วิกฤตขาดแคลนอาหารยิ่งทวีรุนแรงทั่วโลก
วิกฤตขาดแคลนอาหารยิ่งทวีรุนแรงทั่วโลก
เมื่อ 8 เมษายน ที่ผ่านมา เดวิด มัลปัส (David Malpass) ประธานธนาคารโลกเปิดเผยว่า จำนวนประเทศที่ออกคำสั่งห้ามส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 35 ประเทศ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 25% ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคาดการณ์ถึงรายชื่อประเทศอาจมีเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีกในช่วงเดือนเมษายนนี้
ขณะที่องค์การระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ 11 แห่ง รวมทั้ง Oxfam, ALIMA และ Save the Children ซึ่งทำงานเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านอาหารในแอฟริกาเตือนว่า ตัวเลขผู้ขาดแคลนอาหารในแอฟริกาตะวันตกจะเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านคน เป็น 38 ล้านคนภายใน 3 เดือนข้างหน้า โดยมีประเทศในแอฟริกาตะวันตกมากถึง 6 ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสาลี 1 ใน 3 จนถึงกว่าครึ่งหนึ่งของข้าวสาลีที่บริโภคในประเทศ
สงครามก่อกระทบราคาธัญพืชพุ่ง
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพิ่งเผยแพร่ข้อมูลล่าสุด พบว่าดัชนีราคาอาหาร ซึ่งมีระดับสูงสุดอยู่แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้เพิ่มขึ้นอีก 12.6% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ระบุว่า สงครามในยูเครนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาธัญพืชพุ่งขึ้น 17.1% ซึ่งรวมถึงข้าวสาลีและอื่นๆ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพด เพราะรัสเซียและยูเครนรวมกัน มีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดของโลกคิดเป็น 30% และ 20% ของการส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดทั่วโลกตามลำดับ
ดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือน้ำมันพืช โดยเพิ่มขึ้น 23.2% ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญเกิดจากผลกระทบจากที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกและรัสเซียเป็นอันดับสอง และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแอฟริกา ตะวันออกกลางหลายประเทศ ที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร เช่นเดียวกับเอเชียอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาใหญ่สำคัญประเดประดังผสมโรงเกิดขึ้น
ในศรีลังกา ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวที่สะสมมานาน ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด และความล้มเหลวของรัฐบาลส่งผลให้เกิดวิกฤตทั้งด้านอาหารและพลังงาน อาหารแพงและน้ำมันขาดแคลนจนเกิดการประท้วงในท้องถนน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องประกาศลาออก รัฐบาลศรีลังกาพยายามปฏิรูปเกษตรกรรมมาก่อนหน้านี้โดยลดการพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งที่จริงเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลกที่ต้องการลดการพึ่งพาฟอสซิล และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง แต่ก็ไม่ทันการณ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีเกษตรฉวยโอกาสโจมตีว่า การลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีเป็นต้นตอของการขาดแคลนอาหาร
สำหรับจีน มีรายงานข่าวว่ามาตรการซีโร่โควิด ทำให้เกิดการล็อคดาวน์ในหลายมณฑล ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตเกษตรและอาหาร เพราะขาดแคลนแรงงาน เมล็ดพันธุ์ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีน มีเกษตรกรมากถึง 1 ใน 3 ในมณฑลจี๋หลินตะวันออกเฉียงเหนือ เหลียวหนิง และเฮยหลงเจียง ประสบกับปัญหาดังกล่าว หลังจากที่ทางการปิดหมู่บ้านเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด โดย 3 มณฑลดังกล่าวผลิตธัญพืชมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของการผลิตธัญพืชของจีนทั้งหมด
ที่ปรึกษารัฐบาลกลางด้านนโยบายการเกษตรในกรุงปักกิ่งกล่าวว่าจีนกำลังเสี่ยง “เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร”
ส่วนกรณีประเทศไทย ราคาอาหารแพงเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการระบาดของโรคระบาด ASF ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากสถานการณ์โควิด ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น และความไม่เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล ล่าสุดราคาหมูหน้าเขียงปรับเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 3 บาท และหมูหน้าเขียงปรับเพิ่มแตะกิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนไข่เพิ่มราคาสูงสุดในรอบ 9 ปี ทำให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี แต่ค่าแรงเท่าเดิม และคนจำนวนมากต้องตกงาน
วิกฤตอาหาร-ราคาของการคว่ำบาตร
ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม มีรายงานระบุถึงวิกฤตด้านอาหารอาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนปุ๋ยก่อผลกระทบผลักดันราคาอาหารให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับอาหาร และขณะนี้ตอนนี้สถานการณ์ดูจะเลวร้ายลง ไม่เพียงแต่สำหรับปุ๋ยแต่สำหรับเมล็ดพืชด้วย โดยเฉพาะข้าวสาลี ยูเครนและรัสเซียจัดหาข้าวสาลีมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลก ด้วยการระบาดของสงคราม ซัพพลายเชนหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาทั่วโลก
เมื่อต้นสัปดาห์ของเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเซอร์ไพรส์ในงานแถลงข่าวระหว่างการประชุมสุดยอด NATO ในกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม ว่า วิกฤตการณ์อาหาร “จะเกิดขึ้นจริง” และเสริมว่านี่คือราคาของการคว่ำบาตร “เรื่องการขาดแคลนอาหาร ใช่แล้ว เราได้พูดถึงการขาดแคลนอาหาร และมันจะเป็นเรื่องจริง ราคาของการลงโทษไม่ได้กำหนดไว้สำหรับรัสเซียเท่านั้น มันบังคับใช้ในหลายประเทศเช่นกัน รวมทั้งประเทศในยุโรปและประเทศของเราด้วย”
มารี เอลกา ปังตะซุ (Mari Elka Pangestu) ผู้อำนวยการบริหารแผนกนโยบายการพัฒนาและความร่วมมือของธนาคารโลก ได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ 4 ประการ ได้แก่ “การเปิดการค้าอาหาร” “สนับสนุนผู้บริโภคและครัวเรือนที่อ่อนแอผ่านเครือข่ายความปลอดภัย” “สนับสนุนเกษตรกร” และ “เปลี่ยนระบบอาหารเพื่อให้พวกเขาสามารถมีความยืดหยุ่นและบรรลุความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ยั่งยืน” ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดหยุ่น และครอบคลุม ส่งเสริมสุขภาพของผู้คน เศรษฐกิจ และโลก
วิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรง
โลกเผชิญกับปัญหาความอดอยาก ที่เลวร้ายที่สุดในรอบอย่างน้อย 5 ปีในปี 2020 จากวิกฤตการณ์โควิคระบาดและแนวโน้มยังคงน่ากลัวอีกครั้งในปีนี้ เพราะมีประชากร 155 ล้านคนใน 55 ประเทศกำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนต่าง ๆ นับตั้งแต่วิกฤตอาหาร ไปจนถึงความอดอยาก ตัวเลขดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น 20 ล้านคนจากปี 2019 โดยผลกระทบหลัก ๆ มาจากสภาพทาง เศรษฐกิจ ความขัดแย้ง ความไม่แน่นอน การระบาดของโควิด และสภาพอากาศ
สถานการณ์ที่เลวร้ายลงแสดงให้เห็นว่าการระบาดใหญ่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านอาหารรุนแรงขึ้นทั่วโลก รวมถึงสภาพอากาศที่รุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองที่ขัดขวางการเข้าถึง วัตถุดิบหลัก ขณะนี้ผู้บริโภคกำลังต่อสู้กับต้นทุนอาหาร ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ และ ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
ความขัดแย้งและความไม่ปลอดภัยยังคงเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของความหิวโหย ซึ่งส่งผลกระทบเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ที่เผชิญกับวิกฤตอาหาร โดยคองโก เยเมน และอัฟกานิสถาน เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งสิ่งสำคัญคือ วิกฤตอาหารจะทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก
>>>>>>>>>>>>>>>
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods