skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“วรรณี มหานีรานนท์” แก้หนี้เกษตรกรด้วย “สัมมาชีพ”

“วรรณี มหานีรานนท์” แก้หนี้เกษตรกรด้วย “สัมมาชีพ”

ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ถือเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย เพราะเกษตรกรมีสัดส่วนถึงราว 40 % ของประชากรไทย เมื่อเกษตรกรมีหนี้สิน ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ บทสรุปสุดท้ายคือ “การสูญเสียที่ดินทำกิน” ให้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ โศกนาฏกรรมต่างๆ จึงตามมามากมาย

วรรณี มหานีรานนท์

วังวนปัญหาใหญ่นี้ ในมุมมองของ “วรรณี มหานีรานนท์” ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งทำงานคลุกคลีมากับเกษตรกรมายาวนาน จนตกผลึกกับแนวคิด “การสร้างสัมมาชีพ” หาหนทางปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ควบคู่ไปกับภารกิจของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คือ การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร และการแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งสอดคล้องกัน

“จริงๆ แล้ว เกษตรกรไม่มีใครอยากเป็นหนี้ ทุกคนหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ทำจนตายก็เป็นหนี้ เพราะเป็นหนี้เดิม หนี้จากเงินกู้มาลงทุน หนี้จากการเพาะปลูกที่ประสบภัยธรรมชาติ โรค แมลง เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น ปัญหาหนี้นี้ฉุดรั้งการทำการเกษตร” ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าว

จะทำอย่างไรให้การผลิตมีคุณภาพดี จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีชีวิตอย่างมีสัมมาชีพ สามารถดำรงตน ดำรงชีวิต อยู่ได้อย่างเกื้อกูลกัน จึงเป็นหัวใจหลักของการทำงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และได้รับการต่อยอด หลัง “วรรณี” เข้าอบรมกับมูลนิธิสัมมาชีพ ในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) รุ่นที่ 6 เมื่อปี 2558 ซึ่งขณะนั้นกำหนดธีม “สัมมาชีพชุมชน” มุ่งยกระดับรายได้เกษตรกรสู่การเป็น “ผู้ประกอบการชุมชน” ส่งเสริมเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และทำการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมาปลดหนี้

 

วรรณี มหานีรานนท์

 

“เมื่อมาอบรมหลักสูตรนี้ ทำให้ภาพการทำงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราไม่ได้ทำงานโดดเดี่ยว แต่มีเครือข่ายจากเพื่อนร่วมรุ่นที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน มาต่อยอดแนวคิดหลากหลาย เพื่อสนับสนุนการทำงานด้านการฟื้นฟูรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะแนวคิดการเพิ่มรายได้เกษตรกรต้องทำอย่างครบวงจร ไม่สามารถทำอะไรเดี่ยวๆ”  ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เล่า

 

ผู้แทนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าพบนายกสภาทนายความ หารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเปิดเวทีให้ความรู้เกษตรกรน้องใหม่ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ ศาลาวัดปากจอก ม.11 ต.ทุ่งแล้ง .ลอง จ.แพร่

 

แนวคิดเพิ่มรายได้โดยทำเกษตรครบวงจร ก็เพราะการผลิตอย่างเดียวยากที่จะยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องนำผลผลิตมาแปรรูป พัฒนาการตลาด สู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน และมีการรวมกลุ่มกันที่เข้มแข็งผ่านผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรในพื้นที่

เมื่อเกิดการรวมกลุ่มจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มากขึ้น เพราะผลผลิตหรือสินค้าเกษตรแปรรูปถูกยกระดับราคา และมีการต่อรองกับผู้ซื้อได้มากขึ้น

