสินค้า สิ่งนี้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือชุมชนทางอ้อมในการสร้างรายได้อีกด้วย”
เพียงแค่คลิก https://www.facebook.com/chumchonmeedee ร่วมกันอุดหนุนหรือส่งเสริมสินค้าชุมชน แล้วชุมชนย่อมมีโอกาสอยู่รอดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาดรุนแรงในขณะนี้ได้
หรือ SCAN QR CODE เพื่อเข้าสู่เพจชุมชนมีดี
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods