“บรรจง พรมวิเศษ” ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำแก้จนบ้านดงขี้เหล็ก
“บรรจง พรมวิเศษ”
ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำแก้จนบ้านดงขี้เหล็ก
รางวัลชีวิตของ “บรรจง พรมวิเศษ” หรือ “ลุงจง” อายุ 63 ปี ชาวบ้านขอนขว้าง ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี คือ ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2565 ด้วยเหตุผลความสำเร็จใน 2 เรื่องใหญ่ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของชาวบ้าน และวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชนเพื่อทำเกษตรกรรม
ก่อนหน้านี้ ในปี 2549 เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ประสานงานชุมชนดีเด่น จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อีก 10 ปีต่อมาในปี 2559 ได้รับรางวัลอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านดีเด่น (ทสม.) ระดับจังหวัดปราจีนบุรี จากกรมส่งเสริมคุณถาพสิ่งวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในปี 2564 ได้รางวัลประกาศเกียรติคุณโครงการ “ค่าของแผ่นดิน” จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานที่โดดเด่น
ก่อรูปจิตใจมุ่งมั่นขยายกลุ่มออมทรัพย์
ก่อนปี 2524 โจทย์ใหญ่ที่ชาวบ้านขอนขว้าง หมู่ 10 ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ต้องหาทางขจัด คือ ความยากจนจากการทำอาชีพเกษตร มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้เป็นหนี้เงินกู้ทั้งในและนอกระบบ ชีวิตจึงต้องพัวพันอยู่กับการกู้หนี้ โปะหนี้
“ผมเห็นชาวบ้าน เมื่อถึงเวลานวดข้าวต้องไปยืมเงินมาก่อน ทำเสร็จเจ้าหนี้ก็ตวงข้าวขนขึ้นรถไป เหลือเพียงข้าวก้นลานให้เรากิน มันเป็นอย่างนี้เป็นประจำ” บรรจง ในฐานะประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ต.ดงขี้เหล็ก ย้อนเล่าความทุกข์ยากของชาวบ้านขอนขว้าง พื้นถิ่นที่เขาอยู่มาตั้งแต่เกิด ซึ่งครอบครัวของเขาก็ผจญภาวะแบบนี้เช่นกัน เขาเล่าว่า พ่อ-แม่ มีลูก 7 คน เขาเป็นคนโต ด้วยความยากจนเมื่อจบ ป.4 จึงต้องออกจากโรงเรียนมาทำนา ช่วยพ่อแม่ส่งน้องเรียนหนังสือต่อ
“ชาวบ้านไม่มีเงิน ไม่มีทุน จึงต้องไปเอาเงินทุนของเขา (นายทุน) มาใช้ก่อน แล้วให้หักเอาจากข้าว” บรรจงสะท้อนภาพอันหดหู่ แต่นั่นกลับเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีความคิดที่ฝังลึกว่า “โตขึ้นจะแก้ปัญหาให้ได้”
ปัญหาความจนยังประดังประเดเข้าใส่ชาวบ้านขอนขว้างและตำบลดงขี้เหล็กเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เพราะนอกจากอาชีพทำนา ชาวบ้านยังมีหนี้ก้อนโตที่ผูกพันมากับการปลูกหน่อไม้ไผ่ตงเพื่อส่งโรงงานแปรรูปของชาวไต้หวัน เมื่อปลูกกันมากราคาจึงตกต่ำ ประกอบกับพื้นที่แห้งแล้ง ขาดน้ำ ไผ่ตงจึงตายเรียบ เงินกู้กลายเป็นหนี้พร้อมดอกเบี้ยพอกพูน ชาวบ้านต้องนำที่ดินไปจำนองเพื่อหาเงินมาเป็นทุนทำนา ทำสวนผลไม้ หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับขาย
เมื่อเงินเป็นปัจจัยจำเป็น บรรจงเล่าว่า ชาวบ้านจึงชวนกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือกันเอง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง จึงเกิดขึ้นเมื่อ 5 ก.ย. 2524 มีเงินออมก้อนแรก 1,150 บาทจากสมาชิกบุกเบิก 48 คน และแม่ของบรรจงเป็นหนึ่งในกรรมการช่วงบุกเบิก
กลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้างมีเป้าหมายชัดเจนให้คนในชุมชนรู้จักออม มีสัจจะ มีคุณธรรม และเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนา ส่งเสริมอาชีพสมาชิก สิ่งที่ตามมาอย่างมีนัยยะคือ เกิดการพบปะเรียนรู้กันและกัน เดือนละหนึ่งครั้ง ส่วนการบริการ กลุ่มยึดหลักความเท่าเทียมและความเสมอภาคกันของสมาชิก
ในช่วงเริ่มต้น ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ แต่คณะกรรมการชุดแรกได้โหมประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านมีจิตสำนึกในการออม ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อนำเงินมาฝากสะสมไว้เป็นแหล่งเงินทุนของชุมชน สมาชิกสามารถกู้ยืมด้วยดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นายทุนนอกระบบ เป็นการช่วยเหลือกันและกันตามวิถีคนในชุมชน
การโหมแรงบุกเบิกชี้แจงชาวบ้านอย่างเข้มข้นในปีที่เริ่มต่อตั้งกลุ่ม ส่งผลให้หมู่บ้านขอนขว้างได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านตัวอย่างระดับอำเภอของจังหวัดปราจีนบุรี ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวของชาวบ้าน กลุ่มออมทรัพย์จึงขยับขยาย มีสมาชิกเข้ามาอีกจำนวนมาก
ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้างดำเนินการมาแล้วกว่า 40 ปี มีสมาชิกกว่า 1,800 คน มีเงินออมถึง 130 ล้านบาท เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างมากจนหมู่บ้านอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง และขยายไปครบทั้ง 14 หมู่บ้านในตำบลดงขี้เหล็ก รวมเงินออมมากถึง 600 ล้านบาทเศษจากสมาชิกกว่า 9,541 คน
พลังทุนทางสังคม: ผนึกศรัทธาเชื่อมั่นผู้นำสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จของกลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้าง เกิดจากทุนชุมชนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผ่านพ้นปัญหาความทุกข์ยาก รวมถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความศรัทธาในตัวผู้นำ คือ นายบุญศรี จันทร์ชัย อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 และประธานกรรมการกลุ่มออมทรัพย์คนแรก ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีด้านความซื่อสัตย์ โปร่งใส เสียสละ อุทิศตนเพื่อชุมขน และมีแนวคิดกว้างไกลในการทํางาน มุ่งเน้นให้กลุ่มมั่นคง รวมทั้งชาวบ้านเชื่อว่า ผู้นำสามารถนําพากลุ่มไปสู่เป้าหมายอนาคตที่ดีได้
กลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้างยังขยายความเติบโตสู่ครัวเรือน โดยพ่อแม่จะแนะนำส่งเสริมให้ลูกสมัครเป็นสมาชิก เฉลี่ยครอบครัวละ 3 คน เพื่อปลูกฝังลูกให้มีวินัยการออม และเกิดความรับผิดชอบ ความร่วมมือทำกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนจัดขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือทำแผนแม่บทชุมชน ผังชีวิตชุมชน นำสู่การจัดตั้งโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้าง ศูนย์รวมปลูกฝังการเก็บออม วางแผนการใช้จ่ายและพัฒนาชีวิตที่ดีของชุมชนสู่ลูกหลานในอนาคต
“แต่ก่อนชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ ยากจน แต่เมื่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์มาแก้ปัญหาความยากจนนั้น สิ่งที่ได้ตามมาคือ การรวมคน แม้แรกๆ จะเกิดอุปสรรค ระแวงว่าจะโกงกัน แต่แม่ผมก็เป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิก ผู้ใหญ่บ้านก็เป็นสมาชิก จึงเป็นความโชคดีของบ้านเราที่มีผู้นำมีวิสัยทัศน์กว้างไกลเพื่ออนาคตของชุมชน”
บรรจง บอกว่า โรงเรียนออมทรัพย์บ้านขอนขว้าง มีกรมพัฒนาชุมชนมาช่วยพัฒนาหลักสูตร ซึ่งมี 3 ด้านสำคัญ คือ การบริหารจัดการ การจัดการบัญชี และกิจกรรมเครือข่าย แต่โดยรวมแล้วหลักสูตรมุ่งไปสู่การแก้หนี้เงินกู้ ขจัดความยากจน การวางแผนอาชีพของชุมชน และขยับไปถึงการจัดสวัสดิการชุมชน
“หลักสูตรนี้มีประโยชน์มาก กรมพัฒนาชุมชนจะหากลุ่มเป้าหมายให้ แล้วเราเป็นคนสอน โดยเราดูแลในภาคกลางและตะวันออก สิ่งที่จะนำไปเติมเต็มให้ชาวบ้านคือ การสอนวิธีจัดการ การวางแผนต่างๆ
เพราะความจนของคนเราครั้งแรก มาจากการขาดความรู้ เราไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการตัวเองเลย เช่น เมื่อกู้เงินธนาคารได้ก็ชวนกันกินเหล้าเลี้ยงฉลอง สิ่งนี้สะท้อนอย่างชัดว่า ขาดการวางแผนการใช้เงินประกอบอาชีพ
หรือชาวบ้านส่วนใหญ่ถือสมุดอยู่เล่มหนึ่ง เป็นเงินกู้ธนาคารหรือสัญญากู้นอกระบบ ส่วนมืออีกข้างไม่เคยถือสมุดเงินออมเลย พอมาทำตรงนี้เขาจึงเริ่มนับหนึ่ง แล้วขยับ จนเห็นชัดว่า มือชาวบ้านเริ่มถือสมุด 2 ข้างแล้ว ขณะเดียวกันเงินกู้ก็ค่อยๆ ลดลง เงินออมก็จะมากขึ้น”
จากนั้น ทางกลุ่มออมทรัพย์ได้เขียนระเบียบการกู้ยืมไปประกอบอาชีพ จนนำไปสู่การจัดการหนี้นอกระบบที่ตั้งเป้าไว้แต่แรก “ปัจจุบันใครเอาหลักทรัพย์ไปไว้กับนายทุน เราจะให้นำกลับมาผ่อนชำระในกลุ่มเราหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดิน (ชาวบ้าน) หลุดมือไป”
จัดการแหล่งน้ำพลิกเปลี่ยนชีวิต
บรรจงบอกว่า ตำบลดงขี้เหล็กเป็นพื้นที่เกษตร แต่มีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะอยู่นอกเขตชลประทาน ชาวบ้านใช้แต่น้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้น หลังจัดระบบการออมแล้ว ชุมชนจึงหันมาวางแผนการประกอบอาชีพด้วยการแก้ปัญหาน้ำให้เพียงพอ โดยจัดการป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูแหล่งน้ำในชุมชน ทำระบบเขื่อนใต้ดินสำรองน้ำ ช่วยให้ชาวบ้านทำการเกษตรมั่นคงขึ้น
น้ำที่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านได้พลิกชีวิตใหม่ สามารถปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพร โดยเฉพาะไม้ประดับ ที่นี่ถือเป็นแหล่งใหญ่จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ปัจจุบันชุมชนมีรายได้ทุกวัน แต่ก่อนต้องรอรายได้เป็นปี”
ตั้งสวัสดิการชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิต
ตอนนี้กลุ่มออมทรัพย์บ้านขอนขว้างไม่ได้รับเงินฝากมาก โดยต้องกำหนดการฝากไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน เพราะเน้นการนำเงินให้กู้สำหรับสนับสนุนอาชีพ ดูแลสวัสดิการ เป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หนี้นอกระบบ ให้ชาวบ้านได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
“ตอนนี้เราใช้เงินกองทุนไปซื้อที่ดินเพื่อแก้ปัญหาให้คนที่ไม่มีอยู่อาศัย หรือเช่าบ้านอยู่ หรือเป็นครอบครัวขยาย เราซื้อที่ดินแล้วร่วมมือกับสถาบันพัฒนาชุมชนทำบ้านมั่่นคงให้สมาชิก
ส่วนการกู้ยืม เรามีใบขอกู้เหมือนให้เสนอแผนงานมา และเรามีคณะกรรมการคอยพิจารณาเงินกู้ เนื่องจากสมาชิกเป็นคนในตำบล เราจึงรู้หมด สามารถตรวจสอบการใช้เงินกู้ให้ตรงกับความจำเป็นในการกู้ได้ การกำหนดเงินกู้นั้น เราก็ดูด้วยว่า คนกู้เป็นอย่างไร มีสัจจะ ขาดส่งหรือไม่ ส่งดีหรือไม่ มีองค์ประกอบการพิจารณาให้กู้มากอยู่
การกู้ในเรื่องที่ดิน ที่ผู้กู้เอาไปจำนองที่อื่น จนผ่อนไม่ไหว เราก็ช่วยเจรจา โอนหนี้กลับมา รวมทั้งหนี้นอกระบบ เราเอาโฉนดกลับมารวม 30 ล้านบาท หรือเรื่องบ้าน ถ้าเขาจะปลูกบ้าน เราก็ให้เขาไปซื้อที่ดินสัก 100 ตารางวาก่อน เมื่อเขาผ่อนชำระเสร็จ จะปลูกบ้านก็มากู้ต่อ เรามีวงเงินกู้ยาวถึง 20 ปีในเรื่องการสร้างบ้าน”
นอกจากนี้ สวัสดิการชุมชนยังมีเรื่องทุนการศึกษาเด็กยากจน สงเคราะห์คนชรา การรักษาพยาบาลสมาชิก จัดงานประเพณีหมู่บ้านและกีฬาหมู่บ้านเพื่อปักฐานความสามัคคีของชุมชนให้แน่นหนายิ่งขึ้น
ความสำเร็จที่บรรจงทุ่มเทชีวิตและโหมแรงแก้ปัญหาความยากจนนี้ สามารถลบภาพจำข้าวก้นลานและความทุกข์ยากจากหนี้สิน ขจัดหนี้เงินกู้นอกระบบแทบหมดสิ้นในปัจจุบัน ขยับไปจัดการปัญหาแหล่งน้ำ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับสู่การสร้างเขื่อนใต้ดิน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการประกอบอาชีพเกษตร
เมื่อชุมชนไม่มีหนี้เงินกู้ ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านจึงมีรายได้เข้ามาต่อเนื่องเป็นรายวัน ไม่ต้องรอรายได้เป็นปีอีกต่อไป
“ตอนนี้เรามีความมั่นคงขึ้นทั้งเรื่องรายได้ อาชีพ ทุนการศึกษาของลูกหลาน”
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods