skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
สธ.ยกระดับ 4 สกัดโอมิครอน คุมเข้มร้านกิน-ดื่มกลุ่มเสี่ยง

สธ.ยกระดับ 4 สกัดโอมิครอน คุมเข้มร้านกิน-ดื่มกลุ่มเสี่ยง

สธ.ยกระดับ 4 สกัดโอมิครอน

คุมเข้มร้านกิน-ดื่มกลุ่มเสี่ยง

 

เอาละถึงประชาชนจะถูกด่า “ไม่มีจิตสำนึกสังคม” และระดับรัฐมนตรีผู้อ้อนวอนขอคะแนนเป็น ส.ส.จะมี “จิตสำนึกสูงส่ง” เหนือกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎการผลิตแบบเกษตรกรรมอาศัยดิน น้ำ และลงกำลังแรงผลิตก็ดี

 

ว่ากันไปเถิด จะระบายอารมณ์สาดสัดใส่ประชาชน โยนความผิดโดยไม่ดูต้นสายปลายเหตุก็ทำกันไปให้สบายปาก ทั้งที่ข้อมูล ศบค.ระบุชัดเจนตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา มาตรการปล่อยนักท่องเที่ยงต่างชาติเข้าประเทศแบบ Test & Go ไม่ต้องกักตัวนั้นมีช่องโหว่ อีกอย่างการตรวจคัดกรองด้วย ATK และ RT-PCR ล้วนหาเชื้อโควิดพันธุ์ “โอมิครอน” ได้ยาก เมื่อผลตรวจเป็นลบ การเดินทางจึงเสรีตามเสียงโฆษณาดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้าไทย และนั่นคือ การแพร่เชื้อมาถึงคนไทยทางอ้อมจนยากจะหลีกเลี่ยงพ้น

 

 

แล้วอย่างนี้ ไม่ด่าช่องโหว่มาตราการว่า ไร้จิตสำนึกต่อระบบสาธารณสุขที่จะมีผลกระทบถึงประชาชนกันบ้าง ทั้งที่รู้ว่า โอมิครอนหลบหลีกการตรวจหาเชื้อ แต่มาตรการปล่อยเสรี เพื่อเร่งหารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยย่อมแลกกับการระบาดของโควิดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หน่ำซ้ำมีเสียงเตือนจากหมอถี่ยิบว่า จะเกิดเชื้อแพร่ครั้งใหญ่ ก็ยังไม่ฟังกัน

 

วิถีเช่นนั้น ช่างไร้จิตสำนึกธรรมชาติ เบียดเบียนชุมชนชนบท โหมมุ่งเอาแต่รายได้จากการท่องเที่ยวคนนอก ไม่ยึดมั่นให้คนในได้ท่องเที่ยวแบ่งปัน โอบอุ้มกันในยามวิกฤตโรคติดต่อก่อน รวมความแล้วการเปิดประเทศ Test & Go โดยขาดจิตสำนึกยึดเหนี่ยวกับหลักสัมมาชีพ ซึ่งมีวิถีความสุขของคนท้องถิ่นเป็นเป้าหมายกันเลย

 

เชื้อโควิดพุ่งปรี๊ดส่อซ้ำรอย 3 ฉากทัศน์ สธ.

เป็นไปตามคาดการณ์ หลังเฉลิมฉลองปีใหม่ 2565 แล้ว ข้อมูล ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อโควิด ไม่รวมผลตรวจ ATK เป็นบวกก็ตาม พบว่าตั้งแต่ 3-6 ม.ค.มีผู้ติดเชื้อพุ่งปรี๊ด คือ เมื่อ 3 ม.ค.ติดเชื้อ 2,927 คน วันที่ 4 ม.ค. ติดเชื้อ 3,091 คน วันที่ 5 ม.ค.พุ่งเป็น 3,899 คน และวันที่ 6 ม.ค. พุ่งพรวดไปถึงหลัก 5,778 คน โดยเฉพาะวันที่ 5 กับ 6 ม.ค.มีส่วนต่างเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2,000 คนกันทีเดียว นี่บ่งบอกว่า ยิ่งเนินนานวันขึ้น ย่อมส่อถึงแนวโน้มไปสู่การประเมิน 3 ฉากทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขใกล้มาถึงผู้ติดเชื้อวันละหมื่นคน และภายใน ม.ค.อาจมียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 30,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นยอดสูงอย่างน่าตกใจกับโควิดเมืองไทย

 

 

 

 

 

 

 

ก็ไม่รู้รัฐมนตรีมาด่า มาต่อว่าจิตสำนึกประชาชนกันทำไมกัน รู้อยู่เต็มอกว่า ผลการศึกษาระบุโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงเท่าเดลตา แม้โอมิครอนแพร่ได้เร็ว ติดง่าย แต่เชื้อมักเกาะอยู่แถวลำคอ อีกนานจึงจะลงปอด ถ้ามีอาการแล้วรักษาไวก็ไม่หนัก ไม่ถึงขั้นหามส่งโรงพยาบาล ดังนั้นควรเก็บเสียงโวยวายเอาไว้ ก้มหน้าก้มตาวางมาตรการรักษาผู้ติดเชื้อให้สมกับหน้าที่อาสามาเป็น “รัฐมนตรี” คงอาจเกิดจิตสำนึกธรรมชาติอย่างมีสัมมาชีพกันบ้าง

 

ยกระดับ 4 พร้อมรับมือผู้ป่วยนับหมื่น

ถึงขณะนี้ เชื้อโอมิครอนเริ่มขยายผสมกับสายพันธุ์เดลตาจนเกิดเป็น “คลัสเตอร์ใหญ่” แพร่ระบาดไปทั่วไทยทุกภาค กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งสติมั่นคุมโรค พร้อมวางมาตรการรักษาเพื่อรับมือไว้เบ็ดเสร็จ โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ มั่นใจว่า มีเตียงรักษาผู้ป่วยเพียงพอ แม้มีผู้ป่วยมากถึงวันละ 30,000 คนก็ตาม โดยเน้นให้ผู้มีอาการตรวจ ATK เมื่อพบเชื้อก็รีบประสานติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประเมินอาการและจัดยารักษาส่งไปถึงบ้าน

 

อย่างไรก็ตาม ในแนวทางรักษานั้น กระทรวงสาธารณสุขวางมาตรการไว้ 3 ระดับคือ ผู้มีอาการน้อยให้รักษาตัวที่บ้าน หรือ แบบ Home Isolation (HI) หากอาการไม่ดีขึ้นนำไปรักษาระดับชุมชน หรือ Community Isolation (CI) และถ้ามีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังโรงพยาบาลที่มีเตียงรองรับไว้พร้อม

 

ขณะเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงการรับมือโอมิครอนที่แพร่ระบาดเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการเข้าไปใช้บริการสถานที่ระบบปิด เช่น ร้านอาหารกึ่งผับ ร่วมงานเลี้ยง งานบุญ กิจกรรมทางศาสนา และระมัดระวังไม่เพียงพอ อีกทั้งการเดินทางมีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น จึงยกระดับการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 4 (จากที่กำหนดไว้ 5 ระดับ)

 

โดยมาตรการเตือนโควิดระดับ 4 นั้นมีข้อปฏิบัติ คือ งดไปรับประทานร่วม / ดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ และถ้าเข้าประเทศไทยให้กักตัว

 

อีกทั้งมีข้อแนะนำสำคัญว่า อาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ชะลอการเดินทาง เช่น ขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงการเคลื่อนย้ายคน จำกัดการรวมกลุ่ม การทำกิจกรรมต่างๆ ต้องมีมาตรการเคร่งครัดมากขึ้น แนะนำให้ลดการรวมกลุ่มลง ไม่ให้แพร่เชื้อ ขอความร่วมมือประชาชนและสถานประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด

 

 

 

 

มาตรการระดับ 4 ที่ นพ.เกียรติภูมิ แถลงเมื่อ 6 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นแนวทางรับมือที่เชื้อโอมิครอนระบาดในไทยไปกว่า 55 จังหวัดแล้ว โดยข้อมูลเมื่อ 5 ม.ค. พบติดเชื้อมากถึง 2,338 คน มี กทม.ยอดติดเชื้อสูงสุด 676 ราย

 

เร่งฉีดวัคซีนชะลอการระบาด

มีผลศึกษาการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนเบื้องต้น โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เชื่อว่า โควิดจะถูกควบคุมให้เป็นโรคประจำถิ่น ปัจจัยที่จะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้เป็นเพราะโอมิครอนแพร่เชื้อได้เร็ว ติดง่ายขึ้น อาการน้อย ไม่รุนแรงเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความสมดุลระหว่าง “เชื้อโรค-คน-สิ่งแวดล้อม” ด้วย

 

ความสมดุลตามที่ นพ.โอภาส หวังนั้น ย่อมเป็นไปตามหลักแห่งธรรมชาติกำหนดสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะปัจจัยการมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว การฉีดวัคซีนย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดและผู้ที่ฉีดแล้วเกิน 3 เดือนควรได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนด้วย

 

ส่วน นพ.ศุภโชค เกิดลาภ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำว่า ต้องฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรง ถึงจะกันติดได้ไม่ 100% แต่ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและเข้า ICU ได้ ส่วนใครฉีดแล้วอย่าลืมฉีดเข็มกระตุ้น (Booster) โดยข้อมูลเข็มกระตุ้นมากสุดตอนนี้คือวัคซีนชนิด mRNA (Pfizer หรือ Moderna)

 

“เราเลี่ยงการระบาดไม่ได้ แต่เราสามารถชะลอได้โดยอาศัยการใช้/ปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมควบคู่ไปด้วยกันกับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยโจทย์ที่ยากที่สุดคือ แค่ไหนเรียกว่าเพียงพอระหว่างการควบคุมโรคและการทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสังคมของเรายังไปได้ โดยไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขเกินศักยภาพ อันนี้ก็คงยาก และเป็นโจทย์ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน”

 

นอกจากนี้ อย่าประมาทที่บอกว่าโอมิครอนกระจอก ไม่รุนแรง ไม่หนักมากนั้น อย่าลืมว่าในประเทศอย่างแอฟริกาใต้หรืออังกฤษ คนส่วนใหญ่ที่ติดโอมิครอนเป็นคนที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อแล้วมีภูมิตามธรรมชาติ อีกทั้งสหรัฐอเมริกา จะพบว่าถึงอาการรุนแรงจะไม่มากเท่าเดลตา แต่ถ้าติดเชื้อกันวันละเป็นแสนๆ คน อย่างไรก็ยังต้องมีคนที่มีโอมิครอนลงปอดแล้วต้องนอนโรงพยาบาล ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแน่นอน ซึ่งตอนนี้อัตราครองเตียงของอเมริกาเพิ่มมากขึ้น เริ่มตึงๆ มือเช่นกัน

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาการติดเชื้อมักพบมากกับผู้สูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ยังไม่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่อายุตั้งแต่ 5-11 ปีที่อยู้ในชั้นเรียนอนุบาลถึงประถมศึกษายังไม่ได้ฉีดวัคซีนสักเข็ม ย่อมหวั่นและยิ่งวิตกกังวลอย่างมาก

 

ทั้งกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไปฉีดวัคซีนเข็ม 3 แต่สถานที่รับฉีดยังไม่กระจายทั่วถึง ส่วนระดับเด็กอายุ 5-11 ปี กลับเงียบเป็นปลิดทิ้งว่า จะเริ่มฉีดได้เมื่อใด อย่างไร และแบบไหน กระทรวงศึกษาและรัฐบาลประกาศมานานแล้วว่า จะเร่งฉีดวัคซีนกับเด็กกลุ่มนี้

 

ขณะนี้ การระบาดในไทยไปมากกว่า 55 จังหวัดจาก 77 จังหวัด แต่เด็กน้อยยังไม่รู้อนาคตด้านสาธารณสุขของตัวเองว่า จะได้ฉีดวัคซีนเมื่อใดกัน

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top