skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
รัฐบาลมาตรการแกว่ง ส่อแวว 120 วันเปิด ปท.รวนเร

รัฐบาลมาตรการแกว่ง ส่อแวว 120 วันเปิด ปท.รวนเร

รัฐบาลมาตรการแกว่ง

ส่อแวว 120 วันเปิด ปท.รวนเร

 

มาตรการคุมโควิดหลายแบบประกาศออกมาช่วงเกือบ 2 ปีที่โควิดระบาด ยิ่งซ้ำเติมความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ประกาศล็อคดาวน์ กทม.และปริมณฑลเมื่อช่วงตีหนึ่งคืน 26 มิ.ย. (วันที่ 27 มิ.ย.) ก่อเกิดเสียงระงมตำหนิประชดประชันรัฐบาลกระหึ่มสังคมโซเชียล
ขณะเดียวกัน นับวันมีปรากฎการณ์สะท้อนว่า เมื่อโควิดระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น จากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันในระดับ 3-4 พันคน พร้อมกับมีผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นกว่า 40 ราย แล้วปักหลักยืนพื้นที่ 50 เศษ ผสมกับเสียงโอดครวญของคน กทม. ผู้ป่วยโควิดต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่มีเตียงโรงพยาบาลสนามมารับไปรักษา นั่นจึงเป็นข้อมูลรูปธรรมจริง ซึ่งสวนทางกับคำพูดของรัฐบาลพยายามย้ำว่ามีความพร้อมในมาตรการรักษาผู้ป่วยโควิดได้ ซึ่งไม่เป็นจริงในเชิงการกระทำที่น่าเชื่อถือ ทำให้รัฐบาลล้มละลายในสายตาประชาชน ไม่เชื่อมั่นในวิธีการต่างๆในการจัดการปัญหาต่างๆอีกต่อไป

 

ความจริงไม่ใช่สิ่งที่พูด

ตามสิ่งที่รัฐบาลเชื่อว่า “ควบคุมโควิดได้อยู่หมัด” เมื่อ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงกับประกาศแนวทางเปิดเมืองท่องเที่ยวรับคนต่างชาติ โดยกำหนดยุทธศาสตร์นำร่องท่องเที่ยว 10 จังหวัด แต่เลือกแผน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” ก่อนช่วงไตรมาส 3 ในเดือน ก.ค.-ก.ย. แล้วขยับไปเปิดเมืองอีก 9 จังหวัดนำร่องที่เหลือช่วงไตรมาสที่ 4 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค.

แผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ยังไม่ทันเริ่มขับเคลื่อนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ การประกาศอีกครั้งในเย็นวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผานมาของ พล.อ.ประยุทธ์ ราวกับมั่นใจคุมโควิดได้อยู่มือ จึงแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สื่อเป็นทางการว่า จะเปิดประเทศใน 120 วัน

ด้วยอาการแสดงออกดังกล่าวย่อมสื่อว่า วิกฤตโควิดเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายลงแล้ว ส่วนภาคประชาชน ทั้งหมอ ฝ่ายการการเมืองได้เตือนถึง “ความเสี่ยง” ที่จะตามมาหากการควบคุมการระบาดโควิดยังไม่พร้อม

แล้ววันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีทีมหมอยืนเรียงเป็นกลุ่มก้อนเป็นวอลเปเปอร์อยู่ด้านหลัง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จะพูดถึงมาตรการชุดใหม่กับการควบคุมพื้นที่สีแดงสูงสุดและเข้มข้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การแถลงข่าวเมื่อ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา บอกถึงมติ ศบค.ชุดใหญ่ ตัดสินใจมาตรการคุมโควิดครั้งใหม่ คือ “ไม่ล็อคดาวน์ แต่จะปิดแคมป์ก่อสร้างใน กทม.-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดใต้ คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา และนราธิวาส เพื่อหวังควบคุมคลัสเตอร์แพร่ระบาดในอยู่เบ็ดเสร็จหรืออย่างน้อยผ่อนคลายลงแล้วเดินหน้าไปตามยุทธการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ

กระทั่งราชกิจจานุเบกษาในคืนวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำหนดพื้นที่พิเศษคุมการระบาดโควิด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม อีกทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นพื้นที่ปิดกิจการ แต่ไม่ล็อคดาวน์ หรือการใช้มาตรการคุมเข้มข้นพิเศษ โดยเบื้องต้นกำหนดเวลาไว้ 1 เดือนเต็ม

ดังนั้น ช่วงเดือนมิถุนายน มาตรการของรัฐบาลและ ศบค. สะท้อนถึงอาการโอ้ละพ่อกันในทางเศรษฐกิจและการสาธารณสุข ยังแสดงถึงอาการรวนเร ไม่แน่นอน ย้อนแย้ง เปลี่ยนจากดีสู่ร้ายกลับไป-กลับมา โดยเฉพาะการขัดแย้งกันระหว่างเปิดเมืองสู่เปิดประเทศกับการปิดเมืองเข้มข้นพิเศษ

ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ สื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมว่า วิกฤตโควิดยังไม่ไม่ผ่อนคลายลง แต่ยิ่งระบาดหนักทุกวัน จึงสะท้อนว่า สิ่งที่พูดตอกย้ำไม่ใช่ความจริง เพราะสวนทางกับการกระทำต่อการรับรู้ถึงวิกฤตโควิด พร้อมทั้งสะท้อนถึงมาตรการแกว่งที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนสื่อให้สังคมได้รับรู้ด้วยการกระทำนั่นเอง

 

กักขังแคมป์คนงานก่อสร้าง

เอาเถิด!! มาตรการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเมื่อล่าสุดวันที่ 25 มิ.ย. แล้วตามด้วยราชกิจจานุเบกษาในคืน 26 มิ.ย. ไม่ใช่มาตรการ “ล็อคดาวน์” ก็ตาม แต่สาระสำคัญอยู่ที่การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และกักขังแรงงานห้ามเคลื่อนย้าย โดยรัฐบาลจ่ายเยียวยาให้ 50% ของค่าจ้างที่ได้รับใน 1 เดือน

กล่าวเฉพาะการระบาดในพื้นที่ กทม. ซึ่งแต่ละวันมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มถึง 1-2 พันราย จนหมอร้องครวญรับมือไม่ไหว เตียงโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ และห้องรักษาไอซียูมีผู้ป่วยหนักเต็ม ประกอบกับการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้าและยังห่างไกลเป้าหมายเข็มแรก 50 ล้านโดส หรือ ฉีดครบ 2 เข็ม 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 คงเป็นไปได้ยากกับการระบาดโควิดทั่วประเทศที่ทำยอดล่าสุดพุ่งระดับ 4-5 พันรายต่อวัน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตรการใหม่คุมเข็มเป็นพิเศษแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น เท่ากับเน้นถึงการควบคุมพื้นที่แพร่เชื้อโควิดใน กทม.เป็นสาระสำคัญ 

เนื่องจาก กทม.มีแคมป์คนงานก่อสร้างตั้งกระจายแทบทุกเขตท้องที่รวมประมาณ 409 แคมป์มีคนงานอยู่พักอาศัยถึงกว่า 60,000 คน

ข้อมูล ศบค.รายงานเมื่อ 25 มิ.ย.ว่า ภาพรวม กทม. มีคลัสเตอร์เฝ้าระวังมากถึง 107 คลัสเตอร์ พร้อมยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ เพราะปิดแคมป์ที่ 1 ก็ไปต่อแคมป์ที่ 2, แคมป์ที่ 3 เป็นต้น จึงมีคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่การระบาดเป็นกลุ่มก้อนจะอยู่ที่แคมป์คนงาน, โรงงานหรือสถานประกอบการ, ตลาด และชุมชน ด้วยเหตุนี้การทำบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and seal) จึงแตกต่างจากพื้นที่สมุทรสาครโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม การสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และกำชับขอความร่วมมือไม่ให้ย้ายออกไปสู่พื้นที่อื่น จึงเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ รัฐบาลประกาศขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวันที่ 25 มิ.ย. พร้อมเน้นเริ่มใช้บังคับ 28 มิ.ย. แต่คนงานก่อสร้างในแคมป์ต่างๆขยับตัว ขนของใช้ข้ามจังหวัดกลับไปบ้านเกิดทันที นั่นส่อแววว่า มาตรการคุมโควิดเข้มข้นพิเศษจึงเป็นไปไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความต้องการของรัฐบาล ส่วนร้านอาหารถูกกระทบอย่างหนักอีกตามเคย โดยไร้การเยียวยาเช่นเคย

ดังนั้น ประกาศล็อคดาวน์แรงงานก่อสร้าง แต่ไม่ล็อคดาวน์เมือง จึงเป็นแค่มาตรการเลี่ยงจ่ายค่าชดเชย อีกทั้งประกาศปิดแคมป์คนงานล่วงหน้า เท่ากับเร่งกระจายคนงานไปทั่วประเทศ รวมถึงปัญหาเตียงใน กทม.ไม่พอทำให้เกิดการกระจ่ายคนป่วยไปสู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด และเมื่อเชื้อโรคกระจายไปทั่วพื้นที่ ย่อมกระทบนักท่องเที่ยวไม่มาเที่ยว แล้วยุทธศาสตร์เปิดประเทศ 120 วันก็ถูกยกเลิกไปปริยาย ไม่เสียหน้าคำตอกย้ำควบคุมได้และการปลุกปลอบให้เชื่อมั่น“ไทยต้องชนะ”

 

ติดเชื้อพุ่ง-ฉีดวัคซีนเฉื่อย-เปิดประเทศรวน

ศบค.รายงานเมื่อ 28 มิ.ย. ว่าผู้ติดเชื้อใหม่รวม5,406 ราย นับเป็นสถิติใหม่ของประเทศ ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนเมื่อ 26 มิ.ย.ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น  9,055,141 โดส แยกเป็นเข็มที่หนึ่ง  6,475,826 ราย เข็มที่สอง 2,579,315 ราย

ข้อมูลดังกล่าว ชี้ถึงปัจจัยสำคัญในการเปิดประเทศใน 120 วันยังไม่มีความแน่นอนจะเป็นไปได้ อีกทั้งพิสูจน์ให้เห็นถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติคงเลี่ยงมาไทยเช่นกัน เพราะการระบาดโควิดสำหรับไทยแล้วอยู่ในภาวะวิกฤต หนำซ้ำยังไม่ได้รับประกับความเสี่ยงในการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มด้วย

นอกจากนี้ มีตัวอย่างจากอิสราเอล เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มให้ประชากรราว 5.2 ล้านคน ได้รับวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ (Pfizer) ครบ 2 เข็มแล้ว จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 9 ล้านคนเมื่อเชื้อโควิดกลายพันธ์เป็น “เดลต้า” อิสราเอลเพิ่มมาตรการควบคุมความเสี่ยงโดยให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในอาคารอีกครั้ง และรัฐบาลมีคำสั่งระงับเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชั่วคราว เพื่อยกระดับป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาระบาดในประเทศ

สำหรับประเทศไทยแล้ว มีแนวโน้มส่อว่า การเปิดประเทศยังเป็นเพียงคำพูดที่ประกาศออกมาด้วยความเร่งรีบ ราวกับถูกกดดันจากกลุ่มเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มหมอพยายามกล่อมให้รัฐบาลล็อคดาวน์เมืองเพื่อผ่อนคลายภาระการดูแลผู้ป่วยโควิด แต่ความเห็นทางเศรษฐกิจกับสาธารณสุขจากทีมหมอกลับขัดแย้งกันในตัวเอง จึงทำให้ยุทธศาสตร์แก้โควิดเกิดความปั่นป่วนขึ้น

ดังนั้น เชื่อว่า ประกาศเปิดประเทศและปิดแคมป์คนงาน สั่งล็อคดาวน์ร้านอาหาร เป็นเพียงพฤติกรรมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แสดงอาการแกว่งตามวิกฤต จากการเลือกฟังและแก้ปัญหาเฉพาะส่วนจากกลุ่มเศรษฐกิจและหมอ ซึ่งเน้นเป้าหมายแบบสวนทางและขัดแย้ง จนทำให้เศรษฐกิจซึมลึก หดตัว สลับเกิดวิกฤตระบาดระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับเจ็บแต่ไม่จบอยู่ร่ำไป

อาการสวิงกลับและกำหนดมาตรการควบคุมโควิดแบบไม่พอดีเช่นนั้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด ย้อนสวนทางกับการฉีดวัคซีนเฉื่อยชา แล้วมาซ้ำเติมด้วยปิดแคมป์คนงาน กักขังแรงงานห้ามเคลื่อนย้ายเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มการเปิดประเทศใน 120 วันรวนเร และส่อแววยกเลิกชนิดไม่ต้องประกาศในโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจให้เสียหน้า โดยทำลืมๆกันไปซะว่า เคยพูดอะไรไว้บ้าง


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top