รวมพลังสามประสานคอนสวรรค์ ดันโคเนื้อเป็นโคขุน
รวมพลังสามประสานคอนสวรรค์
ดันโคเนื้อเป็นโคขุน
…………………………….
กลุ่มอำเภอคอนสวรรค์ นำโครงการพัฒนาโคเนื้อเป็นโคขุน
ในช่วงเสนอแผนปฏิบัติการการอบรมสร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงระดับจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมูลนิธิสัมมาชีพจับมือกับจังหวัดชัยภูมิ เปิดปฐมฤกษ์อบรมไปแล้วเมื่อ 18-20 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาเป็นช่วงแรก
โดยการอบรมนี้ แบ่งเป็น 4 ช่วง โดยเฉพาะช่วงที่สองเมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม 2564 เพื่อนำเสนอแผนปฏิบัติการ ส่วนช่วงที่สามวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นำเสนอผลการขับเคลื่อนโครงการ และช่วงที่ 4 การจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอผลงานในวันที่ 3 กันยายน 2564
ในนำเสนอแผนปฏิบัติการนั้น กลุ่มอำเภอคอนสวรรค์ เสนอว่า การเลี้ยงโคเนื้อมักดำเนินการตามท้องนา ด้วยวิธีดั้งเดิมแบบธรรมชาติ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการออมเป็นทุนระยะยาว แต่มักถูกเอาเปรียบด้านการซื้อขายเสมอ เนื่องจากผู้ซื้อมีข้ออ้างสภาพโคไม่สมบูรณ์ ขาดประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากดราคาเกษตรกรผู้ขาย
ดังนั้น โครงการพัฒนาโคเนื้อเป็นโคขุน จึงมุ่งเปลี่ยนหรือกระบวนจัดระบบการเลี้ยงโคเนื้อแบบดั้งเดิมเสียใหม่ โดยหวังเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงมาสู่ระบบครบวงจรกึ่งอุตสาหกรรม รวมทั้งนำข้อมูลข่าวสารการเลี้ยงและพัฒนาโคเนื้อได้อย่างเป็นระบบมาพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงของเกษตรกร จึงเป็นการสนองความต้องการของตลาด และแก้ไขปัญหาคุณภาพโคเนื้อและการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าได้โดยตรง
สิ่งสำคัญยังได้พัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสายพันธุ์ชาโรเล่ แองกัส วากิว และบรามัน พร้อมยกระดับให้เป็นโคขุนคุณภาพดี มีการจัดการระบบการแปรรูปให้เป็นเนื้อโคคุณภาพเยี่ยมไปสู่ผู้บริโภค
โคพันธุ์บรามัน เป็นสายพันธุ์จากอเมริกา โดยเพศผู้โตเต็มที่หนักประมาณ 800-1,200 กิโลกรัม เพศเมียประมาณ 500–700 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกรอย่างมากในภาคอีสาน อีกทั้ง ยังนิยมใช้เป็นโคพื้นฐานในการผสมพันธุ์กับโคเนื้อสายพันธุ์ยุโรปอื่นๆ เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศแบบเมืองร้อนและมีความทนทานต่อโรคและแมลงดี
ส่วนโคพันธุ์ชาร์โรเล่ เป็นพันธุ์หลักของประเทศฝรั่งเศสที่ใช้ผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์หรือเป็นโคขุนส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โคพันธุ์นี้มีคุณสมบัติถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันมากในแหล่งเลี้ยงโคเนื้อทั่วโลกว่า สามารถให้ลูกผสมที่มีคุณลักษณะทางเศรษฐกิจดีเด่นหลายประการ เช่น อัตราการเจริญเติบโตเร็ว ซากมีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก เป็นที่ต้องการของตลาด
นอกจากนี้ โคพันธุ์แองกัส เป็นโคขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เพศผู้มีน้ำหนักประมาณ 900 กิโลกรัม เพศเมียมีน้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม โคพันธุ์นี้มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ทำให้เนื้อมีคุณภาพดีเยี่ยม แม้จะปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในสภาพร้อนชื้นได้ไม่ดี แต่เหมาะที่จะนำน้ำเชื้อพ่อพันธุ์มาผสมกับโคพื้นเมืองไทยที่มีขนาดใหญ่ เช่น โคขาวลำพูน โคลูกผสมบรามันหรือแม่โคพันธุ์บรามัน ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูงในการใช้ผสมเพื่อผลิตเป็นโคลูกผสมเพื่อขุนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การพัฒนาโคเนื้อเป็นโคขุนวางเป้าหมายว่า จะผลักดันให้ผู้เลี้ยงโคเนื้อทั้ง 9 ตำบล จำนวน 103 หมู่บ้าน มาร่วมมือสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้ออื่นๆนอกพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ โดยยึดหลัการ 3 ประสานจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม สร้างเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร และเป็นอุตสาหกรรมยิ่งขึ้น เพราะการเลี้ยงโคเนื้อในระบบการจัดการแบบคอกต้องลงทุนสูง ได้ผลตอบแทนในระยะเวลานาน
ดังนั้น การลงทุน ด้วยต้นทุนที่ใช้ในการเลี้ยงจึงมีทั้งเงินทุนหมุนหมุนเวียน ได้แก่ พวกค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์สัตว์ ค่าตัวสัตว์และค่าแรงงาน เงินทุนพวกนี้ค่าอาหารสัตว์นับว่าสูงที่สุดของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
อีกทั้งยังมีทุนคงที่ ได้แก่ ค่าที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ ทุนพวกนี้มักจะลงทุนครั้งเดียว แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะถอนทุนได้ ส่วนการสร้างโรงเรือนควรถือหลักประหยัด แต่สัตว์ต้องอยู่สุขสบาย และมีประสิทธิภาพในการใช้โรงเรือนสูง
ด้วยการลงทุนสูงและกระบวนการจัดการต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้โคขุนที่มีคุณภาพสอดคล้องความต้องการของตลาด ดังนั้น โครงการนี้ จึงมุ่งไปสู่การสร้างคอกกลางในการเลี้ยงโคเนื้อทั้ง 9 ตำบล โดยมีคณะกรรมการแต่ละตำบลเป็นผู้ดูแลหรือตรวจสอบมาตรฐานการเลี้ยง สร้างกฎกติกา ข้อบังคับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อผู้เลี้ยง
โคเนื้อ นอกจากนี้ มีการส่งเสริมข้อมูลความรู้เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น พร้อมทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์โคเนื้อสู่ตลาดอย่างมีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม โครงการของกลุ่ม อ.คอนสวรรค์ เชื่อว่า ในระยะแรกจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ สามารถเข้าสู่ตลาดโคเนื้อเป็นโคขุนได้ไม่น้อยกว่า 70% อีกทั้งสามารถจำหน่ายโคเนื้อได้ราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้เป็นแหล่งแปรรูปเนื้อโคคุณภาพดีสู่ความต้องการของตลาดผู้บริโภคในอันดับต้นๆด้วย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv