ฮูปแต้มสิมถิ่นอีสาน สร้างสรรค์เศรษฐกิจวัฒนธรรม
ฮูปแต้มสิมถิ่นอีสาน
สร้างสรรค์เศรษฐกิจวัฒนธรรม
“ฮูปแต้ม”หรือรูปวาดโดยช่างออกแบบเป็นพระและคนท้องถิ่นช่วยการแต้มวาดภาพวิถีชีวิตผู้คนชุมชนไว้บน “สิม” หรือโบสถ์ แม้ความสวยสดงดงามนำไปเปรียบกับมาตรฐานราคาของสังคมเมืองไม่ได้ แต่ลึกลงไปในรูปแต้มดูราวกับตัวการ์ตูนนั้นกลับซ่อนแฝงคุณค่าวัฒนธรรม สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเก่าแก่ของ ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่มีฮูปแต้มสิมวัดโพธารามและสิมวัดป่าเรไรย์ ได้บันทึกวัฒนธรรมชุมชนไว้นานกว่า 150 ปี
ช่างฮูปแต้มบนสิมอีสาน ส่วนใหญ่นิยมวาดภาพอดีตพระพุทธเจ้าปัญจระ ภาพมารผจญ ภาพไตรภูมิ รวมทั้งนำคติพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ทศชาติชาดก หรือชาดกที่คนอีสานนับถือมากอย่าง เวสสันดรชาดก แต่สำนวนของภาคอีสานจะมีลักษณะคล้ายกับนิทานพื้นบ้านเรื่องสินไซที่มุ่งเพาะบ่มขัดเกลาจิตใจ นอกจากนี้ยังมีภาพสัตว์ที่มีคุณกับพระพุทธศาสนา อาทิ ช้าง นาค ก็ปรากฏอยู่มากในฮูปแต้มอีสาน
ชีวิต “ดงบัง”ในวันห่างไกลฮูปแต้ม
ชุมชน ต.ดงบัง ก่อตัวตั้งถิ่นฐานจากชาวลาวเวียงจันทน์อพยพมาเมื่อกว่า 300 ปี ได้สร้างชุมชนบริเวณที่สูงล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบอันเป็นที่มาของชื่อ “ดงบัง” ด้วยเหตุนี้ รากฐานความเป็นมาของชุมชนที่มีความชิดใกล้กับวัฒนธรรมล้านช้างและสืบย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา ดังนั้นช่างฮูปแต้มของวัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสังคมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความเป็นพหุวัฒนธรรม
พื้นที่ปกครองท้องถิ่น ต.ดงบัง มี 9 หมู่บ้าน ไม่มีระบบชลประทานและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านยึดอาชีพเกษตรกรรมโดยพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งการทำนา การเลี้ยงสัตว์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขาย การอุตสาหรรมเจียระไนพลอยภายในครัวเรือน การเย็บผ้า ประกอบกับคนชุมชนมีทักษะฝีมือเชิงช่างไม้ ช่างปูน จักสานจากไม้ไผ่ สานแห ช่างตัดผม กระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน อีกทั้งได้รับเงินกองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ธนาคารข้าว กองทุนปุ๋ย กองทุนโค-กระบือ กลุ่มอาชีพทอพรมเช็ดเท้า กลุ่มอาชีพถักสร้อยเจียระไนพลอย รวมถึงร้านค้าชุมชนซึ่งก่อตั้งตามนโยบายเศรษฐกิจฐานราก โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้ชุมชนได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม
การรวมตัวของกลุ่มอาชีพเกิดจากความสนใจร่วมกันหรือประกอบอาชีพเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้าไหม มัดหมี่ กลุ่มเย็บผ้า กลุ่มทอพรมเช็ดเท้า กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ การรวมกลุ่มดังกล่าวเพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ครอบครัว แต่กลุ่มเหล่านี้ยังขาดการส่งเสริมจริงจังจากภาครัฐ
ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของชุมชนมาจากการร่วมรวมกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทอพรมเช็ดเท้าเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านหนองพอก กลุ่มเจียระไนพลอย ซึ่งทำเป็นอาชีพเสริมยามว่างจากการทำนา กลุ่มทอผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าบ้านดงบัง ได้รับการสนับสนุนความรู้และเทคนิคในการสร้างลวดลายประยุกต์และมัดลายฮูปแต้ม ส่วนกลุ่มจักสาน มักทำจากไม้ไผ่ ได้แก่ ก่องข้าว กระติบข้าวเหนียว กลุ่มเพาะเห็ด เป็นอาชีพเสริมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ในช่วงนั้น ฮูปแต้มยังเป็นทุกขลาภของชุมชน แม้เป็นของดีที่ชาวบ้านไม่รู้จะดูแลอย่างไร แต่กรมศิลปากรออกกฎห้ามจับผนังเพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน ทำให้คนส่วนใหญ่เกร็ง ไม่กล้าเข้าใกล้สิม ดังนั้น ฮูปแต้มจึงเป็นแค่ของมีค่าที่ห่างไกลจากชีวิตผู้คนทั่วไปมากขึ้นทุกที
เวลาผ่านไป คุณค่าของฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง “สิม”วัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่ามหาศาล ชุมชนหันมาสืบสานนำรากทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า ตั้งแต่การนำไปเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาจิตใจเพื่อปลุกให้คนในท้องถิ่นหันมารักษ์บ้านเกิดตนเอง
แต่แก่นแท้ของฮูปแต้มบนสิมอีสานนั้น เป็นสื่อในการปลุกพลังคนในชุมชนให้หันมาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นชุมชนในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เกิดการท่องเที่ยวทางภูมิปัญญาให้ลูกหลานรุ่นใหม่ได้สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น
ฮูปแต้มจิตรกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
ฮูปแต้มอีสานไม่ได้ถูกสร้างจากช่างฝีมือวิจิตรแบบช่างหลวง แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยทัศนคติด้านลบว่าไม่สวยงาม ดูเลอะเทอะ แต่ความไม่สวยกลับแฝงด้วยเสน่ห์ของคุณค่าในแบบฉบับที่ควรเป็นของชุมชนท้องถิ่น เพราะคนวาดเป็นชาวบ้าน เป็นพระ เป็นช่างท้องถิ่นที่ตั้งใจทำด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขณะที่ชีวิตจมปรักกับความแร้นแค้นยากไร้
เสน่ห์การแต้มวาดภาพอยู่ที่สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน บ่งบอกเครื่องแต่งกายท้องถิ่น บันทึกภาพประเพณีงานบุญต่างๆ หรือภาพขบวนเกวียน วัวต่าง ม้าต่างขนสินค้าระหว่างพื้นที่เมืองในภาคอีสาน รวมถึงเรื่องการจับสัตว์น้ำ การทอดแหจับปลา การนำปลามาทำปลาแดกหรือปลาร้า
เทคนิคการวาดฮูปแต้มนั้น ช่างแต้มเพียงแต่ร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังแล้วจึงลงสีแต้มปะเส้น สีที่ใช้เป็นสีธรรมชาติทำขึ้นเองจากวัสดุท้องถิ่น เช่น สีน้ำเงินจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมดำทำจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางของต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ หรือสีแดงจากหินชนิดหนึ่ง ดังนั้น ภาพที่ออกมาจึงมีสีพื้นๆ ไม่โดดเด่น แต่มักวาดเส้นสีเทาแบ่งการสื่อสารเรื่องราว แล้วมีตัวหนังสืออักษรไทยและอักษรลาวเขียนกำกับเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ตามภาพนั้นๆ
ในภาคอีสาน สิมที่มีฮูปแต้มกระจายอยู่หลายจังหวัดทางตอนกลางของภาค ทั้งร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีกระจายในอีสานเหนือและใต้ อาทิ เลย หนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา โดยส่วนใหญ่ทุกสิมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยใช้ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวชมสิมและฮูปแต้มอีสานมาแล้ว และนักศิลปะ วรรณกรรม ที่ชื่นชอบมาเที่ยวชมอย่างสม่ำเสมอ
แต่แก่นแท้แรกเริ่มของฮูปแต้มบนสิมนั้น คือภูมิปัญญาดึงคนเข้าวัด เมื่อสิมหลังเล็กบรรจุผู้เลื่อมใสธรรมไม่เพียงพอ ดังนั้น จิตรกรรมรูปแต้มผนังโบสถ์จึงมีทั้งด้านในและนอก เพื่อให้เกิดผ่อนคลาย รับรู้ซึมซับประวัติศาสตร์ชุมชน และกลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงและตอกย้ำวัฒนธรรม พร้อมกับซ่อนแฝงคุณค่าจิตใจมุ่งมั่น อย่าเกิดท้อถอยเมื่อประสบอุปสรรคขวางกั้น แล้วขยับดึงคนต่างถิ่น นักท่องเที่ยวเข้ามาชุมชน โดยมุ่งหวังเพิ่มมูลค่าสินค้าที่จำหน่ายเป็นสิ่งของที่ระลึก และชุมชนมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น
ต่อยอดท่องเที่ยวดึงคนเข้าชุมชน
แม้ฮูปแต้มมีอยู่หลายพื้นที่ในภาคอีสานตอนกลาง แต่มีไม่มากนักที่ถูกนำมาต่อยอดและส่งต่อสู่การศึกษาเรียนรู้ สำหรับฮูปแต้ม ต.ดงบัง ในสิมวัด 2 แห่ง คือ สิมวัดโพธาราม และสิมวัดป่าเรไรย์ ได้รับความร่วมมือจาก ม.มหาสารคาม ช่วยถอดรหัสจิตรกรรมวัฒนธรรมออกมาเป็นแบบพิมพ์สินค้าและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าฮูปแต้มสู่การพัฒนาชุมชนตามในโครงการ “ฮักแพงเบิ่งแงงฮูปแต้มดงบัง”
สินค้าที่ต่อยอดจากฮูปแต้มแม้เป็นเพียงโมเดลของเศรษฐกิจชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปลอกหมอน ปฏิทิน เสื้อ กระเป๋า เข็มกลัด แบรนด์สินค้า จาน ถ้วย ชาม สิ่งเหล่านี้สามารถทำเป็นอาชีพและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขึ้นในอนาคตได้หากมีคนสนใจลงทุน แต่ที่สำคัญสำนึกของฮูปแต้มได้ดึงชาวบ้าน วัด โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่ มาร่วมดำเนินโครงการจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ ที่ศูนย์เรียนรู้ฮูปแต้มและภูมิปัญญาดงบัง โดยใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมในชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
ในปี 2561 โครงการ สสส. เริ่มประสานหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนร่วมกัน มีการค้นหาประวัติชุมชน ดึงเอาอัตลักษณ์ในฮูปแต้มมาจัดทำเป็นหลักสูตรเรียนรู้ โดยมีเด็กเยาวชนและคนในชุมชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย พร้อมก่อร่างสร้างมัคคุเทศก์น้อยนำพาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สืบสานภูมิปัญญากว่า 150 ปีของชุมชนไปสู่รุ่นแล้วรุ่นเล่า
การร่วมแรงออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวภูมิปัญญาของชุมชนแบ่งเป็น 3 เส้นทางโดยนั่งรถซาเล้งเที่ยวชมวัดป่าจินดาราม เรียนรู้ใบเสมาอายุกว่าพันปี ชมแปลงข้าวอินทรีย์บ้านคุณหมอ ชมการเลี้ยงวัวราคาหลักแสน และเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติจากต้นสบู่ดำ
อีกเส้นทางคือ สักการะดอนตาปู่ ชมทอผ้าไหมจากสีธรรมชาติ เรียนรู้ชุมชนจักสาน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางชมฮูปแต้มวัดป่าเลไลย์ ชิมข้าวปุ้นชุมชนข้าวปุ้น ทดลองทอเสื่อกกและชมหนังบักตื้อ(หนังตะลุงอีสาน) จากนั้นมาชมฮูปแต้มสิมวัดโพธารามและหอไตรกลางน้ำ พร้อมเลือกซื้อของดีที่ตลาดนัดชุมชน
สำหรับสิมวัดโพธาราม เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี 2343 ช่วงปลายรัชกาลที่ 1 มีฮูปแต้มโบราณ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะสิมของวัดนี้มีภาพแต้มวาดสอดแทรกวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสาน เช่น การทำนา การทอดแหหาปลา เป็นต้น ที่น่าสนใจคือผนังด้านทิศตะวันออก ทางประตูเข้าสิม มีภาพผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ สันนิษฐานว่าช่างคงจะเขียนสื่อให้เห็นเป็นฝรั่งต่างชาติใส่หมวกทรงสูง สวมรองเท้าบู๊ตปลายงอน ยืนโอบกอดผู้หญิง สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อกว่า 100 ปีก่อนเคยมีฝรั่งต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคอีสานแล้ว
ห่างจากวัดโพธารามไปประมาณ 500 เมตร เป็นสิมวัดป่าเรไรย์ มีฮูปแต้มโบราณเขียนด้วยสีฝุ่น สีน้ำตาล เขียวคราม น้ำเงิน เป็นหลัก ฝีมือการวาดที่งดงามของช่างแต้มคนเดียวกันกับฮูปแต้มวัดโพธาราม โดยภาพมีทั้งด้านนอกและด้านในของสิม ด้านนอกเป็นเรื่องรามเกียรติ์และพระเวสสันดรชาดก ด้านในเป็นเรื่องพุทธประวัติ และพระมาลัย อีกทั้งช่างแต้มยังเขียนสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวอีสานเข้าไป อาทิ การทอผ้า การทำบุญตักบาตร การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น
สิมและภาพฮูปแต้มบนผนังสิมวัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ กรมศิลปกรเชื่อว่า น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นี่คือศิลปวัฒนธรรมในชุมชนดงบัง ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสและหวังว่าจะเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยวต่อยอดสินค้าวัฒนธรรมมาเพิ่มรายได้จุนเจือชุมชนได้มีชีวิตอิ่มหนำยั่งยืน
สืบสานสร้างสรรค์เศรษฐกิจปากท้อง
วันนี้ ฮูปแต้มเป็นพลังของท้องถิ่น คือพลังของเรื่องเล่าที่เข้มขลังรอเวลาที่คนรุ่นใหม่มาถอดรหัสไขปริศนาธรรมที่แฝงเอาไว้ แล้วนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจปากท้อง ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้พื้นที่แต่ละชุมชนโชว์อวดวัฒนธรรมชีวิตออกมาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่าย เช่น ผ้าไหมโดยใช้ลายฮูปแต้มบนฝาผนังทอลงผืนผ้า กระเป๋าผ้าฝ้ายมีตราสัญลักษณ์ คำว่า “ ฮักแพงฮูปแต้มดงบัง” ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งนำมาก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยคอยบอกเล่ารากฐานวัฒนธรรมและคุณค่าแฝงที่ซ่อนในรูปแต้มผนังสิม
ปรีชา ยะถา กรรมการศูนย์การเรียนรู้ฮูปแต้มและภูมิปัญญาดงบัง บอกว่า ชุมชนจะใช้ฮูปแต้มที่บรรพบุรุษสื่อสารผ่านรุ่นต่อรุ่น มาเป็นฐานสร้างเสริมพัฒนาสินค้าเพื่อจำหน่าย โดยนำสิ่งที่ดีในชุมชนมาต่อยอด สืบสานของต่อคนรุ่นลูกหลานให้ซึมซับผ่านผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเพื่อหวังให้มีอนาคตจะได้สบาย
ดังนั้น จิตรกรรมฮูปแต้มจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชน ต.ดงบัง ได้นำภูมิปัญญาดั่งเดิม โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งซ่อนแฝงคำสั่งสอนให้รู้จักสังคม รู้จักวัฒนธรรม รู้จักการอยู่ร่วมกันแล้วรวมกันต่อยอดเป็นสินค้าวัฒนธรรม เพื่อหารายได้เสริมช่วยจุนเจือปากท้องอาชีพเกษตรกรรมพึ่งพิงน้ำฝน วัฒนธรรมท้องถิ่นจึงกลายเป็นความหวังของปากท้องชีวิตคนในชุมชน
“ตอนไปแสดงงานกระเป๋าฮูปแต้ม เราเจอคนที่ไม่รู้จักจังหวัดมหาสารคามว่า มีอยู่บนแผนที่ประเทศไทยด้วยเหรอ เดี๋ยวผมตามไปดูฮูปแต้ม ที่สุดแล้ว กระเป๋าพาคนเข้ามาในท้องที่เพื่อจะได้เห็นว่าฮูปแต้มคืออะไร เขาจะได้เห็นศักดิ์ศรีของเรา เห็นความเป็นคนท้องถิ่นอีสาน เราอยากให้สิ่งเหล่านี้มันยังอยู่ในวิถีชีวิตนะ ไม่ต้องไปดวงจันทร์ ไม่ต้องไปไหนก็ได้ อยู่บนโลกนี้ง่ายๆ งามๆ ของเรานี่แหละ”สรัญญา ภักดีสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้ดีไซด์กระเป๋าฮูปแต้ม ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ฮูปแต้ม ผู้หลงใหลในภาพแต้มวาดบนผนังสิมบอกเล่า
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv