ล็อกแคมป์ก่อสร้าง ธุรกิจเจ๊ง 4 หมื่นล้าน
ล็อกแคมป์ก่อสร้าง
ธุรกิจเจ๊ง 4 หมื่นล้าน
มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ปิดแคมป์คนงานและหยุดงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อีกทั้งยังลามไปกระเทือนร้านอาหารหรือเครื่องดื่มห้ามกิน-ดื่มที่ร้าน โดยเริ่มตั้งแต่ 28 มิ.ย.ยาวไป 1 เดือน
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับมีคนไม่สบายใจหรือไม่พอใจ แต่ต้องบริหารงานให้เป็นระบบ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาพันกันยุ่งเหยิงในอนาคต เหตุนี้รัฐบาลต้องดำเนินการให้รอบคอบรัดกุม
“รู้แหละว่าเดือดร้อน ก็เดือดร้อนกันทั้งหมด พวกเราก็เดือดร้อนไปไม่น้อยกว่าท่าน มากกว่าท่านด้วย เพราะต้องทำให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงนี้”นายกรัฐมนตรีกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมของภาครัฐภายใต้วงเงินเบื้องต้น 7,500 ล้านบาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุว่า สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคมจะจ่ายค่าชดเชยให้ 50% ของค่าแรงที่ได้รับ พร้อมทั้งรัฐจ่ายสมทบอีกคนละ 2,000 บาท แต่ขอความร่วมมือนายจ้างช่วยดูแลค่าอาหารในแคมป์ที่พัก และยืนยันวางมาตรการปลดล็อกแคมป์ก่อสร้างทุก 15 วัน หากแรงงานได้รับวัคซีนครบและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีแคมป์คนงานก่อสร้าง 575 แห่ง ลูกจ้าง 83,375 คน ข้อมูลเมื่อ 27 มิ.ย. ระบุว่า กทม.ปิดแล้ว 77 แคมป์ในพื้นที่ 50 เขต ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 124 แคมป์ ปิดแล้ว 3 แคมป์ กลุ่มกรุงเทพกลาง 93 แคมป์ ปิดแล้ว 13 แคมป์ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 111 แคมป์ ปิดแล้ว 37 แคมป์ กลุ่มกรุงเทพใต้ 102 แคมป์ ปิดแล้ว 18 แคมป์ กลุ่มกรุงธนเหนือ 84 แคมป์ ปิดแล้ว 3 แคมป์ กลุ่มกรุงธนใต้ 61 แคมป์ ปิดแล้ว 3 แคมป์
นอกจากนี้ยังมีแคมป์คนงานในจังหวัดนนทบุรี 140 แห่ง ปทุมธานี 149 แห่ง และสมุทรปราการ 32 แห่ง และข้อมูลสภาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ระบุว่า คนงานในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศมีประมาณ 3-5 ล้านคน
ธุรกิจเสียหาย 4 หมื่นล้าน
บทความของ“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทันทีว่า กลไกความช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มแรงงานและธุรกิจที่เป็นปลายทางของงานก่อสร้างและบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก แต่ยังคงมีกลุ่มอื่นๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจหรือซัพพลายเชนได้รับผลกระทบตามมาเป็นทอดๆ จากการหยุดกิจกรรมที่กำหนดไปอย่างน้อย 1 เดือน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมูลค่างานก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มหายไป กลุ่มซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ผู้ค้าส่งค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ผู้ค้าส่งค้าปลีกวัตถุดิบอาหาร ผู้ให้เช่าพื้นที่เปิดกิจการร้านอาหาร ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง เป็นต้น ก็จะไม่ได้รับเม็ดเงินที่เดิมควรจะได้รับหรือมีปัญหาสภาพคล่องได้เช่นกัน
สำหรับธุรกิจก่อสร้างยังมีประเด็นเฉพาะด้านกฎหมายเกี่ยวกับการส่งมอบงาน ซึ่งหากล่าช้า จะมีบทลงโทษเป็นค่าปรับ ถูกขึ้น Black List หรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง นั่นหมายความว่า ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจจะมากกว่าเพียงมูลค่างานที่หายไปเท่านั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง หากเหตุการณ์คลี่คลายลง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนข้างหน้า ผลกระทบคงเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่ถ้าเหตุการณ์ลากยาวออกไปหรือจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลงตามที่คาด ก็มีความเสี่ยงที่มูลค่าความเสียหายจะมากขึ้นและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น
“ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิในด้านมูลค่าธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหารและเครื่องดื่มใน 6 จังหวัด (กทม.และปริมณฑล) จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในกรอบเวลา 1 เดือน อาจคิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของจีดีพี โดยมาตรการเยียวยาของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในระดับหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ถัดจากนี้ เชื่อว่า ภาครัฐคงจะติดตามและประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมอีกหากมีความจำเป็น โดยการออกแบบมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชนของธุรกิจต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง อาจเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่ากลุ่มเหล่านั้นได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่ง่าย
อสังหาฯ ถูกน็อกซ้ำซาก
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงมาตรการล็อค”แคมป์คนงาน” ส่อแววจะแก้ไม่ถูกจุด เพราะจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ลดลง โดยครึ่งปีแรก 2564 มูลค่าลดลง -1.4% อยู่ที่ 604,800 ล้านบาท ดังนั้น หนทางแก้ คือ ต้องทำให้ “แคมป์คนงาน” กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งให้ได้
สิ่งสำคัญ นายกสมาคมอสังหาฯ ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ ต้นทุนธุรกิจอสังหาฯ แทบทุกด้านเพิ่มขึ้น อีกทั้งปลายทางที่เป็นรายรับเองก็กำลังน็อก เพราะธนาคารเข้มงวด กำลังซื้อของประชาชนไม่มี ทำให้ยอดขายใหม่ไม่เกิด เมื่อรวม 3 อย่างคือ ต้นทุนขึ้น, รายรับตก แล้วแคมป์ยังหยุดอีก อสังหาฯจึงอยู่ในอาการทุกข์ซ้ำกรรมซัด
ขณะเดียวกัน ต้นทุน”ค่าโสหุ้ย” ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ใช่วัตถุดิบโดยตรง อย่างเช่นหลายๆ บริษัทมีพนักงานจำนวนมาก แต่ว่ายอดขายตก ภาพที่จะเกิดขึ้นก็คือ การ Lay Off หรือ “เลิกจ้าง” ดังนั้นเมื่อเทียบกับตัวเลขปีที่ผ่านมา คาดว่า ไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) อัตราการว่างงานจะยังคงรุนแรงอีก
“หนทางเดียวที่จะฟื้นตัวได้ตอนนี้ มีแต่รัฐบาลต้องจบการระบาดโควิดเฟส 3 นี้โดยเร็ว ทำให้แคมป์ก่อสร้างกลับมาเปิดใหม่ได้ ขอย้ำ! อย่าแก้แค่จุดเดียว ต้องแก้ทั้งหมด”
รัฐเน้นมาตรการ“ปลอบใจ”คนเดือดร้อน
มาตรการปิดแคมป์คนงานและลุกลามไปถึงร้านอาหารทั่วพื้นที่ 10 จังหวัดตามมาตรการคุมโควิดระบาด แต่คนงานก่อสร้างในระบบประกันสังคมได้รับการเยียวยา ส่วนนอกระบบประกันสังคมเพียงได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ 2,000 บาท อีกทั้งแรงงานต่างชาติถูกลอยแพ ด้วยเหตุนี้คนงานจึงเดินทางออกสู่ต่างจังหวัด มุ่งข้ามแดนไปประเทศตัวเอง
แม้รัฐสั่งให้กักตัวแรงงานจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้มกลับถิ่นฐานต่างจังหวัด แต่ดูเหมือนคนงานอีสานและเหนือกลับเต็มใจจะถูกกักตัวในจังหวัดของตัวเอง นั่นเป็นเพราะ ขืนอยู่ในแคมป์คนงาน กทม.และปริมณฑล มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด ซ้ำร้ายไม่มีโรงพยาบาลรับรักษา โดยอ้างเตียงไม่พอ ดังนั้น การคิดแบบง่ายๆตามประสาคนบ้านๆ คือ กลับต่างจังหวัดย่อมมีโอกาสได้รักษามากกว่าจมปรักในแคมป์คนงาน กทม.
ถึงขณะนี้ รัฐมีเพียงเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างให้ความร่วมมือกับมาตรการปิดแคมป์คนงาน และห้ามออกไปก่อสร้างโครงการต่างๆ พร้อมทั้งลากเอาร้านอาหารห้ามนั่งดื่ม-กินที่ร้าน ให้ซื้อกลับบ้านได้ สิ่งนี้ธุรกิจร้านอาหารกระทบอีกครั้ง เสียงคนขายซาบู บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ เดือดร้อนรอวันปิดกิจการ ส่วนรัฐไม่มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เอาแต่บ่นว่า “รู้แหละว่าเดือดร้อน ก็เดือดร้อนกันทั้งหมด” แล้วไม่ทำอะไรอีกตามเคย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods