skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ฉีดวัคซีนสู้โควิด  ปกป้องครอบครัว

ฉีดวัคซีนสู้โควิด ปกป้องครอบครัว

ฉีดวัคซีนสู้โควิด

ปกป้องครอบครัว

 

 

โควิด-19 ยังระบาดมากขึ้นใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื้อไวรัสมากมายหลบซ่อนในชุมชนคนจนเมือง สถิติถึงวันที่ 13 พ.ค.นี้ กทม.พบคลัสเตอร์แพร่กระจายเชื้อถึง 15 แหล่งชุมชนแออัด

โดยเริ่มพบเชื้อที่ชุมชนคลองเตยเมื่อ 27 เม.ย. และลามไล่ไปถึงบ่อนไก่ แคมป์คนงานอ่อนนุช ตลาดสำเพ็ง บ้านญวนแยกมหานาค แฟลตดินแดง ตลาดสะพานขาวมหานาค ประตูน้ำ พระราม 9 โบ๊เบ๊ สีลม บางรัก ปากคลองตลาด ตลาดยอดพิมาน และล่าสุดเมื่อ 13 พ.ค. พบเชื้อในแคมป์คนงานแจ้งวัฒนะมากถึง 196 คนจากการตรวจเพียง 300 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ สภาพขอเท็จจริงของการแพร่ระบาดยังพบว่า ส่วนที่อันตรายที่สุด คือการแพร่กระจายในครอบครัวซึ่งอยู่ใกล้ชิดกันที่สุด บางครอบครัวติดกันทั้งบ้าน นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างร้ายแรง

ความตื่นตระหนกกับวิกฤตโควิดใน กทม.ครั้งนี้ รัฐบาลรับมือด้วย 2 แนวทางหลัก คือ แยกผู้ติดเชื้อระดับสีเหลืองไปอยู่โรงพยาบาลสนามที่เร่งรีบสร้างขึ้นครั้งใหญ่ในเมืองทองธานี ชื่อโรงพยาบาลบุษราคัม รองรับผู้ป่วยได้ถึง 5 พันคน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปกดปุมเปิดให้ใช้บริการเมื่อวันที่ 14 พ.ค.นี้

อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งคงเป็นด้านหลัก รัฐบาลประกาศวาระ “วัคซีนแห่งชาติ” เมื่อ 12 พ.ค. เพื่อเร่งรีบจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส วางเป้าฉีดประชาชนครอบคลุม 50 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของประชากร

ในส่วน กทม. มีแผนฉีดวัคซีนให้ได้ 7.5 ล้านโดส เน้นฉีดเข็มแรกอย่างน้อย 70%ของประชาการ หรือประมาณ 5 ล้านคนจากจำนวนทั้งหมดกว่า 7 ล้านคนใน กทม. โดยข้อมูลเมื่อ 12 พ.ค. กทม.ฉีดวัคซีนไปแล้ว 5% ของประชากร หรือประมาณ 3.5 แสนคน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. กล่าวว่า กทม.เตรียมกระจายจุดฉีดวัคซีนให้ประชาชน 14 จุด ซึ่งเริ่มทดสอบระบบแล้วเมื่อ 12 พ.ค.ที่ เซ็นทรัลลาดพร้าว และสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อ 13 พ.ค.  นอกจากนี้สภาหอการค้าไทย เสนอสถานที่ฉีดวัคซีนมาเพิ่มเติมอีก 11 จุด คาดจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 23 พ.ค. ดังนั้น กทม.จะมีจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ประชาชนรวมถึง 25 จุด

อย่างไรก็ตาม ในยามนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การฉีดวัคซีน คือสิ่งจำเป็นและรีบดำเนินการเร่งยับยั้งการระบาดของโควิดเป็นอย่างยิ่ง เสียงฝ่ายรัฐบาลและหมอใหญ่จาก 3 โรงพยาบาลเชิญชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิดระบาดและอาจถึงขั้นลุกลามทำลายชีวิตคนใกล้ชิดในครอบครัวได้

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำถึงการฉีดวัคซีนว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด นั่นเท่ากับสะท้อนถึงความสำคัญกับการรีบฉีดวัคซีนของประชาชน โดยไม่เน้นชนิดของวัคซีน

รัฐบาลวางแผนการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยดำเนินการจองคิวผ่าน “แอปหมอพร้อม” ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 พ.ค. และจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายผู้อายุตั้งแต่ 60 ปีและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง รวมจำนวน 16 ล้านคน โดยจะเริ่มปักเข็มแรกใน 7 มิ.ย.นี้

แต่การสนองรับจากคนอายุ 60 ปีมีจำนวนไม่มากนัก ข้อมูลเมื่อ 13 พ.ค. ลงทะเบียนจองคิวเพียง 3 ล้านคนเศษ จาก กทม.จองวัคซีนมากที่สุด 610,433 คน และต่างจังหวัด 2,481,438 คน สิ่งนี้อาจแสดงถึงความไม่คึกคัก และสวนทางกับการชวนให้ฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุด

มีการประเมินกันว่า ปัจจัยที่ประชาชนลงเบียนน้อยคงเป็นเพราะกังวลกับผลข้างเคียงของวัคซีนที่รัฐบาลนำมาฉีด หรืออาจเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง เข้าใจ และเห็นความจำเป็น ดังนั้น รัฐบาลประกาศเมื่อ 12 พ.ค. โดยปรับเพิ่มให้มีจุดฉีดวีคซีนแบบวอล์ก อิน (walk-in) คือ สามารถเข้ามาฉีดได้ทันทีเมื่อพร้อม ไม่ต้องลงทะเบียนจองคิว โดยมุ่งหวังบริหารให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด

จุดบริการวัคซีนแบบวอล์กอิน สร้างความสับสนให้ประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะกระทรวงสาธารณสุขแบ่งสัดส่วนการฉีดเป็น 30:50:20 คือ กลุ่มวอล์กอินมีจัดแบ่งแค่ 20% เท่านั้น ส่วนนัดผ่านแอปหมอพร้อมแบ่งไว้ 30% และกลุ่มผู้สูงอายุได้มากถึง 50%

สิ่งที่รัฐบาลจัดแบ่งการฉีดวัคซีนเช่นนี้ คำตอบอยู่ที่จำนวนวัคซีนจากการจัดหายังไม่ได้ตามจำนวนที่วางเป้าไว้ 100 ล้านโดส หรือแปลความง่ายๆคือ วัคซีนมีไม่เพียงพอต่อการฉีด จึงต้องให้จองคิว โดยกลุ่มวอล์กอินและผู้อายุเกิน 60 ปี จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป

แน่ชัดอย่างยิ่งว่า ยอดการฉีดวัคซีนเร็วที่เป็นวาระแห่งชาติ กลับสวนทางจำนวนฉีดจริง ข้อมูลเมื่อ 12 พ.ค. ทั่วประเทศฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,040,363 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 1,395,130 ราย และเข็มสอง  645,233 ราย ขณะที่ข้อมูลจำนวนจริงของวัคซีนเมื่อ 14 พ.ค. ไทยมีรวม 3.6 ล้านโดส จากชิโนแวค 3.5 ล้านโดส และแอสตร้าซิเนกา 1.17 แสนโดส  ดังนั้นเหลือวัคซีนในมือพร้อมจะฉีดได้อีกเพียง 1.6 ล้านโดส

 

เมื่อพิจารณาแผนการจัดหาวัควีนจำนวน 100 ล้านโดส และขยายเพิ่มถึง 150 ล้านโดสในปี 2565 นั้น รัฐบาลมีความหวังจะได้วัคซีนจากแอสตร้าฯ จำนวน 61 ล้านโดส ที่จะเริ่มทยอยส่งมอบใน มิ.ย.นี้ 6 ล้านโดส และ ก.ค.- พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส ปิดท้าย ธ.ค. 5 ล้านโดส

ด้วยวัคซีนจำนวนมากนี้รัฐบาลจึงมั่นใจการเร่งฉีดวัคซีนทุกรูปแบบใน มิ.ย. เป็นต้นไป ตามแผนวันละ 3-5 แสนโดส จนถึงสิ้นปี 2564 หวังมีประชากรฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 70% คือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนวัคซีน 100 ล้านโดส และสิ่งนี้คือ การตอกย้ำเร่งฉีดให้เร็วเริ่ม มิ.ย.นี้

แม้วัคซีน 100 ล้านโดสรัฐบาลมีแผนเตรียมไว้พร้อม แต่สิ่งสำคัญประชาชนต้องแสดงความจำนงในระดับ 50 ล้านคน ย่อมแสดงถึงพลังรวมหมู่ในการต่อสู้กับโควิด และเร่งกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสแรกไม่ยากเย็น

…แล้วเมื่อนั้นทุกคนสามารถปกป้องครอบครัวรอดพ้นจากโควิดได้

 

ขอบคุณภาพ จาก คุณวรรณี มหานีรานนท์ 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top