skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เครือข่ายชุมชน-ทุนทางสังคม-มาตรฐาน ปัจจัย 3 ด้านดันความสำเร็จวิสาหกิจท้องถิ่น

เครือข่ายชุมชน-ทุนทางสังคม-มาตรฐาน ปัจจัย 3 ด้านดันความสำเร็จวิสาหกิจท้องถิ่น

เครือข่ายชุมชน-ทุนทางสังคม-มาตรฐาน

ปัจจัย 3 ด้านดันความสำเร็จวิสาหกิจท้องถิ่น

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง ปัจจัย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมของระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดย ดร.สุนทร คุณชัยมัง หัวหน้าทีมนักวิจัย นำเสนอผลงานวิจัย 16 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

ดร.สุนทร คุณชัยมัง หัวหน้าทีมนักวิจัย

ดร.สุนทร นำเสนอผลงานวิจัยว่า ได้เน้นใน 3 เรื่อง คือ รวบรวมผลงานขององค์กรชุมชนและกิจการธุรกิจ ปัจจัยที่นำไปสร้างความสำเร็จและกลไกการดำเนินงาน ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์และการขยายผล โดยมีวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่มเป็นกรณีศึกษา คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์ การเงิน และสวัสดิการชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม การถอดบทเรียน 16 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพนั้น ได้ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการถึง 3 ครั้งที่สถานีโทรทัศน์ ไทย PBS และนำผลการศึกษามาเล่าให้ฟัง เพื่อนำไปสู่ผลคาดหวังใน 2 ด้าน คือ การค้นพบความรู้และเครื่องมือปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม อีกอย่างความเป็นอิสระของการพัฒนาองค์กรชุมชนและธุรกิจชุมชน

 

การค้นพบจุดเริ่มต้นพึ่งตนเอง

ดร.สุนทร รายงานว่า ทั้ง 16 วิสาหกิจฯ การวิจัยได้คันพบจุดมุ่งหวังที่เหมือนกันคือ การพึ่งตนเอง โดยไม่เรียกร้องและร้องขอ หรือรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือ แต่เอาทุนทางสังคมที่มีไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการสู่ระบบตลาด อย่างมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความรู้ จนเกิดการจัดการแบบใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ การจัดตั้งองค์กรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบนั้น เป็นความสำเร็จของการบริหารจัดการ จนทำให้เกิดผลประกอบการและการแก้ปัญหาสังคมชุมชนตามมา และยังขยับไปสู่การสร้างความสามารถใหม่ด้านเศรษฐกิจสังคมอีกด้วย

 

สำหรับจุดเริ่มการจัดตั้งองค์กรชุมชนนั้น มีพื้นฐานจากการทำงานร่วมกันในชุมชนมาก่อน แล้วหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนและร่วมพัฒนา แล้วเป็นลักษณะการทำงานแบบร่วมกันจัดการ จนนำไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน 3 แห่ง คือ บ้านนาต้นจั่น บ้านเชียง และบ้านนาตีน

 

 

กรณีบ้านนาต้นจั่น เริ่มจากชาวบ้านลงมือสร้างกันเอง มีความพยายามสูงในการแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 20,000 คน จนเกิดรายได้กว่า 13 ล้านบาทต่อปี ส่วนบ้านเชียงนักท่องเที่ยวมาชมพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง-อารยธรรม ปีละ 300,000 คน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของจังหวัดถึง 150 ล้านบาทต่อปี และเกิดรายได้กับวิสาหกิจชุมชนประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี

 

โดยเฉพาะควรนำเอามาเป็นตัวอย่างคือ การท่องเที่ยวบ้านนาตีน นำนักท่องเที่ยวมาผสมผสานกับการจัดกิจกรรมชุมชน โดยชุมชนประสานกับโรงแรมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวกระแสหลัก จนเกิดกิจกรรมเชิงอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนมุสลิมมาสนองนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

“สิ่งที่การศึกษาวิจัยค้นพบจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว คือ เริ่มต้นจากองค์ประกอบที่ไม่พร้อม แล้วไปสู่การเชื่อมกับสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ซึ่งองค์กรอื่นสามารถนำไปทำก็ได้”

 

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

ด้านปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีกรณีศึกษาจากชุมชนน้ำเกี๋ยน ที่ตั้งวิสาหกิจเมื่อปี 2559 มีรายได้ 3 ล้าน แล้วที่น่าทึ่งคือในปี 2564 พัฒนาเติบโตด้วยผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรถึง 7 เท่าตัว เป็นรายได้ประมาณ 30 ล้าน เท่ากับเติบโตกว่า 20 ล้านมาจากการทำแบรนด์สินค้าให้สอดคล้องกับตลาด จนเป็นปัจจัยนำไปสู่การพึ่งตัวเอง จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

 

 

กรณีวิสาหกิจชุมชนอุ่มแสง ทำข้าวอินทรีย์ มีมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ มียอดรายได้ 150 ล้าน ซึ่งเติบโตมาจากรายได้ประมาณ 50 ล้านบาทเมื่อปี 2559 โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยหลัก คือ ตัวมาตรฐานทำให้การแปรรูปไปสู่ความสำเร็จ ส่วนชุมชนบุฤาษี ทำคล้ายกับชุมชนอุ่มแสง แต่ง่ายกว่า กลับทำให้ยอดการขายจาก 6 ล้านขยายตัวมาเพิ่มถึง 6 เท่าตัว

 

 

นอกจากนี้ตัวอย่างความสำเร็จของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีปัจจัยจากการใช้เทคโนโลยี ความรู้ที่ก้าวหน้าให้เป็นความสามารถใหม่ของชุมชนหรือองค์กรของชุมชน และเชื่อมโยงสู่ระบบงานไปตลอดห่วงโซ่การผลิต

 

 

กรณีการแปรรูปยางพารา จังหวัดบุรีรัมย์ นำมาตรฐาน GMP กับ GAP มาเชื่อมโยงเข้าสู่ความต้องการของการตลาด จนทำให้เพิ่มมูลค่าเพิ่มถึง 25 ล้านบาท จากการนำยางก้อนมาแปรรูปเป็นยางแครปสีน้ำตาล สะท้อนถึงการจัดการความรู้ นอกจากนี้ที่จังหวัดลำพูน การแปรรูปผลผลิตการเกษตรอบแห้ง ลำไย มะม่วง สตอร์เบอรี่ โดยวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ ผัก สมุนไพร และผลไม้ ซึ่งความสำเร็จอยู่ที่การจัดการงานเทคโนยีในเบื้องต้น แล้วโยงกิจการไปยังการแก้ปัญหาของเครือข่ายเกษตรกรรม 120 ครัวเรือน โดยเป็นการทำงานระหว่างวิสาหกิจกับเครือข่ายเป็นรูปแบบเดียวกับกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์จังหวัดชุมพร ที่กิจกรรมเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟอีก 125 ครัวเรือนเช่นกัน

 

 

เชื่อถือ เชื่อมั่น และความสัมพันธ์แบบญาติ-มิตร

ส่วนกลุ่มออมทรัพย์ การเงินและสวัสดิการนั้น ปัจจัยนำความสำเร็จอยู่ที่ความเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อกันและกันของสมาชิก อันเป็นส่วนประกอบของความสัมพันธ์และทุนทางสังคมที่นำไปใช้ประโยชน์กับการดำเนินงาน นอกจากนี้ การครองตนของผู้นำและการนำขององค์กร ที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบ เข้าถึงได้ รวมทั้งประยุกต์การบริการเพื่อสนองต่อการแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน จัดเป็นปัจจัยผลักดันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกส่วนหนึ่ง

 

กรณีการวิจัย บ้านคลองป่าไม้ ซึ่งเป็นกลุ่มเชิงอเนกประสงค์ มีพื้นที่บริการระดับตำบล ทำหน้าที่เป็นสถาบันเงินฝากและให้กู้ นำผลกำไรเปิดร้านค้าชุมชน เช่นเดียวกันบ้านดอนคา ที่มีเขตการบริการถึง 3 อำเภอ โดยมีเงินออมกว่า 243 ล้านบาท และให้สมาชิกกู้ 119 ล้านบาท นำเงินออมชุมชนไปทำวิสาหกิจชุมชนเพื่อขยายการแก้ปัญหาชุมชน อีกทั้งบ้านสระยายชี มีเขตบริการ 2 หมู่บ้าน เกิดการออม 55 ล้านบาท ให้กู้ยืม 39 ล้านบาท เอากำไรไปทำกองทุนส่งเสริมอาชีพสมาชิก

 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ บ้านชากไทย บริการใน 1 หมู่บ้าน มีการออม 8.5 ล้านบาท และให้กู้ยืม 5.75 ล้านบาท โดยให้นำเงินกู้ไปสู่การแก้หนี้ครัวเรือน แต่ละปีทำสำเร็จรวมหลายล้านบาทในการจัดการปัญหาชาวบ้าน

 

จากกรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่กล่าวมานั้น สิ่งหนึ่งนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความรู้ การมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และความเชื่อมั่น ความเชื่อใจต่อกัน นอกจากนี้ ยังมีทุนอัตตลักษณ์ของชุมชนนำไปสู่ความสำเร็จด้วย เช่น เสื้อผ้าหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ อีกทั้งการใช้ทุนปัญญาท้องถิ่น คือจากบ้านน้ำเกี๋ยน แล้วยังมีการนำทุนแบบญาติมิตรเพื่อนบ้านเปลี่ยนเป็นการบริการ มาใช้เป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จของวิสาหกิจ

 

 

สำหรับงานมาตรฐานนั้น ทั้งการได้มาตรฐานแบบ GMP GAP GI หรือ USDA  ล้วนเป็นเครืองมือรับประกันไปสู่ความสำเร็จทั้งสิ้น แล้วความสำเร็จจากมาตรฐานเหล่านั้น นำไปหล่อเลี้ยงให้เกิดความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนด้วย

 

การหลอมรวมเครื่องมือการผลิต

ถึงที่สุดแล้ว การค้นพบ ในส่วนของการจัดการนั้น มีเครื่องมือ 3 ส่วนนำมาร่วมกันคือ ทุนทางสังคม ทุนทางเทคโนโลยี ความรู้ และการบริหารประสิทธิภาพ ทั้งหมดได้หล่อหลอมรวมกันเป็นความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ 16 แห่ง ซึ่งเป็นการเดินไปในแนวทางเดียวกัน คือ การพึ่งพาตนเอง อาศัยเทคโนโยลี ความรู้และการจัดการ ผสมกับทุนทางสังคม มาประกอบสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เติบโต

 

 

ดร.สุนทร กล่าวว่า การวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้นำและการนำที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงสูงวัยเกิน 60 ปีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่มาเติมให้ชุมชน เป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสู่ชุมชนของตัวเอง ร่วมสร้าง ขยายงานวิสาหกิจเพื่อการก้าวเดินต่อไปในสังคมคนรุ่นใหม่ด้วย นอกจากนี้การบริหารที่เพิ่มประสิทธิภาพนั้น ควรผ่านการจัดการด้วยองค์กรของชุมชนเอง หรือจะพึ่งองค์กรสนับสนุนจากภายนอก หรือนำทั้งสองส่วนมาประกอบสร้างวิสาหกิจชุมชนด้วยกัน จึงเป็นความรู้ที่ต้องพิจารณาเชื่อมประสานกับปัจจัยทางสังคมด้วย

 

 

อีกทั้ง วิสาหกิจทั้ง 16 แห่ง ที่มีความสำเร็จแล้ว ควรขยายจำนวนออกไป โดยเป็นการขยายตัวจากข้างล่างไปสู่ชุมชน ไปถึงสังคมใกล้เคียงได้ทำตามต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ และควรประสานกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีขนาดใหญ่ในท้องถิ่น จะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างผู้ประกอบการใหม่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่มีฐานมาจากเศรษฐกิจท้องถิ่นและการสร้างความเข้มแข็งจากสังคมข้างล่างได้ขยายไปในระดับประเทศได้พึ่งตนเองได้กว้างขวาง พร้อมทั้งมีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

https://www.instagram.com/sammachiv/

Back To Top