ตัวอย่างโครงการยกระดับภาคการเกษตรสู่การแปรรูปที่เกิดขึ้นระหว่างการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงนั้น “วรรณี” เล่าว่า  ได้ลงพื้นที่พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น นำความรู้และเครือข่ายไปส่งเสริมการปลูกมะขามที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สู่การแปรรูปมะขามเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม โดยมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสนับสนุนงบแบบให้เปล่า และให้กู้ยืมเงินแบบไม่มีดอกเบี้ย ทำให้โครงการนี้มีทุนประเดิม จนประสบความสำเร็จในการแปรรูปและทำการตลาด

นอกจากนี้ เมื่อปี 2559 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังเป็นหนึ่งใน 39 องค์กรเครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ลงนามเอ็มโอยูเดินหน้า “องค์กรพัฒนาชุมชน” และในปี 2562 ยังลงนามเอ็มโอยูกับ 32 องค์กรเครือข่ายฯ ร่วมกัน “สานพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” เป็นการรวมพลังเครือข่ายผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง แปลงทฤษฎีสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สู่ทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงภาคการเกษตร

 

ผู้แทนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯลงพื้นที่พบปะเกษตรกรสมาชิกจากจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และอยุธยา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในภารกิจ

 

ขณะที่ผลลัพธ์ในการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูรายได้ให้กับเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ตามแนวทางสัมมาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ช่วยลดภาระหนี้สิน เกษตรกร เกษตรกรได้คืนหลักทรัพย์ โฉนดที่ดินมากขึ้นต่อเนื่อง

ตามข้อมูลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ระบุว่า ณ ปี 2546 – 31 สิงหาคม 2565 มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ และได้สิทธิการจัดการหนี้แล้ว จำนวน 548,062 ราย  814,700 สัญญา  มูลหนี้ 117,699,252,024.88 บาท  

สำนักงานสาขาจังหวัดพิจิตรมอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกร

ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2565 ระบุว่า มีการโอนหลักทรัพย์แล้วเสร็จ (ส่วนใหญ่เป็นโฉนดที่ดิน) ของเกษตรกร มาให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรบริหาร เพื่อยืดระยะเวลาในการรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรแล้ว จำนวน 17,486 ราย 25,962 แปลง รวมเนื้อที่ 177,843 ไร่ 1 งาน 86.85 ตารางวา และได้รับคำขอแจ้งความประสงค์ปิดบัญชีจากเกษตรกรที่ชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา จำนวนทั้งสิ้น 11,408 ราย

 “สำนักงานฯ สังเกตว่าหลังจากเข้าไปจัดการหนี้ (ช่วยเจรจาสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งหนี้เสีย (NPL) และหนี้รอการขาย (NPA)กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จากนั้นโอนโฉนดมาให้สำนักงานกองทุนฯฟื้นฟูฯ บริหารต่อ โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร) รวมถึงเข้าไปสร้างอาชีพฟื้นฟูรายได้ ปัจจุบันเกษตรกรมีการชำระหนี้คืนในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีจำนวนมากที่สามารถปลดหนี้ได้โฉนดที่ดินคืน”

“วรรณี” เล่าว่า เกษตรกรบางรายบอกว่า ไม่ได้จับโฉนดแผ่นนี้มานานกว่า 20 ปี เพราะต้องเอาไปค้ำประกันเงินกู้กับหลายสถาบันการเงินเจ้าหนี้

 

ผู้แทนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯชำระหนี้แทนเกษตรกร

 

“พอเขาได้จับโฉนดนี่ ร้องไห้เลยนะ หรือโฉนดบางแปลงเก่าจนขาด แต่สุดท้ายก็ได้กลับมาเป็นของเขา ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเขามีรายได้มากขึ้น จนสามารถจัดการหนี้สินได้ สามารถที่จะดำเนินชีวิต ทำมาหากินในภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี”

นี่คือ ตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูรายได้ เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร ตามแนวทางสัมมาชีพ ควบคู่ไปกับภารกิจของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเป็นการใช้ความรู้จากหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ผนึกเครือข่ายไปขยายผล

กลายเป็น “พลังบวก” สร้างการเปลี่ยนแปลงให้บรรลุผลเร็วขึ้น 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top