skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
โอมิครอนระบาดเร็ว หวั่นฉีดวัคซีนเด็กช้า ส่อโรควิตกกังวลรุม ปชช.

โอมิครอนระบาดเร็ว หวั่นฉีดวัคซีนเด็กช้า ส่อโรควิตกกังวลรุม ปชช.

โอมิครอนระบาดเร็ว

หวั่นฉีดวัคซีนเด็กช้า

ส่อโรควิตกกังวลรุม ปชช.

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ส่อแนวโน้มมาแทนที่สายพันธุ์“เดลตา” โดยเฉพาะสหรัฐผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีมากถึง 91% ของผู้ติดโควิดทั่วสหรัฐ สำหรับประเทศไทยย่อมไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน เพราะโอมิครอนขึ้นชื่อว่า เป็นไวรัสที่ระบาดรวดเร็ว แม้ความรุนแรงทำให้เสียชีวิตมีน้อยกว่าเดลตา แต่ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงโหมปลุกกระแสกำหนดเป้าหมายในปี 2565 เมื่อโอมิครอนระบาดมากขึ้น ก็จะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น”

 

แต่ปัจจัยนำไปสู่อาการโรคประจำถิ่นนั้นต้องมีอย่างน้อย 3 ด้านคือ 1.เชื้อโรคมีความรุนแรงลดลงซึ่งสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ เห็นได้จากแม้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง โดยข้อมูล ศบค.เมื่อ 13 ม.ค.มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่ม 8,167 ราย (วันที่ 12 ม.ค.ติดเชื้อ 7,681 ราย) เสียชีวิตลดลงจาก 19 คนเหลือ 14 คน

 

 

ส่วนปัจจัยด้านที่สองคือ ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น นั่นหมายถึงเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนไดด้นรับครบโดสในจำนวน 3 เข็มเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเมื่อ 12 ม.ค.ของกระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งจำนวน 51.6 ล้านคน หรือ 71.7% ของจำนวนประชากร (ประมาณกว่า 66 ล้านคน) เข็มสอง 65.5% หรือ 47.17 ล้านคน และเข็มสาม 12.4% หรือจำนวน 8.9 ล้านคน

 

 

ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนสามารถต้านทานโอมิครอนได้แล้ว ช่องว่างที่แตกต่างกันมหาศาลระหว่างตัวเลขเข็มสองกับเข็มสามจำนวน 38.27 ล้านคน จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความมั่นใจการป้องกันโควิดของประชาชน และยังลามโยงไปสู่ศักยภาพของปัจจัยด้านที่ 3 คือ ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดีเพียงไร เพราะถึงขณะนี้การโหมปลุก กระตุ้น เร่งประชาชนไปฉีดวัคซีนเข็มหนึ่ง เข็มสอง และเข็มสาม ยังกระหน่ำดังถี่อย่างต่อเนื่องทุกวัน แต่บางคนยังจองคิวไม่ได้อยู่ดี

 

 

 

หากพิจารณาปัจจัยนำไปสู่ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น”แล้ว สะท้อนได้ชัดเจนว่า การทำหน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ยังมีช่องโหว่อีกมาก เพราะวัคซีนต้องฉีดเป็นเข็มที่สาม และที่สี่ แต่แผนจัดหาวัคซีนในปี 2565 ตามประกาศอย่างโก้หรูภายใต้รหัสวัคซีนเต็มแขนว่ามีมากถึง 120 ล้านโดส จากแอสตร้า 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30-50 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนเหล่านี้มีกำหนดเข้ามาไทยในไตรมาศ 1-4 ของปี 2565

 

อีกอย่าง ในการปฎิบัติควบคุมโควิดของรัฐบาลนั้น มักซ่อนการผลักภาระให้คนป่วยและชุมชนดูแลจัดการกันเอง ในขณะที่รัฐเรียกร้องการตรวจด้วย ATK บ่อยๆ และปล่อยให้คนติดเชื้อเข้าระบบ HI (กักตัวที่บ้าน) ส่วนรัฐบาลกลับไม่มีข้อเสนอชัดเจนว่า จะสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายแก่คนป่วยและชุมชนอย่างไรบ้าง ดังนั้น การโหมกระแสโรคประจำถิ่นจึงเท่ากับปล่อยให้ประชาชนเดิมพันชีวิตกันเองตามลำพัง มาตรการของรัฐเอาแค่ตีฆ้องร้องป่าวเท่านั้น

 

เด็กกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ตัวเลขคนไทยได้ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งและเข็มสองทะลุไปกว่า 60-70% แต่ในจำนวนนี้ยังไม่มีเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี หรือเด็กวัยเรียนอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษารวมอยู่ด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระบบกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่น ๆ มีนักเรียนที่อยู่ช่วงอายุ 5-11 ปีในตอนนี้มีราว 5.2 ล้านคน จึงสะท้อนได้ว่า เด็กกว่า 5 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิดเลยสักเข็ม ย่อมเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและแพร่ระบาดเชื้อไปเป็นทอดๆ สู่คนอีกมากมายนับไม่ถ้วน

 

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 6-19 ปีติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 1 ธ.ค.2564 ถึง 7 ม.ค. 2565 รวม 1,048 คน ซึ่งในช่วงดังกล่าวนั้น ใกล้เคียงกับการเริ่มระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยกลับประเทศนำเข้ามา แล้วแพร่ระบาดในกลุ่มคนไทยจนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ไปทั่วทุกภาคในย่านพื้นที่การการท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี กทม. ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบล เป็นต้น

 

 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อในเด็กนักเรียนอายุ 6-18 ปีสูงสุด ดังนี้ 1. กทม.282 ราย 2. ชลบุรี 105 ราย 3. อุบลราชธานี 91 ราย 4. สมุทรปราการ 60 ราย 5. พังงา 56 ราย 6. กาฬสินธุ์ 52 ราย 7. ภูเก็ต 51 ราย 8. ขอนแก่น 50 ราย 9. พัทลุง 50 ราย 10. ร้อยเอ็ด 50 ราย

 

สิ่งนี้คือ สัญญาณเตือนภัยสถานการณ์โอมิครอนกระจายลงลึกไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กๆ อายุ 5-11 ปีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยสักเข็ม

 

 

วัคซีนเด็กพร้อมฉีด ก.พ.65

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแพร่ระบาดเชื้อโควิด โดยระบุว่า เด็กจะเป็นผู้กระจายเชื้อได้มาก เพราะอยู่ใกล้ชิดผู้ปกครอง ผ่านการสัมผัส กอดจูบของผู้ปกครอง หรือเล่นด้วยกันระหว่างเด็ก ซึ่งในอนาคตเราคงหนีไม่พ้น การติดในโรงเรียน ที่เหมือนแบบโรคหวัดทั่วไปโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

 

ดังนั้น วัคซีนที่ใช้ในเด็กที่ต้องการจะต้องมีความปลอดภัย ต้องมาก่อน และจะต้องมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อมากกว่า ลดความรุนแรงของโรค เพราะถ้าให้วัคซีนแล้วเด็กยังสามารถติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ จะไม่เกิดประโยชน์ในการลดการแพร่กระจายโรคได้ 

 

แต่ในความจริงอีกด้านหนึ่งคือ วัคซีนเด็กยังไม่มีในไทย และบริษัทต่างประเทศเพิ่งผลิตออกมามาปลายปี 2564 แล้วไทยขึ้นทะเบียน อย.วัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ฝาสีส้มของไฟเซอร์ ไว้แล้วเมื่อ 20 ธ.ค. 2564 อีกทั้งได้สั่งซื้อจำนวน 10 ล้านโดส เพื่อฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี โดยผ่านระบบสถานศึกษา คาดว่าจะเริ่มฉีดใน ก.พ.นี้

 

 

 

โดยแผนการฉีดไล่จาก 11 ปีลงมา วัคซีนที่จะฉีดให้เด็กจะเป็นจำนวน 10 ไมโครกรัมต่อโดส (ส่วนของผู้ใหญ่ฝาสีม่วง จำนวน 30 ไมโครกรัม ไม่สามารถจะแบ่งวัคซีนของผู้ใหญ่มาฉีดให้เด็กได้) ด้วยการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง อยากให้ลูกฉีดวัคซีนเชื้อตาย ต้องรออีกระยะ เพราะอยู่ระหว่างให้ อย. อนุมัติการใช้ในไทยเสียก่อน

 

ในช่วงโอมิครอนระบาดรวดเร็วในขณะนี้ และยังไม่มีวัคซีน สิ่งต้องมั่นดูแลคือ ตรวจอาการของเด็กจะเข้าข่ายติดเชื้อโควิดหรือไม่ เนื่องจากเชื้อโควิดมีอาการแสดงออกคล้ายไข้หวัด สำหรับในประเทศไทย จากการตรวจผู้มีอาการ 41 ราย กรมการแพทย์ ระบุว่า ส่วนใหญ่ 48% ไม่มีอาการ และ 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ อาการไอ 54 % เจ็บคอ 37 % มีไข้ 29 % ปวดกล้ามเนื้อ 15 % มีน้ำมูก 12 %    ปวดศีรษะ 10 % หายใจลำบาก  5 % และได้กลิ่นลดลงมีเพียง  2 % 

 

วันนี้เด็ก 5-11 ปี และผู้ปกครองกำลังวิตกกังวลในปัญหาสุขภาพของลูกหลานท่ามกลางการระบาดรวดเร็วของโอมิครอน ส่วนเด็กๆยังต้องรอให้วัคซีนเข้ามาไทยปลาย ม.ค. โดยกระทรวงทราวงสาธารณสุขเชื่อมั่นว่า จะได้ฉีดใน ก.พ. ซึ่งกว่าจะถึงวันฉีดวัคซีน สภาพจิตของผู้ปกครองคงอยู่ในอาการไม่แตกต่างกับคนเป็นโรคซึมเศร้า เพราะวิตกกังวลไปสาระพัดปัญหาในชีวิตประจำวัน


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top