skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
โควิดโอมิครอนระบาดหนัก รัฐเอาแต่พูด-เตียงไม่พอซ้ำซาก

โควิดโอมิครอนระบาดหนัก รัฐเอาแต่พูด-เตียงไม่พอซ้ำซาก

โควิดโอมิครอนระบาดหนัก

รัฐเอาแต่พูด-เตียงไม่พอซ้ำซาก

 

ความเหลื่อมล้ำกับระบบสาธารณสุขไทยยังดำรงอยู่มาเนินนาน คนรวย เหล่าดาราติดโควิดมีเตียงโรงพยาบาลรองรับอุ้มชูช่วยรักษา ส่วนคนจน ผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบาง กลับถูกบอกปัดง่ายๆ ไม่ช่วยรักษา อ้างว่า เตียงเต็ม

 

ตั้งแต่โควิดระบาดเข้าปี 3 คนจนยากจะเข้าถึงการรักษาโควิดของรัฐ ภาพผู้ป่วยในปี 2563 เมื่อโควิดระบาดครั้งแรก แม้มีไม่มาก แต่การบอกปัดจากโรงพยาบาลก็เป็นเช่นนี้ คือ บอกว่าเตียงไม่มี กระทั่งถึงปี 2565 ก็ยังเป็นเช่นเดิมแบบซ้ำซากจำเจ ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ปากนักการเมือง รัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูงล้วนปลุกปลอบว่า มีความพร้อมรักษาโควิด อ้างมียาพร้อม เตียงพร้อม และวัคซีนล้นเหลือขอให้มาฉีดกัน โดยคำพูดหลุดปากกล่าวอ้างนั้นกลับสวนทางความจริง คือ คนยังนอนข้างถนนรอการรักษา โรงพยาบาลยังอ้างไม่มีเตียง บอกให้ไปหาที่อื่นรักษาราวคนจนไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

หักหน้า รมต.และระบบสาธารณสุขไทย

คำพูดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขและรองนายกรัฐมนตรี บอกหน้าตาเฉย โดยเอาข้อมูลจากข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขที่ยืนไม่เว้นระยะห่างอยู่ด้านหลังมายืนยันว่า มีเตียง (รักษาโควิด) ทั่วประเทศเพียงพอ แล้วชุดข้อมูลจากระบบสาธารณสุขก็ให้ตัวเลข “เตียงว่าง” ตามมาเป็นชุดๆ เพื่อรับประกันคำพูดของนายอนุทิน คือ ข้อเท็จจริง

 

อย่างไรก็ตาม แม้เตียงโรงพยาบาลจะว่างหรือไม่ และจะเพียงพอต่อการรักษาโควิดหรือไม่ก็ตาม แต่เตียงพอและเตียงว่าง ไม่ได้รับประกันว่า โรงพยาบาลจะรับรักษาผู้ป่วยโควิดทุกรายเสมอไป และการอ้างเตียงเต็มยังเกิดขึ้นมาตลอดช่วง 3 ปีที่โควิดระบาดในไทย เพราะความเหลื่อมล้ำยังเป็นช่องวางห่างไกลในสังคมไทย

 

มีหลายกรณีที่คนป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลกลับถูกบอกปัดยังเกิดขึ้นถมถื่น กรณีเพจ Drama-addict โพสต์เล่าเหตุการณ์แม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง อาศัยในคอนโดมิเนียมย่าน จ.นนทบุรี โบกผ้าอ้อมลูกสาวอายุ 1 ขวบ 7 เดือนเนื่องจากทั้ง 2 คนตรวจ RT-PCR เมื่อ 18 ก.พ. พบลูกติดเชื้อโควิดจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่โรงพยาบาลสั่งให้กลับไปรอที่บ้าน

 

การรอแล้วรอเล่า รอจนลูกสาวตัวน้อยๆ มีอาการไอ ดูดนมไม่ได้ อาเจียน ไข้ขึ้นสูงถึง 38-39 องศาในตอนกลางคืน จึงห่วงอาการจะหนักขึ้น ได้ติดต่อกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอไปรักษาตัว แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอ้างว่าคนไข้เต็มเตียง ไม่ว่าง ให้ไปหาที่รักษาเอาเองก่อน

 

แม่ของลูกสาวตัวน้อยๆ พยายามติดต่อหาที่รักษาเองแต่ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับตัวไปรักษา จึงต้องร้องต่อสื่อมวลชน แน่ละเมื่อเป็นข่าวขึ้นมาระบบสาธารณสุขไทยย่อมรีบลงมาช่วยจัดการหาเตียงรักษาโควิดให้ลูกน้อยๆ ของเธอ

 

บทสรุปไม่มีเตียงรักษา แล้วร้องต่อสื่อฯ แล้วได้รักษายังเป็นหนทางที่คนสิ้นไร้ไม้ตอก และคนจนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขเร็วขึ้นเสมอมา สิ่งนี้เป็นความจริงที่สวนทางกับคำพูดของนักการเมือง รัฐมนตรี และรัฐบาลที่ยืนยันความพร้อมต่อการรักษาโควิดมาตลอดช่วง 3 ปีที่ไทยผจญการแพร่ระบาดหนักหน่วงและทวีความรุนแรงขึ้น

 

 

กรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิดอีกหลายรายเช่นกัน เพจเส้นด้าย รายงานข้อมูลหญิงต่างจังหวัดป่วยโควิดนอนรออยู่ข้างถนนใน กทม. เมืองที่ รมต.ท่องเที่ยวโชว์ความศิวิไลซ์ไปขายดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวทั้งในระบบ Test & Go และ Sandbox หวังโกยเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่คนไทย คนจนป่วยโควิดกลับนอนข้างถนน โรงพยาบาลบอกปัดไม่รับรักษาเพราะเตียงเต็ม ประหนึ่งคนเบี้ยน้อยหอยน้อยถูกปล่อยทิ้งจากรัฐใจจืดใจดำ

 

อีกทั้ง เพจเส้นด้าย กังวลยิ่งขึ้นเพราะนับวันคนป่วยโควิดเริ่มขยับพุ่งสูงต่อเนื่อง ระบบฮอสพิเทลหลายที่เริ่มปิดรับคนไข้ โรงพยาบาลหลายแห่งเตียงเริ่มเต็ม คนไข้หลายคนยังรอคอยยาอยู่ที่บ้าน….แล้วภาพเดิมๆ เป็นภาพคนนอนข้างถนน คนมีอาการป่วยเริ่มทรุดแย่ ลมหายใจรวยริน อ่อนแรง จวนสิ้นใจคาบ้าน ภาพเช่นนี้หนักหน่วงเมื่อปี 2564 เริ่มกลับมาให้เห็น ส่วนรัฐมนตรียังบอกเตียงมีเพียงพอ พร้อมรักษาทุกคน พูดซ้ำๆ วนเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ช่างกล้าพูด ไม่อายฟ้าดิน!!?

 

 

ภาพพนักงานรักษาความปลอดภัยคนหนึ่งติดโควิด นอนคุดคู้หน้าธนาคารหลังจากพยายามติดต่อเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลประกันสังคมไม่สำเร็จ เขาไม่กล้ากลับห้องเช่าไปหาลูกเมีย เนื่องจากกังวลจะนำเชื้อโควิดไปติด จึงต้องมานอนรอการรักษา ผู้ป่วยรายนี้เช่นกัน เมื่อสื่อฯนำข้อมูลไปเผยแพร่ หน่วยงานรัฐรีบมารับตัวไปรักษา รมต.แรงงานสั่งให้ฮอสพิเทลไม่เต็มได้ เตียงยังมีว่างอยู่กับผู้ป่วยที่เป็นข่าวออกสื่อฯ อีกเช่นเคย

 

 

แล้วภาพตัดกลับเป็นด้านตรงข้ามกับคนจนป่วยติดโควิด คือ ภาพที่เหล่าดาราใหญ่ๆติดโควิดโพสต์ผ่านโซเชียลถี่ยิบกว่าสิบราย โดยบอกว่า กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล ราวกับสะท้อนว่าเมื่อตรวจหาเชื้อ รู้ผลติดโควิดปุ๊บ เตียงโรงพยาบาลก็ว่างปั๊บ พร้อมอ้าแขนโอบอุ้มไปรักษาตัวอย่างฉับพลัน ภาพเช่นนี้บอกนัยว่า เตียงมีเพียงพอสำหรับคนมีเงิน ทั้งๆที่ผู้ป่วยโควิดรักษาฟรีทุกรายไม่ว่าคนมีหรือจน รัฐรับผิดชอบออกค่ารักษาทุกบาทุกสตางค์ให้หมด แล้วคนจนกลับเตียงเต็ม ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำร่ำไป

 

กักตัวที่บ้านไร้ยารักษา-เข้าระบบยาก

ระบบสาธารณสุขไทยตอกย้ำมาเสมอว่า ผู้ติดโควิดเล็กน้อยหรือแค่สีเขียวให้เข้าระบบ Home Isolation (HI) กักตัวอยู่ที่บ้าน และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) แต่ต้องประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่าน Call Center สายด่วน 1330

 

ดูเหมือนระบบ HI กับ CI เป็นมาตรการขึ้นชื่อของระบบสาธารณสุขไทยในการสกัดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในวงกว้าง แต่ระบบนี้ดูจะไม่เอื้อต่อคนจนที่บ้านอยู่กันหลายชีวิต ไม่มีห้องหับให้กักตัวกันได้ กรณีของพนักงานรักษาความปลอดภัยนอนข้างถนนหน้าธนาคารเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงได้ชัดเจนว่ามาตรการ HI ไม่มีประสิทธิภาพกับการสกัดโควิดของคนจน

 

อีกทั้ง ในช่วงโควิดระบาดหนักขึ้น ผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งเป็นจำนวนมาก การติดต่อผ่านสาย 1330 กลับยากลำบากสิ้นดี ไม่มีคนรับสาย พูดคุย หรือปล่อยให้รอนานไม่ติดต่อกลับจนเข้าระบบ HI ไม่ได้ ซ้ำร้ายคนป่วยกักตัวที่บ้านยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ของรัฐ ไม่มียาฟาริพิราเวียร์ส่งมาให้ ขาดการประสานงาน ถามไถอาการ จนผู้ป่วยกลายเป็นคนติดเชื้อโควิดอนาถา นอนรออาการแย่ๆ มาซ้ำเติมอย่างอเนจอนาถหดหู่ใจ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบ HI นั้น สปสช. ออกมายอมรับว่า สาย 1330 ไม่เพียงต่อการบริการของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นมีคนติดเชื้อโควิดติดต่อมาต่อวันถึง 50,000 คน ซึ่งบอกเป็นนัยว่า โควิดระบาดหนักมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากจริงๆ โดยการคาดการณ์ข้อมูลเคยมีมาก่อนหน้านานเป็นเดือนว่า จะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 3-4 หมื่นคนต่อวัน แต่ระบบสาธารณสุขกลับไม่เตรียมพร้อมกับการรับมือ กรณียามรักษาความปลอดภัย แม่ของทารกน้อย และอีกหลายกรณีในระบบ HI ที่ถูกปล่อยให้ติดเชื้อที่บ้าน สิ่งเหล่านี้บอกกันอย่างโจ่งแจ้งทันทีว่า สาธารณสุขไทยเอาแต่คุยโอ้อวดมีความพร้อมในการรักษาโควิด

การคุยโอ้อวดเช่นนั้น ส่วนหนึ่งคงหวังกลบปัญหาการขาดงบประมาณมาดูแลผู้ป่วย โดยความพยายามจะยกเลิกโรคโควิดออกจากโรคฉุกเฉินที่รัฐต้องรับผิดชอบและรักษาฟรีให้ประชาชนทุกราย แล้วไปรักษาตามสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆของประชาชนเอง สิ่งนี้ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขแต่ความพยายามนั้นก็ทำไม่สำเร็จ คณะรัฐมนตรีเบรคสาธารณสุขจนหัวทิ่มหัวตำ

 

 

เมื่อนายอนุทิน ผลักดันให้โควิดออกจากโรคฉุกเฉินไม่ได้ ดังนั้นการโหมประโคมค่าใช้จ่ายกับการรักษาโควิดตลอด 2 ปีมานั้นหมดงบประมาณไปกว่าแสนล้านบาท เพื่ออ้างไปสู่การจำกัดวงเงินรักษาผู้ป่วยโควิดตามกลุ่มอาการ โดยกลุ่มติดเชื้อไม่มีอาการหรือสีเขียวได้วงเงิน 12,000 บาทต่อราย สีเหลือง 69,300 บาทต่อราย และสีแดง 214,400 บาทต่อราย ดังนั้นถ้าผู้ป่วยรักษาเกินงบแล้ว คงต้องควักเงินจ่ายเอง ราวกับจำลองการช่วยเหลือแบบ “คนละครึ่ง” มาเป็นมาตรการรักษาโควิดในยามรัฐถังแตก ไร้งบประมาณมาอุดหนุนดูแลสุขภาพของประชาชน

 

หนุนเศรษฐกิจ ปล่อยสาธารณสุขยถากรรม

การหนุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือการระบาดโควิดยังขาดประสิทธิภาพนั้น ยิ่งทำให้การระบาดเชื้อในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นรายวันไปแตะกว่า 3 หมื่นคนแล้ว

 

 

5 วันติดเชื้อโอมิครอน
ปี 2565 ติดเชื้อ รักษา เสียชีวิต
RT-PCR ATK รวม รพ. อาการหนัก เครื่องช่วยหายใจ
19 ก.พ. 18,885 13,588 32,473 157,499 749 184 29
20 ก.พ. 18,953 8,814 27,767 162,460 747 189 30
21 ก.พ. 18,883 15,010 33,893 166,397 796 202 32
22 ก.พ. 18,363 14,605 32,968 169,074 827 214 35
23 ก.พ. 21,232 16,890 38,122 173,605 882 229 39
รวม 165,223 รวม

165

 

ข้อมูลผู้ป่วยเมื่อ 23 ก.พ. การติดเชื้อรวมทั้งระบบ RT-PCR กับ ATK พุ่งไปแตะที่ 38,122 คน มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 39 คน และตัวเลขจำนวนมากนี้ขยับสูงขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 19 ก.พ. ดังนั้น ส่อแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งมีสภาพที่น่าหวั่นระทึกอย่างยิ่งกับการรับมือของสาธารณสุขไทย

 

หากไล่เรียงจำนวนผู้ป่วยย้อนหลัง 5 วันนับแต่ 19 ก.พ. ยอดคนป่วยพุ่งเป็นรายวัน โดย 19 ก.พ.ติดเชื้อ 32,473 คน ถัดมา 20 ก.พ.ลดลงเหลือ 27,767 คน แล้วพุ่งขึ้นในวันที่ 21 ก.พ. เป็น 33,893 คน มาลดลงเล็กน้อยวันที่ 22 ก.พ.มีผู้ติดเชื้อ 32,968 คน และพุ่งพรวดเป็น 38,122 คนในวันที่ 23 ก.พ. รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อใน 5 วันจำนวน 165,223 คน หรือเฉลี่ยวันละ 33,044 คน โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักรักษาในโรงพยาบาลและใส่เครื่องช่วยหายใจก็มีเพิ่มขึ้รทุกวัน จึงจัดว่ามีการระบาดขึ้นอย่างมากอักโขที่เดียว

 

 

เมื่อผู้ป่วยเพิ่มกันมากมายเช่นนี้ ดูเหมือนรัฐไม่สะทกสะท้านกับมาตรการดูแลประชาชนในยามที่ระบบสาธารณสุขไร้เตรียมความพร้อมรับมือ แต่รัฐกลับเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าไทยสะดวกขึ้นด้วยการยกเว้นมาตรการที่เป็นอุปสรรคบางข้อ คือ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 นักท่องเที่ยวในระบบ Test & Go จะยกเลิกตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 โดยวันที่ 5 ให้ตรวจเฉพาะ ATK ก็พอ พร้อมกับลดวงเงินประกันโควิดคนต่างชาติไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่า มาตรการเช่นนี้จะทำให้มีคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

 

ส่วนคนในชาติแล้ว กลับแตกตื่นกับมาตรการสาธารณสุขที่ขาดประสิทธิภาพรองรับ รัฐยังไม่ใส่ใจและสั่งการให้เพิ่มเตียงรักษาทั้งระบบสีเขียว เหลือง และแดง ทั้งๆที่แนวโน้มโควิดระบาดหนักเพิ่มขึ้นทุกวัน นพ.ยง  ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ว่า ไทยจะมีผู้ป่วยถึงวันละ 1 แสนคน

 

ดังนั้น การดูแลรักษาจึงต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน สิ่งที่รัฐเอาแต่พูดว่าพร้อมก็เป็นเพียงการปลุกปลอบใจ ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก เพราะคำพูดที่ไม่เป็นความจริงย่อมก่อเพิ่มความแตกตื่นให้ประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก

 

ความจริงของการระบาดที่เพิ่มสูงวันละกว่า 3 หมื่นคนนั้น ส่อถึงวันเวลาที่คนป่วยต้องนอนรอข้างถนน คนกักตัวที่บ้านร้องหายามารักษา เตียงโรงพยาบาลและศูนย์พักคอยยังไม่เพียงพอ อีกทั้งวัคซีนกลับมีความไม่แน่ใจว่า มีเพียงต่อประชาชนหรือไม่ คิดกันง่ายๆ การฉีดวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันโควิดได้นั้น เวลานี้ต้องฉีดถึง 3 เข็ม แต่ตัวเลขเมื่อ 22 ก.พ. ไทยฉีดเข็ม 3 เพียง 19.2 ล้านโดสเท่านั้น จึงไม่พอกับการป้องกันการระบาดระลอกใหญ่ครั้งใหม่นี้

 

 

เอาอีกละ รัฐกลับเรียกร้องให้มาฉีดวัคซีน ยืนยันว่า มีเพียงพออีกตามเคย แต่เมื่อ 22 ก.พ.ข้อมูลฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัยจำนวน 12.7 ล้านคนได้ฉีดเข็ม 3 เพียง 3.5 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่เด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 5 ล้านคนได้ฉีดเข็ม 1 แค่ 4.1 แสนคน และเข็ม 2 มีน้อยนิดเพียง 1.3 หมื่นคน ด้วยข้อมูลเช่นนี้จึงสะท้อนว่า คำพูดของรัฐที่ว่ามาตรการดูแลประชาชนนั้นมีความพร้อม จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นคำพูดลอยลมที่ออกจากปากแล้วผ่านพ้นไปเป็นรายวันแบบซ้ำซากจำเจเช่นเดิมตามเคยอีกแล้ว

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

Back To Top