พริกเผ็ด-แซ่บ-หอม-นัว พลิกชีวิตเกษตรกรชัยภูมิ
พริกเผ็ด-แซ่บ-หอม-นัว พลิกชีวิตเกษตรกรชัยภูมิ
ฐานข้อมูลดิบของ จ.ชัยภูมิ ส่อแนวโน้มจะเดินหน้าสู่การเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่โดดเด่นของจังหวัด คือ ข้าวอินทรีย์ พื้นที่ปลูกข้าวกว่า 100,000 ไร่ ล้วนเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผักอินทรีย์ ส้มโออินทรีย์ พริกยอดสนอินทรีย์ กล้วยหอมอินทรีย์ และมะขามหวานอินทรีย์ เป็นต้น
ถ้าว่ากันเฉพาะการปลูกพริก ปัจจุบัน จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่ปลูกรวม 16,815 ไร่ มีแปลงใหญ่พริก 1 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรปลูกพริก ต.หนองบัวใหญ่ อ.จัตุรัส เริ่มเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2560 นอกจากนี้ ยังมีแปลงพริกของกลุ่มเกษตรกร ต.กุดเลาะ อ.เกษตรสมบูรณ์ ก้าวมาสู่แปลงใหญ่พริกในช่วงถัดมาอีกไม่นาน
การใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรได้รวมกลุ่มกัน มีการบริหารจัดการกลุ่มในด้านผลผลิต รวมกันซื้อ รวมกันขาย และขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ก็ทำให้แปลงใหญ่พริก จ.ชัยภูมิ มีความเข้มแข็งมากขึ้น จนทำให้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น สนใจเข้ามาเจรจาการซื้อขายพริก กับกลุ่มแปลงใหญ่พริกของจังหวัดชัยภูมิ ภายใต้สโลแกนว่า “พริกชัยภูมิ เผ็ด แซ่บ หอม นัว”
วิสาหกิจพริกปลอดภัย
กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2561 ว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพริกปลอดภัยจากสารพิษ จ.ชัยภูมิ เริ่มที่ ต.หนองบัวใหญ่ เกิดจากการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกพันธุ์ยอดสน เพราะเป็นพริกเล็กที่เหมาะสำหรับทำเป็นพริกแห้ง มีคุณภาพดี รสชาติดี สีสันสวยงาม และตากในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกพริกเพื่อเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพริกตกต่ำ การแข่งขันกับตลาดพริกในต่างประเทศ โรคแมลงศัตรูพริกและเรื่องเงินทุนในการประกอบการ โดยการนำทรัพยากร ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่า สินค้า สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดปัญหาการว่างงาน และลดแรงงานออกนอกพื้นที่ สร้างครอบครัวอบอุ่นให้กับชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชุมชน กระทั่งความมุ่งมั่นเช่นนี้เกิดเป็นความสำเร็จรวมหมู่ โดยมีรางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2561 เป็นเครื่องรับประกัน
กล่าวในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงชีวิตชุมชนแล้ว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพริกปลอดภัยจากสารพิษ ต.หนองบัวใหญ่ ดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ทั้งกิจกรรมการผลิต และการแปรรูป ส่งผลให้กลุ่มลดความเสี่ยงในการประกอบกิจการตอบสนองความต้องการสร้างความพอใจและความสุขให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,500 บาท /ครัวเรือน/ปี
สิ่งสำคัญคือ การมีรายจ่ายลดลงและหนี้ของสมาชิกไม่เพิ่มขึ้น พร้อมกับสมาชิกตั้งกลุ่มเงินออม เป็นเงินทุนสำรองสำหรับประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบในทางที่ดีต่อชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างดี
เมื่อชุมชนไม่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ชีวิตเกษตรกรจากรายได้ผันผวน ถูกยกระดับไปเป็นเศรษฐกิจรายได้ปานกลางโดยการปลูกพริกปลอดภัยเป็นรายได้เสริมจากการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ดังนั้นรายได้เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งจึงหันกลับสู่การสร้างชุมชนในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือเงินฌาปนกิจศพแก่สมาชิกและเครือญาติ ให้บริการโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์แก่เกษตรกรทั่วไปที่ต้องการอบผลผลิตทางการเกษตร ร่วมปลูกต้นไม้ในวันสำคัญของชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีแปลงเรียนรู้และวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป ส่งผลให้การทำเกษตรอินทรีย์ขยายไปยัง อ.เกษตรสมบูรณ์ ดำเนินการตามแบบอย่าง
พริกอินทรีย์วิถีต้นแบบเกษตรกร
เดิมทีพืชเศรษฐกิจหลักของ อ.เกษตรสมบูรณ์ เกษตรกรทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก เช่นเดียวกับท้องถิ่นชนบททั่วไป แต่ช่วง 5 ปีผ่านมาได้ปลูกพริกเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้เสริมหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวตามฤดูเสร็จแล้วด้วย
การหันมาปลูกพริกปลอดภัยของบ้านกุดเลาะ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ โดยการผลักดันของ อ.วีระ ภาคอุทัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเกษตรกรปลูกพริกปลอดภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง “ห่วงโซ่อุปาทาน : การจัดการงานวิจัยเกษตรแนวใหม่” โดยใช้พริกชัยภูมิเป็นต้นแบบการ ขับเคลื่อนอาชีพเกษตรกรเพื่อชุมชนเข้มแข็ง
ข้อมูลวิจัยระบุว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างนายชู หล่าคำ นางสายชล เจริญชีพ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรบ้านกุดเลาะ ซึ่งส่งขายพริกให้กับพ่อค้าในกรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนของนายสุรพงษ์ ฟ้ารักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเลาะ
นางสายชล เดิมทำนาและปลูกถั่วเหลืองแต่หันมาปลูกพริกเพราะเห็นว่ารายได้ดี ได้เข้าโครงการกับนักวิจัยมา 5-6 ปี ทำให้ได้รับความรู้สูตรน้ำหมักชีวภาพ การป้องกันโรคและแมลง ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนักวิจัยด้วย รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการตลาด ซึ่งนักวิจัยได้ช่วยหาแหล่งตลาดแนะนำพ่อค้าให้
นายชู มีรายได้หลักจากการปลูกพริกซูเปอร์ฮอตในพื้นที่กว่า 2 งาน แปลงปลูกพริกได้ใบรับรอง GAP เริ่มต้นลงแรงกับภรรยาช่วยกันปลูกพริกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนขณะนี้เก็บขายได้หลายหมื่นบาทจากลงทุนไปเกือบหมื่นบาท และยังเหลือเก็บขายได้อีก 3-4 เดือน รู้สึกดีใจมากที่ลืมตาอ้าปากได้ อีกทั้งยังต่อยอดความรู้ในการทำน้ำหนักชีวภาพเพิ่มเติมด้วยสูตรสับปะรด
ขณะที่ นายสุรพงษ์ เป็นตัวแทนจากองคืกรท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณ 2 แสนบาทเพื่อเดินหน้าโครงการพริกปลอดภัย ประสานหารือร่วมกับแกนนำชาวบ้านและวางแผนร่วมกับนักวิจัยเพื่อช่วยเหลือตามความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านที่ต้องการให้สนับสนุน
โครงการวิจัยเกษตรกรปลูกพริกปลอดภัยภายใต้การสนับสนุนของ สกว.ดังกล่าว เกิดจาก รศ. ดร.จันทร์จรัส ได้ทำโครงการวิจัยเกษตรเรื่อง “ห่วงโซ่อุปาทาน : การจัดการงานวิจัยเกษตรแนวใหม่” และได้รับเลือกเผยแพร่ทางหนังสือ 2 ทศวรรษวิวัฒนาการ สกว. ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวังวนเดิม
ไม่เพียงเท่านั้น โครงการวิจัยพริกปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รณรงค์ให้เกษตรกร อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เข้าร่วมปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ โดยปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรงกุ้งแห้งที่เกิดจากเชื้อรา เกษตรกรปลูกพริกระบบปลอดภัยตามที่อบรมและใช้สารชีวภัณฑ์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น
รายงานวิจัย ระบุผลโครงการว่า เกษตรกรเข้าร่วมโครงการลงแรงปลูกพริก 800 ต้น ให้น้ำระบบน้ำหยดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เก็บพริกขายส่งตลาดเองทั้งพริกเขียว พริกแดงและพริกแห้ง เดือนตุลาคม 2562 มีรายได้ 27,000 บาท ส่วนปี 2563 พริกสวย ดก โรคน้อย เพราะอากาศเย็น ราคาพริกสูงกว่าปีที่แล้ว 4-5 บาท/กิโลกรัม สิ่งสำคัญเกษตรกรปลูกพริกปลอดภัยได้ใบรับรอง GAP พริกจากกรมวิชาการเกษตรเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อรับประกันผู้ซื้อจะได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีเจือปน
อย่างไรก็ตาม ต้นแบบพริกอินทรีย์และปลอดภัยมีจุดร่วมน่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การผลักดันพริกปลอดภัยเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ การวิจัยด้านการศึกษา และเกษตรกรให้ความร่วมมือ เพื่อผลักดันสร้างพืชเศรษฐกิจรายได้เสริมเป็นการผลิตระบบอินทรีย์ต้นแบบ จน จ.ชัยภูมิได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ปลูกพริกมากที่สุดของไทย อีกทั้งในแต่ละปีชัยภูมิมีรายได้จากผลผลิตพริกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าไม่น้อยเลยกับรายได้เสริมของเกษตรกรและชุมชน
พริก(พลิก)เปลี่ยนชีวิต ?!!
หากใช้เครื่องมือสื่อโซเชียล YouTube สืบค้น โดยพิมพ์คำว่า “พริก” จะได้คลิปเกษตรกรชัยภูมิปลูกพริกขึ้นมามากมาย พร้อมบอกสรรพคุณผลดีเลิศของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ว่า ทำรายได้จำนวนมากต่อเดือนถึงขั้น“เปลี่ยนชีวิต”เกษตรกร จนดูเหมือนสามารถข้ามไปอยู่ผู้มีรายได้ระดับสูงกันที่เดียว
ยกตัวอย่าง 3 คลิปจากเกษตรกรชัยภูมิปลูกพริก 3 คน ซึ่งอยู่ในขั้น “พริก”เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรชัยภูมิ ปลูกพริก 7 ไร่ ทำกำไรดี อนาคตสดใส เช่น คุณคำตา ปากกุดเลาะ (เจ๊ตา) เกษตรกรหญิงคนเก่งแห่ง ต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ปลูกพริกเพียง 7 ไร่ แต่สามารถสร้างเงินเป็นหลักล้านได้
เธอบอกว่า “ตั้งแต่หันมาปลูกพริก ชีวิตก็ดีขึ้น มีเงินเก็บ ซื้อที่ดิน ซื้อรถ ความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น” และ “ใน 1 ปี ถ้าปลูก 2-3 รอบ ลงทุนไม่มาก จะได้เงินเป็นล้าน”
คำตา เล่าว่า ปลูกพริกมานานกว่า 15 ปี ก่อนหน้านี้เธอปลูกอ้อยแต่ต้นทุนสูง ใช้คนงานมาก เมื่อหันมาปลูกพริกช่วงฤดูฝน เนื่องจากความชื้นจะช่วยให้อากาศเย็นขึ้นไม่ร้อนเกินไป ได้กำไรดีกว่า เพราะราคาสูงกว่า
พริกใช้เงินลงทุนไม่มาก ถ้าอาทิตย์หนึ่งปลูกรอบหนึ่งได้ผลผลิต 1-2 ตัน ราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ตกราคาที่ตันละ 80,000 บาทต่อหนึ่งสัปดาห์ ปัจจัยการปลูกพริกสำเร็จ อยู่ที่น้ำต้องสะดวก เพราะ 2-3 วันรดน้ำหนึ่งครั้ง ใส่ปุ๋ยที่พอควร “ปุ๋ยสำคัญมากเพราะทำให้มีผลผลิตดี ไม่ต่ำกว่า 2 ตันต่อไร่” จากนั้นเธอจะบรรยายสรรพคุณยี่ห้อปุ๋ย
ภรรยาของนายไพบูลย์ เลิศกุมพา บ้านหนองแซง ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เป็นเกษตรกรอีกคน ที่ปลูกพริก เมื่อก่อนปลูกอ้อย แล้วแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาปลูกพริกเป็นอาชีพเสริม ปลูกมา 4 ปี เริ่มต้น 1 ไร่แล้วขยายเพิ่มเป็น 2 ไร่ ได้ผลผลิตแต่ละปีประมาณ 4 ตัน
เริ่มต้นปลูก ด้วยหว่านกล้า ยกร่องแปลง ว่างสายน้ำพุ่ง รดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มจึงลงกล้าต้นพริก 2 แถว แต่ละต้นมีระยะห่างกัน 50 ซม. ปลูกแบบสลับฟ้นปลากัน มีผลผลิตรุ่นแรกในช่วง 2 เดือนครึ่ง และสามารถเก็บขายทุกสัปดาห์แต่ละรุ่นนานถึงเดือน นำขายส่งคนกลาง ปลูกพันธุ์แฮกพันเดอร์
โรคที่ต้องพบบ่อยในพริก นอกจากราหนวดแล้ว ยังมีโรคกุ้งแท้ กุ้งเทียมเกิดช่วงพริกเป็นสีเขียวและเมื่อผลผลิตเปลี่ยนเป็นสีแดง พริกเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมี ต้องฉีดทุกสัปดาห์หลังการเก็บผลผลิตแล้ว ขายพริกได้กิโลกรัมละ 35 บ.
นายคะนอง กิ่งกนทา เกษตรกรปลูกพริกมา 5-6 ปี โดยแบ่งพื้นที่ปลูกอ้อยมาปลูกพริก แต่ปลูกหน้าแล้ง ช่วงหลังเปลี่ยนมาปลูกหน้าฝนตามอย่างเกษตรกร อ.คอนสาร เมื่อเทียบกับพืชอย่างอื่น ราคาดีกว่าข้าวและอ้อย ผลผลิตจะได้ประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ ราคาพริกสวยประมาณ 70 บ. รองลงมา 50 บ. ต่อกิโลกรัม พริกสร้างรายได้ดีทำให้ชีวิตดีขึ้น
จาก 3 เกษตรกรใน 3 คลิปที่ยกมาเป็นตัวอย่างการปลูกพริกของ จ.ชัยภูมิ สะท้อนอย่างหนึ่งคือ การปลูกโดยการใช้สารเคมีเป็นแรงกระตุ้นผลผลิตและสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำถึงขั้นสามารถพลิกเปลี่ยนชีวิตได้ในชั่วไม่กี่เดือนที่เก็บพริกขาย
ดังนั้น พริกอินทรีย์ปลอดภัยกับพริกสารเคมีพลิกเปลี่ยนชีวิต ย่อมเป็นโจทย์สำคัญของ จ.ชัยภูมิ ควรรุกคืบทั้งในระดับภาครัฐ ฝ่ายองค์ความรู้ วิจัย และเอกชนที่ขยับ “ผู้นำ”ไปสู่การเลี่ยนแปลงนำการพัฒนาที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นระบบการผลิตสีเขียว (Green Growth) ไม่ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในดินและลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินชีวิตตามวิถีสัมมาชีพ
แนวทางการพัฒนาเช่นนี้ อ.วีระ ภาคอุทัย และคณะวิจัย ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้พริกชัยภูมิเป็นต้นแบบ เพราะเป็นจังหวัดแรกที่มีการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนสามารถสร้างเศรษฐกิจของอำเภอและจังหวัด
“ประเด็นสำคัญที่อยากเห็นคือ จิตสำนึกที่ดีของเกษตรกรที่ต้องระลึกตลอดเวลาว่าพริกที่ปลูกต้องสะอาด ปลอดภัย เพราะผู้บริโภคก็เปรียบเช่นคนในครอบครัว เกษตรกรเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้” อ.วีระ ภาคอุทัย ได้ย้ำไว้ และคงเป็นแนวทางผลักดันให้ชัยภูมิเป็นเมื่องเกษตรอินทรีย์ได้เต็มรูปแบบในอนาคต