อีสานทุกข์ระทม : ข้าวราคาตก
อีสานทุกข์ระทม : ข้าวราคาตก
น้ำท่วมปี 2564 ผสมน้ำมันพุ่งขึ้นราคา ได้เกิดปรากฎการณ์ราคาพืชการเกษตรแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว โดยด้านหนึ่งมาจากเสียงประชาชนบ่นว่าราคา“ผักแพง”เดินตลาดซื้อจ่ายไม่ลง แต่อีกด้านหนึ่งราคา“ข้าวเปลือกถูก”เหลือกิโลกรัมละ 5 บาทเศษ ชาวนาร้องโอดครวญทำนาทั้งปีเป็นหนี้พอกพูน กระตุ้นรัฐบาลรีบช่วยเหลือ แถมมีเปรียบเปรยเจ็บปวดเห็นรูปธรรมว่า ทำนาขายข้าวได้ราคาหนึ่งกิโลถูกกว่าราคาบะหมี่สำเร็จรูป (ซองใหญ่) เสียอีก…ฟังดูช่างน่าอนาถใจ
เสียงชาวนาคนปลูกที่ทุกข์ระทมแบบน้ำตาตกใน นักการเมืองนำข้าวเปลือกหว่านโปรยในห้องประชุมสภาประชดรัฐมนตรีหนีตอบกระทู้ราคาข้าวตกต่ำจะแก้ไขอย่างไร ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ประกาศช่วยเหลือตามราคาประกัน จะทยอยจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาประกันเบื้องต้นใน 9 พ.ย.นี้ นี่ก็ออกอาการพูดจาภาษาการเมืองตามถนัด ต้องรอดูภาคปฏิบัติกันอีกยาวๆ
เอาเป็นว่า…ความเดือดร้อนจากราคาผักแพงข้าวเปลือกถูกล้วนเป็นความเดือดร้อนของชีวิตภาคเกษตรกรรมที่ทุกข์ระทมมาทุกปีการผลิต โดยเฉพาะคนทำนาซึ่งเป็นชีวิตคนส่วนใหญ่ของชนบทไทย เมื่อราคาตกต่ำจะลุกลามไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ในด้านอื่นย่ำแย่ตามไปด้วย และปัญหาราคาก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้กันมาตลอดแบบปีต่อปี กลายเป็นปรากฎการณ์ในทุกฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของชาวไทย
ต้นตอความทุกข์ชาวนาไทย
ชาวนาอยู่กับคำปลอบประโลมว่าเป็น “กระดูกสันหลังของประเทศ”มาเนิ่นนาน ฟังดูเหมือนชาวนามีคุณค่า แต่ปัญาราคาข้าวที่เกิดขึ้นกลับถูกแก้กันแบบปีต่อปี เพจ BIOTHAI รายงานเรื่อง “ทุกข์ชาวนา” อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาสำคัญที่เป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาไม่อาจหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างคือ สิทธิและความเป็นเจ้าของที่ดินและการเข้าถึงแหล่งน้ำในการเพาะปลูกได้ โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ครัวเรือนเกษตรทั้งหมด 5.9 ล้านครัวเรือนนั้น มีที่ดินของตนเองเพียง 48 % และไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง 52 % ในส่วนของเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเองนั้น ยังเป็นที่ดินที่ติดจํานองมากถึง 29.731 ล้านไร่ ขายฝาก 0.116 ล้านไร่ รวมเกษตรกรที่มีสถานะความไม่มั่นคงในที่ดินของตนเองมากถึงร้อยละ 41.66 ของเกษตรกรที่มีที่ดินทั้งหมด
“จากสถิติพบว่าพื้นที่เช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 14.09 ล้านไร่ในปี 2524 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 29.25 ล้านไร่ ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15.16 ล้านไร่ ในช่วงประมาณ 3 ทศวรรษ เฉพาะชาวนากลุ่มเดียวมีผู้เช่ามากถึง 4.52 แสนราย รวมเนื้อที่ประมาณ 8.41 ล้านไร่”
เพจ BIOTHAI ยกข้อมูลการเช่าที่นาในภาคกลางตอนล่างว่า ทำให้ต้นทุนสำหรับชาวนาเพิ่มขึ้น เช่น จ.อ่างทองจ่ายค่าเช่านา 870 – 1,740 บาท/ไร่/ฤดูกาล จ.สุพรรณบุรี 1,305 – 1,740 บาท /ไร่/ฤดูกาล จ.พิจิตร คือ 1,000 – 2,000 บาท/ไร่/ฤดูกาล
สำหรับปัญหาขาดแหล่งน้ำนั้น ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าเกษตรกรจำนวนประมาณ 58% ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ระบุว่าสัดส่วนพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ปลูกข้าวของไทย อยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนหลายเท่าตัว จากการเปรียบเทียบเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีพื้นที่นาชลประทานมากถึง 74.5%, 65.35%, 64.16% และ 60.52% ตามลำดับ ในขณะที่ไทยมีพื้นที่นาชลประทานเพียง 23.4% เท่านั้น จึงทำให้ข้าวของไทย มีผลผลิตแทบจะต่ำที่สุดในอาเซียน
ทั้งปัญหาที่ดินและแหล่งน้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีผลต่อต้นทุนการผลิตและผลิตภาพทางการเกษตรของเกษตรกรในประเทศไทย โดยในภาพใหญ่ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตข้าวของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดข้าวมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดทุน ไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากการแก้ปัญหาระยะยาว
ในด้านข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนั้น ชาวนาไทยมีต้นทุนการผลิตข้าว 7,452 บาทต่อตัน อินเดีย 5,718 บาท/ตัน เวียดนาม 5,615 บาท/ตัน พม่า 4,353 บาท/ตัน ด้วยข้อมูลเบื้องต้นนี้ ทำให้แลเห็นทุกข์ของชาวนาชาวไร่นั้น มีสาเหตุหลักและเบื้องหลังอย่างไร และที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้แก้ปัญหาถูกต้องตรงจุดหรือไม่อย่างไร ?
BCG Model แนวทางพัฒนาชาวนาอีสาน
รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ขาย” หวังดันให้ผลผลิตพืชเกษตรกรรมมีราคาสูงในตลาดส่งออกของโลก รวมทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เริ่มมีบทบาทวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะนายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปคปี พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ จะมีการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับใช้ให้เข้ากับศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน
ภูมิภาคอีสาน มีจุดแข็งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความพร้อมของแรงงาน และพื้นที่เพาะปลูก เมื่อปัจจุบันโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ ทำให้ชีวิตของชาวนาอีสานเปลี่ยนไปเป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งกระจุกตัวอยู่ตามเมืองหลัก อาทิ นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น แล้วอุตสหกรรมย่อมก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตามมา
มีคำถามว่า “การพัฒนาในปัจจุบันยั่งยืนหรือไม่” และ “เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของข้อเสนอการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบ BCG Economy Model ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย โดยสอดคล้องกับแนวทางสัมมาชีพแกนหลักช่วยยกระดับชุมชนให้มีชีวิตเป็นสุข
ในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG นั้น เป็นการพัฒนาโดยอาศัยแนวคิด 2 ประการ ได้แก่ B – Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ และ C – Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว G – Green Economy และอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานที่มีทรัพยากรและความพร้อมในหลายด้าน
ยกระดับแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิอีสาน
ประกอบกับภาคอีสานมีจุดแข็งในด้านการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงจากแหล่งผลิตทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่ จ.ยโสธร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และศรีสะเกษ สามารถนำเอาโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยปรับการผลิตให้ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย พัฒนาห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการผลิตและแปรรูป ยกระดับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้แตกต่างจากสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต การจัดมาตรฐานรองรับเกษตรอินทรีย์และกระบวนการตรวจสอบ
พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ เพื่อวางแผนในการผลิต การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมตลาดสีเขียวในท้องถิ่น รวมถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce ทั้งในและต่างประเทศ อีกอย่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือการท่องเที่ยวสีเขียว ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยแนวทาง BCG นี้จะปรับให้เป็นการท่องเที่ยวสีเขียว มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ
อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชนและเมืองเก่าในภาคอีสาน อาทิ เมืองเก่าบุรีรัมย์ เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่าสุรินทร์ เป็นต้น นอกจากนี้ การดึงเอาอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นใน แต่ละแห่งที่โดดเด่น ลอกเลียนแบบได้ยาก มาสร้างเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มระยะเวลาพำนักและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่จะไปถึงมือคนในชุมชน พัฒนาความรู้และมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มีความเป็นมืออาชีพ พัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงในแถบจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ เป็นต้น
ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG Economy Model นี้ จะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาโดยอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานในด้านต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งพบว่าภาคอีสานมีความเหมาะสมต่อรูปแบบการพัฒนานี้เป็นอย่างมาก และจะช่วยให้อีสานเป็นภูมิภาคที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ ยังตอบคำถามที่ว่า “เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร” ด้วย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv