skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
หอมพวงเวียดนามบุกไทย  หวั่นหอมมะลิไทยสูญพันธุ์

หอมพวงเวียดนามบุกไทย หวั่นหอมมะลิไทยสูญพันธุ์

หอมพวงเวียดนามบุกไทย

หวั่นหอมมะลิไทยสูญพันธุ์

 

“ข้าวหอมพวง” หรือเรียกอีกชื่อว่า “จัสมิน” มีแหล่งที่มาไม่ปรากฏชัดนัก ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นข้าวเวียดนาม แต่กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ขึ้นทะเบียน และกรมการข้าวก็ไม่รับรองสายพันธุ์ให้ชาวนาปลูกและจำหน่าย เนื่องจากหวั่นส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวหอมมะลิไทยในอนาคตได้

 

ว่ากันว่า ข้าวหอมพวง เข้ามาบุกตลาดข้าวไทยเกือบ 5 ปี โดยโรงสีนำพันธุ์ข้าวให้ชาวนาปลูก พร้อมรับรองการซื้อผลผลิตด้วย ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกจาก 10 ตำบล ใน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขึ้นไปที่ อุตรดิตถ์ พิจิตร และลงมาถึงบางพื้นที่ของสุพรรณบุรี ดังนั้น จึงเป็นข้อสรุปของปรากฏการณ์ว่า ชาวนาแห่ปลูกข้าวชนิดนี้กันมาก โดยนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่าชาวนาปลูกมากกว่า 1 ล้านไร่แล้ว

 

หอมพวงกับชาวนาไทย

ข้าวหอมพวง มีหลายสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย แต่พันธุ์เบอร์ออริจินอล ซึ่งชาวนาแห่งทุ่งบางปลาม้าแห่ปลูกกันทั้งทุ่งกว่าแสนไร่นี้ ข้าวเปลือกจะมีเมล็ดสั้นกว่าข้าวไทยทั่วไป ให้ผลผลิตสูง เรียกว่าไม่ค่อยขาดนา อายุผลผลิต 105 วัน ส่วนคุณสมบัติการขัดสีจะได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ เพราะเปลือกบาง รำบาง สีแล้วไม่ค่อยหัก เมื่อหุงจะนิ่มและกินดี

 

ส่วนหอมพวงพันธุ์ที่นิยมรองลงมา เป็นพันธุ์เบอร์ 5 บางพื้นที่เรียกว่า “หอมทวี” แม้ไม่มีกลิ่นหอมแต่เป็นข้าวที่นุ่ม พร้อมมีความหนึบเวลาเคี้ยว แถมความพิเศษคือทนโรคกว่าเบอร์ออริจินอล ข้าวเบอร์นี้ต้นแข็ง ทรงกอตั้ง มีใบเขียวเข้ม ชาวนาบางคนเลยใส่ปุ๋ยไม่เยอะ อายุผลผลิต 95 วัน

 

 

ถัดมาเป็นหอมพวงเบอร์ 6 จัดเป็นข้าวนิ่ม เมล็ดเรียวยาว มีกลิ่นหอม อายุประมาณ 100 วัน บางพื้นที่เรียก “หอมผกา” ปลูกหน้าหนาว ให้ผลผลิตไม่ขาดนา การต้านทานโรคจะด้อยกว่าตัวอื่น เพลี้ยค่อนข้างชอบ แต่ในด้านคุณภาพข้าวสาร ต้องบอกว่าเมล็ดเรียวสวย หอม รสชาติถ้าเทียบในบรรดาข้าวนุ่มทั้งหมด หอมพวงเบอร์ 6 นำโด่งเลยทีเดียว แต่คุณภาพการขัดสีอาจจะด้อยกว่าหอมพวงเบอร์อื่น

 

