skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เช็คพร้อม!!? เล่นใหญ่ เปิดทั้งประเทศ 1 พ.ย.

เช็คพร้อม!!? เล่นใหญ่ เปิดทั้งประเทศ 1 พ.ย.

เช็คพร้อม!!? เล่นใหญ่

เปิดทั้งประเทศ 1 พ.ย.

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งอ่านแถลงการณ์ตาไม่กะพริบออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลเมื่อคืนวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื้อหาตลอดเวลา 10 นาทีเศษมีนัยยะเพียงประกาศ “เลื่อน” เปิดประเทศออกไปเป็น “1 พฤศจิกายน” หลังจากเคยให้คำมั่นสัญญาจะเปิดประเทศใน 120 วัน แต่สถานการณ์โควิดระบาดระลอกสามรุนแรงหนักคงไม่เป็นใจ จึงทำไม่ได้

 

ยังจำกันได้หรือไม่!! เมื่อ 16 มิถุนายนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยอ่านแถลงการณ์ทำนองนี้ผ่านทีวีพูลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วันจนสร้างความฮือฮามาแล้ว ในครั้งนั้นอ้างความจำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจให้ประชาชนได้ทำงานเลี้ยงปากท้องตามปกติ ซึ่งเวลา 120 วันครบกำหนดใน “วันที่ 14 ตุลาคมนี้”

 

ถึงที่สุดแล้ว การระบาดของโควิดยังไม่สร่างซาลง คงเป็นเหตุเบื้องหลังทำให้มานั่งตาถมึงจ้องอ่านแถลงการณ์ประกาศเลื่อนเป็นครั้งที่สอง แต่การเปิดประเทศจะเป็นวันไหนก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งดีเพราะนั่นคือชีวิตปกติจวนเจียนมาถึงแล้ว

 

สถานการณ์เปลี่ยน-เพิ่มมั่นใจ??

การประกาศครั้งใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ สถานการณ์โควิดโดยรวมแตกต่างจากเมื่อเคยสัญญาไว้เมื่อ 16 มิถุนายนในบางด้าน คือมีแนวโน้มที่ดีที่จะได้วัคซีนเฉียด 100 ล้านโดสมาฉีดประชาชนให้ครบตามเป้าหมาย 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 และตลอดเวลาใกล้ถึง 120 วันเปิดประเทศสะท้อนถึงพัฒนาการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นอาจถึงขั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สบายใจจนเพิ่ม“ความมั่นใจ”จะคุมการระบาดของโควิดได้

 

หากพิจารณาสถานการณ์โควิดระบาดเมื่อ 16 มิถุนายน ในวันที่อ่านแถลงการณ์ครั้งแรกแล้ว ข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดสะสมตั้งแต่เริ่มระบาดมีจำนวน 204,595 คน เสียชีวิต 1,525 ราย ส่วนกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุข้อมูลว่า ใช้วัคซีนหลักเพียง 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวค 5.1 ล้านโดส กับแอสตร้าเซเนกา 1.9 ล้านโดส แต่ฉีดแค่ 6.7 ล้านโดส แบ่งเป็นฉีดเข็มหนึ่ง 4.9 ล้านโดสคิดเป็น 7.5% ของประชากร และเข็มสองจำนวน 1.8 ล้านโดสคิดเป็น 2.8% ของประชากร

 

และแล้วตลอดเวลาใกล้ 120 วันเปิดประเทศ ไทยเจอการระบาดของโควิดรุนแรง โดยข้อมูลเมื่อ 13 ตุลาคม มีผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 1,740,428 คน เสียชีวิตรวม 17,917 ราย ฉีดวัคซีน (ข้อมูลเมื่อ 11 ตุลาคม) ได้ 61 ล้านโดสเศษ แบ่งเป็นเข็มหนึ่ง 35.4 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 49% และฉีดเข็มสอง 23.7 ล้านโดสคิดเป็น 33% ของประชากร

 

สถานการณ์โควิดระบาด 120 วันเปิดประเทศ
เดือน ติดเชื้อสะสม เสียชีวิตสะสม ฉีดวัดซีนครบโดสสะสม (ล้านโดส)
16 มิ.ย. 204,595 1,525 1.8
15 ก.ค. 372,215 3,032 3.3
15 ส.ค. 907,157 7,552 5.1
15 ก.ย. 1,420,340 14,765 13.7
13 ต.ค. 1,740,428 17,917 23.7

 

ด้วยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ตั้งแต่การประกาศครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายนถึง 13 ตุลาคม ซึ่งเหลืออีกหนึ่งวันครบ 120 วันเปิดประเทศนั้น สถานการณ์โควิดมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่ม 1,535,833 คน เฉลี่ยติดเชื้อใหม่ต่อวัน 12,906 คน เสียชีวิตสะสมเพิ่ม 16,392 ราย หรือเฉลี่ยตายวันละ 137 ราย

 

ทว่าสิ่งที่แตกต่างบ่งบอกถึงด้านดีเชิงพัฒนาการคือ การฉีดวัคซีนสะสมได้เพิ่มมากขึ้นถึง 54.2 ล้านโดสเฉลี่ย (117 วัน) ฉีดได้วันละ 463,696 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มหนึ่งได้เฉลี่ยประมาณวันละ 260,802 โดส และเข็มสองประมาณวันละ 187,725 โดส ดังนั้น แม้การฉีดวัคซีนใน 120 วันดันพุ่งพรวดขึ้นมามากมาย แต่การฉีดเข็มสองยังไม่ถึงเป้าหมาย 50 ล้านคนหรือ 70% ของประชากรตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้เป็นสาระหลักในสัญญา 120 วันเปิดประเทศ

 

เมื่อเอาตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นเครื่องบ่งชี้การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน แล้ว ในช่วงเวลาจาก 13 ตุลาคมถึงสิ้นเดือนตุลาคมเหลืออีกประมาณ 18 วัน หากสามารถระดมฉีดเข็มสองได้เพิ่มอีก 3 ล้านโดสเศษ ย่อมรวมฉีดเข็มสองได้ประมาณ 26 ล้านโดส ซึ่งก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย 50 ล้านคนอยู่ดี นั่นแปลความว่า การเปิดประเทศตามประกาศครั้งใหม่ “ยังไม่เกิดมั่นใจ” ในด้านมาตรการสาธารณสุข

 

รวมทั้งวัคซีนที่ส่งมอบให้ในช่วง 120 วันเปิดประเทศครั้งแรก แม้ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า มีเข้ามามากขึ้น แต่ยังไม่มากพอมาเติม “ความมั่นใจ”ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อในระดับ 70% ของประชากรอยู่ดี

 

อีกอย่าง เมื่อพิจารณาการติดเชื้อโควิดเพิ่มตั้งแต่ 16 มิถุนายนมาแล้ว ข้อมูลบอกถึงช่วงใกล้ 120 วันนั้นยังมีอัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มเฉลี่ย “กว่าหมื่นคนและเสียชีวิตต่อวัน 137 ราย” จนน่าเชื่อได้ว่า ไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ดังนั้นสะท้อนถึงการระบาดของโควิดยังไม่ผ่อนคลายลง

 

ตรวจคัดกรองเชื้อโควิดรอบ 7 วัน
วัน ติดเชื้อ RT-PCR เข้าข่ายติดเชื้อ ATK
7 ตุลาคม 11,200 4,783
8 ตุลาคม 11,140 5,225
9 ตุลาคม 10,630 7,421
10 ตุลาคม 10,817 10,055
11 ตุลาคม 10,035 2,263
12 ตุลาคม 9,445 1,368
13 ตุลาคม 10,064 3,498

 

ประกอบกับเมื่อผลตรวจหาเชื้อผ่าน ATK แล้ว ข้อมูลเมื่อ 13 ตุลาคม พบว่า เข้าข่ายติดเชื้อเพิ่มจำนวน 3,498 คน ยอดสะสม 218,580 คน โดยผลการตรวจประเภทนี้ยังไม่นับรวมในการติดเชื้อเพิ่มรายวันตามระบบ RT-PCR แต่ส่อถึงมีเชื้อซ่อนอยู่ในชุมชน ยิ่งนำผลการตรวจเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันพบผู้ติดเชื้อถึง 14.68% นับเป็นตัวเลขน่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือ ถ้าตรวจมากก็ยิ่งมีผู้ติดเชื้อรายวันมากจนน่าตกใจกับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน

 

เลือกเศรษฐกิจเสี่ยงชีวิตทำงานร่วมโควิด

เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ 1 พฤศิกายนเปิดประเทศ ด้วยเหตุผลหลัก คือ เลือกเอาการกอบกู้เศรษฐกิจมานำด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันเชื้อโควิดระบาด แต่มีความกังขาถึงความเร่งรีบกับการตัดสินใจแทบเรียกได้ว่า “เร่งด่วน” เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศก่อน แล้วให้ ศบค.กับสาธารณสุขไปสร้างแนวทางปฏิบัติตามหลัง ขณะเดียวกันยังตีกินว่า ทำตามสัญญา 120 วันเปิดประเทศ

 

อันที่จริงแล้ว นัยยะ 120 วันเปิดประเทศตามประกาศครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายนนั้น วางแนวทางไว้เป็นขั้นตอน โดยสร้างตัวแบบนำร่องระยะแรกในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) เมื่อ 1 กรกฎาคม ถัดมาขยายเป็นระยะสองอีก 4 จังหวัดเที่ยวหมู่เกาะภาคใต้ แล้วประกาศเลื่อนเปิดเมือง 10 จังหวัดในวันที่ 1 พฤศจิกายน กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ มาเล่นใหญ่ประกาศเปิดประเทศ ซึ่งทำให้การเปิดเมือง 10 จังหวัดเป็นเรื่องจิ๊บๆไป

พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า มีความหนักใจในชีวิตอย่างยิ่ง เพราะตลอดช่วงหนึ่งปีครึ่งที่โควิดระบาด ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างปกป้องชีวิตคนกับการทำมาหากิน นั่นคือ ชีวิตในด้านเศรษฐกิจ จนมีความมั่นใจว่า ไทยมีความพร้อมในยารักษาและวัคซีนจะมีเข้ามาอีกจำนวนมาก ถึงสิ้นปีจะมีเข้ามาเดือนละ 20 ล้านโดส

 

ดังนั้น จึงไม่เสียโอกาสทองของการทำมาหากิน ประกอบกับคาดว่าจะสามารถจัดการคุมสถานการณ์โควิดไว้ได้ จึงควรเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน รับนักท่องเที่ยต่างชาติ 10 ประเทศในกลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน สิงคโปร์ เมื่อฉีดวัคซีนครบโดส หรือมีหลักฐานการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR ก็ให้เข้ามาทางเครื่องบิน โดยไม่ต้องกักตัวและสามารถไปเที่ยวอย่างอิสระได้ทุกพื้นที่ของไทย

 

นอกจากนี้ ยังประกาศแนวทางยกระดับ คือ 1 ธันวาคมและ 1 มกราคม 2565 จะอนุญาตเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานบันเทิงเปิดบริการได้ พร้อมทั้งปลอบว่า หากทำให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็สามารถควบคุมได้ เพราะอนาคตจะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมากกว่า 170 ล้านโดส เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้  อีกทั้งสิ่งสำคัญคือ โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่น่ากลัวถึงการเสียชีวิต

 

มีเสียงเชียร์การเปิดประเทศครั้งใหม่อยู่ไม่น้อย และพรรคร่วมรัฐบาลแทบทุกพรรคสนับสนุนว่า เป็นแนวทางที่ดี รัฐมนตรีบางคนถึงขั้นระบุจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากถึงเดือนละอย่างน้อย 100,000 คน พร้อมทั้งคาดมียอดจองที่พักยาวต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2565 แล้วลงท้ายด้วยคำคุยสวยหรูว่า จะมีเงินสะพัดในระดับหมื่นล้านบาทต่อเดือน

 

สิ่งสงสัยมีว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกตัวแรงอย่างเร่งรีบต้องเปิดประเทศ ไม่สนใจมาตรการค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกเปิด 10 จังหวัดก่อนในวันที่ 1 พฤศจิกายนตามที่ประกาศไว้ อย่างไรก็ตามประเมินกันว่า ความเร่งรีบนั้น มีคำตอบอยู่ที่ “ช่วงชิงโอกาสทองของประเทศ” โดยเฉพาะถึงจุดพีคการท่องเที่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมกราคม ซึ่งสภาพอากาศเป็นเสน่ห์ดึงดูดต่างชาติให้มาเที่ยวไทย

 

ประกอบกับ “โอกาสเป็นเงินเป็นทอง”นั้น สิงค์โปร์ก็ประกาศเปิดประเทศ และเวียดนามยังกำหนดเปิดเช่นกันในเดือนธันวาคม ดังนั้น การช่วงชิงนักท่องเที่ยวจึงต้องเร่งรีบในการตัดสินใจ แต่การช่วงชิงที่ตัดสินใจบนหลักยึดเพียง “มียารักษาและจะได้วัคซีน”เข้ามามาก เป็นปัจจัยกำหนด“ความพร้อม” ในการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนแล้วนั้น จะมีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ?? นี่คือความหวั่นระทึกในอนาคต

 

ความกังขา! อะไรจะเกิดตามมา?

เสียงวิจารณ์ย้อนกลับสู่การเปิดประเทศทันที โดยเน้นไปที่ ถ้าเอาอย่างประเทศอื่นแล้ว การเปิดประเทศควรให้ความใส่ใจด้าน “ความพร้อม” ให้มาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ก่อนเปิดประเทศมาตรการสาธารณสุขต้องพร้อมป้องการโควิด มีวางแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดอย่างถี่ยิบ มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อให้กว้างขวางในจำนวนมาก สร้างระบบติดตามตัว ตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้ฉีดวัคซีนครบสองโดสมากพอ จนมั่นใจว่า สามารถคุมโควิดระบาดได้

 

นพ.ธีระ มีคำถามที่ควรคิดว่า หากเปิดขณะที่ระบบตรวจก็มีศักยภาพจำกัด ประชาชนในประเทศก็ยังได้รับวัคซีนครบโดสเป็นส่วนน้อย รวมถึงสถานการณ์ติเชื้อใหม่ก็หลักหมื่นต่อวัน แล้วจะเกิดอะไรตามมา?

 

สิ่งที่น่าจะเป็นไปตามลำดับขั้นโดยยึดทั้งชีวิตประชาชนและการทำมาหากินควบคู่ไปด้วยนั้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เห็นว่า ควรเริ่มผ่อนคลายการเคอร์ฟิว และเลิกควบคุมเข้มในมาตรการฉุกเฉิน ปล่อยให้คนในประเทศมีชีวิตปกติ เดินทางและทำมาหากินได้อิสระเสียก่อน จึงยกระดับไปเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้

รวมทั้ง ทวี้ตของ“บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย @tanawatofficial ยกประเด็นคุณธรรมมาวิจารณ์การเปิดประเทศ เปิดสถานบันเทิง ให้คนนั่งดื่มเหล้า พูดคุยกันสนุกสนานแล้วบอกว่า คุมโควิดได้ แต่ “ไม่บอกว่าจะเปิดโรงเรียน เปิดมหาลัยวันไหน” ซึ่งการประชดประชันเช่นนี้ สะท้อนถึงการยกเหตุผลขอ พล.อ.ประยุทธ์ มีความย้อนแย้งกัน จนไม่น่าเชื่อถือในคำพูด

ไม่พียงเท่านั้น จังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังทั้งเชียงใหม่และหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ หรือจังหวัดทางภาคใต้มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากถึงขั้นอยู่ระดับ 10 จังหวัดแรกของประเทศ ยังบ่งชี้ถึงความน่าวิตกจะขยายลุกลามไปมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคตะวันตก กังวลถึงการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน เพราะไม่มั่นใจมาตรการสาธารณสุขจะคุมคลัสเตอร์ระบาดโควิดรอบใหม่ได้ จึงเสนอให้เลื่อนการเปิดไปเป็นกลางเดือนธันวาคมคงเหมาะสมกว่า

 

ว่ากันถึงที่สุดแล้ว ทุกฝ่ายล้วนยอมรับว่า การเปิดประเทศเป็นสิ่งดี แต่การไร้ประสิทธิภาพของรัฐตลอดช่วงประกาศอย่างใหญ่โตกับการเปิดประเทศครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน ยังเป็นแค่ “ราคาคุย” นายจาตุรนต์ ฉายแสง เห็นว่า เป็นความล้มเหลวและไม่มีน้ำยาบริหารจัดการ

 

ดังนั้น การออกตัวแรงด้วยก้าวกระโดดอย่างเร่งรีบ ด้านหนึ่งในการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้มีส่วนทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจอยู่ลึกๆ อีกด้านหนึ่งได้แต่ภาวนาขอให้เป็นจริง อย่าได้ส่อถึงแนวโน้มให้ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งจ้องตาถมึง อ่านแถลงการณ์เปิดประเทศเป็นครั้งที่สาม

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top