กล่าวโดยรวมแล้ว จุดแข็งของข้าวหอมพวงเวียดนามถือว่าเป็นข้าวลำต้นแข็ง ปลูกช่วงอากาศหนาวได้ ทนต่อเพลี้ยกัดกิน ฉีดสารเคมีบำรุงดูแลน้อย ใช้อายุเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้นระหว่าง 95-105 วัน ที่สำคัญให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวไทยเกือบ 3 เท่า กล่าวคือ ให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1.2 ตันต่อไร่ หรือ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิไทยจะอยู่ที่ 350-400 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ข้าวหอมพวงเวียดนามยังมีความนุ่ม แล้วก็หอมมากอีกด้วย จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างมาก และซื้อง่ายขายคล่อง เมื่อบรรจุถุงข้าวมีแบรนด์ขายในตลาดก็ขายไม่ยาก เพราะผู้บริโภค ซื้อด้วยความมั่นใจในแบรนด์ และมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยอีกด้วย

 

กรมการข้าวไม่รับรองพันธุ์

กรมการข้าว ระบุที่มาของข้าวหอมพวง ซึ่งมีการแอบอ้างว่า เป็นข้าวหอมมะลิ 105 ว่า เป็นข้าวที่ผู้ประกอบการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศให้ชาวนาเพาะปลูกใน จ.สุพรรณบุรี เมื่อประมาณปี 2558 แต่สันนิษฐานว่าข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวหอมจัสมิน 85 ของประเทศเวียดนามที่มีอายุเก็บเกี่ยว 105-110 วัน โดยมีผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ชาวนา ทั้งที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร และไม่ได้รับรองพันธุ์จากกรมการข้าว

 

ปัจจุบันยังมีการลักลอบจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงและปลูกมากใน จ.นครสวรรค์ และมีท่าข้าวที่รับซื้อจำนวน 2 แห่ง คือ ท่าข้าวนโม และท่าข้าวไพรทอง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ราคาที่รับซื้อนั้นข้าวเปลือกเกี่ยวสด ราคาตันละ 8,000–9,000 บาท สูงกว่ากว่าข้าวขาวปกติทั่วไป ที่มีราคาประมาณตันละ 7,500–7,800 บาท และมีการส่งต่อข้าวเปลือกไปยังผู้ประกอบการโรงสีใน จ.นครสวรรค์และใกล้เคียง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี

 

 

กรมการข้าว แนะนำว่า หากเกษตรกรประสงค์จะปลูกข้าว “พื้นนุ่ม” หรือข้าวที่มีความนุ่ม ให้หันมาปลูกข้าวที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี เมล็ดข้าวสารเรียวยาว ตรงตามพันธุ์และความต้องการของตลาด เช่น พันธุ์ กข 21 ที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือพันธุ์ กข 77 ที่มีคุณภาพเมล็ดดี ให้ผลผลิตสูง และขณะนี้กรมการข้าวได้เตรียมรับรองพันธุ์ข้าวนุ่มพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม คือ พันธุ์ กข 79 ที่มีอายุสั้น ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และมีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี

 

อนาคตหอมมะลิไทย

สำหรับข้าวหอมมะลิไทย ดูแนวโน้มแล้วมีอนาคตไม่สดใสในตลาดต่างประเทศ และการปลูกในไทยนัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เวียดนามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมข้าวพันธุ์ ST 24 รุดแซงหน้าไทย จนคว้ารางวัล World’s Best Rice ในการประกวดข้าวโลก 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

 

ข้อมูลไทยพีบีเอส ออนไลน์ ระบุย้อนหลัง 10 ปี โดยตรวจสอบจากเว็บไซต์ The Rice Trader พบว่า ข้าวหอมมะลิไทยเป็นแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลก 5 สมัย โดยครั้งแรก ปี 2009, ครั้งที่ 2 ปี 2010, ครั้งที่ 3 ปี 2014 ครองแชมป์ร่วมกับข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา ครั้งที่ 4 ปี 2016 และครั้งที่ 5 ปี 2017 ก่อนจะถูกข้าวอังกอร์จากกัมพูชา เบียดคว้ารางวัลชนะเลิศ เมื่อปี 2012, 2013 และ 2014 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และอีกครั้งในปี 2018

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข้าวอังกอร์ (Malys Angkor) เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม เป็นที่นิยมของชาวจีน แต่มีจุดอ่อน คือ หากปล่อยไว้ในอุณหภูมิปกติประมาณ 10 นาที จะเหนียวและแข็ง ต้องรับประทานตอนที่ร้อนเท่านั้น คุณสมบัติข้อนี้ยังเป็นรองข้าวหอมมะลิไทย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ โดยพิจารณาว่า ข้าวเวียดนามและกัมพูชามีข้อเด่นด้านใด เพื่อนำมาพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ดียิ่งขึ้น

 

สิ่งสำคัญคือ เมื่อข้าวหอมพวงปรากฏขึ้นในไทย เป็นที่นิยมในหมู่ชาวนา โดยปลูกกันกว่าล้านไร่ มีผลผลิตเก็บเกี่ยวต่อไร่ที่มาก และราคาซื้อ-ขายแม้ถูกกว่าหอมมะลิไทย แต่จัดได้ว่าสมน้ำสมเนื้อต่อรายได้ที่ชาวนาลงแรงปลูกแล้วเกี่ยวเก็บในระยะเวลาสั้นไม่เกิน 100 วัน ด้วยคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมตลาดข้าวหอมมะลิไทย และเป็นโจทย์ใหญ่ให้ไทยต้องยอมรับความจริง วางยุทธศาสตร์ข้าวระยะสั้น-กลาง-ยาว พร้อมพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาแข่ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า “เราจะปลูกข้าวสู้เวียดนาม”

 

ปัจจุบันราคาของข้าวหอมพวงเมื่อสีเป็นข้าวสาร นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ผู้ส่งออกรับซื้อที่กิโลกรัมละ 15.80-16.00 บาท ขณะที่ข้าวขาวกิโลกรัมละ 14.30-14.50 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 24-25 บาท ด้านการส่งออก ผู้ส่งออกจะกำหนดการขายแบบ “ขายตามตัวอย่าง” คือ ไม่ได้ระบุเป็นข้าวหอมมะลิ แต่เขียนเป็น “ข้าวตามตัวอย่าง” ซึ่งคนซื้อ-คนขาย ต่างเข้าใจกันว่าเป็นข้าวอะไร และเหตุที่ซื้อเพราะตลาดต้องการข้าวนิ่ม ซึ่งราคาจะสูงกว่าข้าวขาวแต่ถูกกว่าข้าวหอมมะลิ

 

ประเด็นการลักลอบนำเข้าพันธุ์ข้าวที่มีมากว่า 5 ปี แม้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ยังควบคุมหรือจับกุมไม่ได้ อาจเป็นเพราะงบประมาณที่ไม่เพียงพอ หรือบุคลากรและเจ้าหน้าที่มีน้อย จึงยากต่อการควบคุม อีกทั้งเมื่อนำมาปลูกในไทยแล้ว แทบแยกไม่ออกว่า เป็นข้าวที่มาจากแหล่งใด การจะไปตรวจสอบว่าการปลูกข้าวของไร่นี้มีพันธุ์อะไรบ้าง ในทางปฏิบัติค่อนข้างลำบาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมต้องขึ้นอยู่กับความใส่ใจของภาครัฐเป็นหลัก

 

ส่วนในแง่ของความเป็นชาวนา บอกได้เลยว่า หากในอนาคต กรมการข้าวรับรองสายพันธุ์หอมพวงเวียดนาม ข้าวเวียดนามจะครองที่นาไทยอย่างแน่นอน เพราะใช้เวลาสั้น ให้ผลผลิตสูง ราคาค่อนข้างดี ส่วนข้าวไทยซึ่งพัฒนาสายพันธุ์ล่าช้าไป หน่วยงานรัฐคงต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องขั้นตอนวิธีการปลูก การใส่ปุ๋ย ใส่ยา ความใส่ใจต่อภาคเกษตร เพราะปัจจุบันตลาดหอมมะลิหลักของไทย คือ อเมริกา และแคนาดา เมื่อไทยมีคู่แข่งมากมายทั้งกัมพูชา ลาว และเวียดนาม และยังไม่ขยับตัวทำอะไร เราก็อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งของตลาดข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดอย่างอเมริกาและแคนาดาไป

 

แล้วอนาคตของข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นเช่นไร

 


 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top